“เดิมที ผมเคยทำงานเป็นโฟร์แมนในโรงงานแห่งหนึ่งในจังหวัดระยอง ภรรยาผมก็เคยเป็นพนักงานโรงงาน แถมพวกเรายังทำธุรกิจส่วนตัวควบคู่ไปด้วย ทำงานไม่ได้หยุด มีรายได้สูง แต่ว่าก็มีหนี้สินจำนวนมากจากการลงทุนและหมุนเงิน มีรายได้เข้ามาทุกเดือน แต่มีรายจ่ายมากเช่นเดียวกัน สุดท้ายเงินก็หมดไป” เสียงบอกเล่าจากนายเดชา พรหมพันธ์ใจ เกษตรกรในโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) ตำบลเขาซก อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี
นายเดชา พรหมพันธ์ใจ และนางบุญช่วย พรหมพันธ์ใจ ทั้งคู่เคยเป็นหัวหน้างาน พร้อมกับทำธุรกิจขายส่งรองเท้า ทำธุรกิจบริการอื่น ๆ เช่น นายหน้าที่ดิน รับต่อภาษี พรบ. รถยนต์ ประกันรถยนต์ เป็นต้น เคยมีรายได้หลายแสนต่อเดือน แต่ต้องนำไปลงทุนและหมุนเวียนทุกเดือน หาเงินมาได้ แต่ต้องจ่ายไป มีรายได้มาก ทำให้ประมาทกับชีวิต ไม่ได้ออมเงิน บางครั้งมีเงินเก็บเล็กน้อย อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายในการผ่อนบ้าน ผ่อนรถยนต์หลายคัน จึงมีหนี้เกือบหนึ่งล้านบาท และเก็บเงินได้บ้าง แต่ส่วนใหญ่ได้เงินมาก็หมดไป ไม่มีความยั่งยืน วันหนึ่งถามตัวเองว่า ถ้าเกษียณจากโรงงานแล้วจะทำอะไรต่อ เนื่องจากไม่มีเงินบำนาญ ประกันสังคมก็ไม่แน่นอน ประกอบกับภรรยาดูรายการโทรทัศน์แล้วเห็นเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง จึงมีความสนใจ และได้ติดต่อสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดระยอง (ส.ป.ก. ระยอง) เพื่อลงชื่อขอที่ดินทำกินเมื่อประมาณปี 2560 และได้รับจัดสรรที่ดิน คทช. ชลบุรี
จึงขายบ้านปิดหนี้ เหลือหนี้บางส่วน บุตรสาวจึงช่วยจ่ายหนี้ให้ แรกเริ่มทำเกษตร ที่ดินผืนนี้เป็นที่รกร้าง ขนาด 5 ไร่ มีแต่ดงหญ้าสูง ดินทรายไร้ธาตุอาหาร เนื่องจากมีการใช้ปลูกมันสำปะหลังมาหลายรุ่น นายเดชาและภรรยา เน้นใช้ชีวิตและทำเกษตรแบบพอเพียง จึงใช้เพียงเงินเก็บที่มีอยู่มาเป็นค่าใช้จ่ายพลิกฟื้นที่ดินผืนนี้ โดยไม่กู้หนี้ยืมสิน เริ่มจากเก็บเศษใบไม้ใบหญ้ามาหมักเป็นปุ๋ย และใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่หน่วยงานราชการแจกมาโรยปรับปรุงดิน ปลูกพืชพรรณแบบผสมผสาน เช่น ผักต่าง ๆ ไม้มงคล ไม้ดอกไม้ประดับ สมุนไพรหลากชนิด ไม้ผล ไผ่หวาน เป็นต้น โดยทั้งหมดมุ่งเน้นการปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ นายเดชาได้หาทุนมาต่อยอดด้วยการออกไปรับจ้างบางครั้ง อีกทั้งภรรยาได้ซื้อกิ่งพันธุ์ไม้ กิ่งละ 10 บาท สัก 10 กิ่ง มาเพาะเลี้ยงให้โต ตัดกิ่งและขยายพันธุ์ จากนั้นเลี้ยงให้โตเต็มที่และส่งขายออนไลน์ เงินที่ได้เอามาเป็นทุนใช้จ่ายในการทำเกษตร โดยจะทำอะไรก็เลือกวิธีที่ใช้ทุนน้อยที่สุด เพราะเงินมีจำกัดและไม่อยากกู้เงินสร้างหนี้ แรงงานก็มีกันสองคนสามีภรรยา ทำเท่าที่ไหว เพราะไม่มีเงินพอที่จะจ้างคนงาน อีกทั้งเป็นช่วงลองผิดลองถูก เป็นเกษตรกรมือใหม่ จึงต้องประหยัดเงินให้มาก เพราะมีรายจ่ายอื่น ๆ อีกมากสำหรับการพลิกฟื้นทำเกษตรบนแปลงที่ดินรกร้าง
ตลอดระยะเวลา 3-4 ปีที่ลงทุนลงแรงไป จากที่ไม่มีรายได้เข้ามาเลยแม้แต่บาทเดียว มีแต่รายจ่าย ปัจจุบันเริ่มมองเห็นทิศทาง ยอดมะรุมเริ่มขายได้ เป็นที่ต้องการของตลาดจนไม่พอขาย ก็ลองผิดลองถูก ค่อย ๆ ศึกษาเรียนรู้ไป ผลผลิตชุดแรกที่ปลูกตายหมด ก็มาช่วยกันหาสาเหตุว่าเพราะขาดน้ำ ดินไม่มีแร่ธาตุ ต้องบำรุงดิน ก็รวบรวมเศษใบไม้วัชพืชมาทำปุ๋ยหมัก จากนั้นนำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ที่เขาแจก และน้ำหมัก ไปบำรุงหน้าดิน ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ต้นพันธุ์ก็ทยอยซื้อทีละนิด ตามกำลังทรัพย์ และหาพืชมาปลูกผสมผสานเพิ่มเติม มีการลงทุนทำระบบน้ำ เพราะแหล่งน้ำอยู่ไกล ก็ซื้อปั๊มน้ำเครื่องเล็กตามกำลังทรัพย์ มาสูบน้ำเข้าแปลง ขุดบ่อน้ำเล็ก ๆ เป็นจุด ๆ เพื่อกระจายน้ำทั่วสวน และอีกเหตุผลหนึ่งคือเพราะแรงปั๊มน้ำเครื่องเล็ก สูบน้ำส่งไกล ๆ ไม่ได้
ทั้งนี้นายเดชา มีความภาคภูมิใจในตัวภรรยามาก ๆ เนื่องจากบริหารจัดการเรื่องเงินได้ดีมาก อีกทั้งในเวลาว่างยังเพาะไม้ดอก ไม้ผล จำหน่ายออนไลน์เพื่อหาเงินทุน และสร้าง Facebook Fan page ชื่อ “ย่าสอนหลาน ออร์แกนิค” เป็นช่องทางขายผลผลิต ตอนนี้ทุกสิ่งที่ลงทุนลงแรงไปเริ่มผลิดอกออกผล ผลผลิตเริ่มเป็นรูปธรรม เก็บผัก หน่อไผ่หวาน ยอดมะรุม กล้วย มะม่วง ต้นพันธุ์ ไม้ดอกไม้ประดับฯลฯ จำหน่ายออนไลน์ ตอนนี้ส่วนใหญ่ขายผลผลิตผ่านช่องทางออนไลน์
ปัจจุบัน พืชพรรณทั้งหมดที่ปลูกไว้ในช่วง 2-4 ปีที่ผ่านมา เพิ่งจะเริ่มให้ผลผลิต จึงยังไม่มีรายได้ที่แน่ชัด แต่ก็พออยู่ได้ ทุกวันนี้เราสองคนสามีภรรยา ใช้เงินวันละ 100 ซื้อของสด ส่วนผักต่าง ๆ ก็เก็บจากในสวนมาทำอาหาร แม้รายได้จะน้อยกว่าตอนเป็นหนุ่มโรงงาน แต่มีความสุขมากกว่าในอดีต ตอนทำงานโรงงาน ไม่เห็นฟ้า ไม่เห็นดิน พอตัดสินใจมาเป็นเกษตรกร ถึงแม้รายได้จะเพิ่งเป็นรูปเป็นร่าง แต่ความสุขนั้นมากขึ้นกว่าเดิม
นอกจากนี้ นายเดชาและภรรยา ผ่านการอบรมและได้รับคัดเลือกให้เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงคือ พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน ในการดำรงชีพและทำเกษตร และสามารถอยู่ได้อย่างพอเพียง อุ้มชูตัวเองได้ อยู่ในวิถีเกษตรแบบยั่งยืน บุกเบิกผืนดินรกร้างด้วยการพึ่งพาตัวเองและพัฒนาให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป
ทั้งนี้ สำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดชลบุรี ได้ดำเนินงานในการบริหารจัดการพื้นที่ และส่งเสริมเกษตรกรในด้านการทำเกษตรกรรมอย่างครบวงจร รวมถึงการประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อยกระดับการพัฒนาพื้นที่การทำเกษตรกรรม โครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคต่าง ๆ ให้แก่เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อสร้างความยั่งยืนให้แก่เกษตรกรในระยะยาว เช่นเดียวกับแนวคิด ALRO Together We Grow 48 ปี ส.ป.ก. เติบโตไปด้วยกัน เดินหน้าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน