มหกรรมความยั่งยืนที่ยิ่งใหญ่ในอาเซียนกับงาน Sustainability Expo 2023 (SX2023) ถอดรหัสการ “ลงมือทำ” เพื่อร่วมสร้าง “สมดุลที่ดี เพื่อโลกที่ดีกว่า” Good Balance, Better World ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์" เป็นความร่วมมือกันของภาคีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคชุมชน ร่วมกันจัดขึ้น โดยยึดแนวคิดหลักการจัดงาน "พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก" (Sufficiency for Sustainability) ให้ทุกคนลงมือทำเพื่อความยั่งยืน ของกว่า 100 องค์กรระดับภูมิภาค และระดับโลก
ภายในงานได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญกว่า 300 คนทั่วโลก พร้อมเครือข่ายธุรกิจยั่งยืนจากบริษัท และองค์กรชั้นนำของไทย และต่างประเทศกว่า 500 แห่ง รวมถึงเวทีเสวนา และการแสดงนิทรรศการ 8 โซน ขององค์กร และประชาชนทั่วไปได้ร่วมกันสร้างความยั่งยืน เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาวในทุกมิติที่เป็นเรื่องใกล้ตัว และสัมผัสโลกแห่งอนาคตที่ยั่งยืนที่สามารถค้นหาได้ภายในงาน นับตั้งแต่ความรู้รอบตัว ทั้งเรื่องอาหาร สุขภาพ การใช้ชีวิตประจำวัน ไปจนถึงความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ พลังงาน ความหลากหลายทางชีวภาพ บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้โลกได้น่าอยู่อย่างยั่งยืน
ภายในงานมีการจัดกิจกรรมด้านต่าง ๆ จากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) หน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่รับและประมวลพระราชดำริเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กับส่วนงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้ยังมีมูลนิธิชัยพัฒนา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงองค์กรชั้นนำของภาคเอกชน ที่จะช่วยขับเคลื่อนแผน Net Zero ของประเทศให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกในงาน SX 2023 ครั้งนี้อีกด้วย
การจัดกิจกรรมได้ให้ความสำคัญ ในการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy - SEP) มาเป็นหลักปฏิบัติอันจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ประการ ขององค์การสหประชาชาติด้วยการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนเป็นเรื่องของทุกคน งานนี้จึงเป็นโอกาสและเวทีกลางของทุกภาคส่วนได้มาร่วมแลกเปลี่ยน เรียนรู้เรื่องความยั่งยืนร่วมกัน
โดยในส่วนของสำนักงาน กปร. ได้มีการจัดนิทรรศการแสดงถึงผลสัมฤทธิ์จากการพัฒนาตามแนวพระราชดำริผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นับตั้งแต่การบริหารทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน รางวัลและการยอมรับจากนานาชาติที่ทรงทุ่มเทเพื่อฟื้นชีวิตให้แก่ผืนดิน การปรับปรุงดิน และคิดค้นเทคนิคในการฟื้นฟูบำรุงดินอย่างต่อเนื่องของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และคุณประโยชน์ที่ประชาชนและประเทศชาติได้รับจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้ง 6 แห่งทั่วประเทศที่ได้ดำเนินการในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต ไปจนถึงพลังงานทดแทน “พระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย” และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติตามแนวพระราชดำริ “จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที” เป็นต้น
นับเป็นต้นแบบของงานมหกรรมด้านความยั่งยืนที่ยิ่งใหญ่ และมีเครือข่ายองค์กรด้านความยั่งยืนระดับประเทศ และระดับโลกได้มารวมตัวกันมากที่สุดของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งในปี 2566 นี้ได้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 ที่ได้ตอกย้ำแนวคิดหลักการจัดงาน “พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก” (Sufficiency for Sustainability) ด้วยการน้อมนำพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาประชาราษฎรตลอดไป และน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy – SEP) ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตรมาเป็นแนวทางในการจัดงานครั้งนี้ โดยมีนางพิชญดา หัศภาค รองเลขาธิการ กปร. พร้อมด้วย ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่สำนักงาน กปร. เข้าร่วมพิธีเปิดงาน โอกาสนี้นายฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานอำนวยการจัดงาน Sustainability Expo 2023 กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดงาน ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ร่วมเป็นประธานพิธีเปิดงานกับผู้บริหารจากองค์กรต่าง ๆ และกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และ Decade of Action” ซึ่งงานนี้ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 กันยายน ถึงวันที่ 8 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา