พิชัยเชื่อดิจิทัลวอลเล็ตอัดฉีดเม็ดเงิน ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจโลกได้ ปัดตอบต้องออกพ.ร.ก.กู้เงินหรือไม่  ชมนายกฯเร่งระดมต่างชาติลงทุนโดยเม็ดเงินเข้าประเทศ ด้านรสนายื่นสตง.ตรวจสอบแจกเงิน 1 หมื่น ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ อ้างเหตุผล 6 ข้อ ประเทศสิ้นเปลือง ได้ไม่คุ้มเสีย ขัดพรบ.เงินตรา ซุกหนี้สาธารณะ ขัดวินัยการคลัง 

     ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 19 ต.ค.66 นายพิชัย นริพทะพันธุ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงนโยบายของรัฐบาลแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านระบบดิจิทัลวอลเล็ตให้ประชาชนทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ว่า เราอยากให้มองอนาคตอันใกล้ เศรษฐกิจทั้งโลกกำลังจะแย่ สืบเนื่องจากวิกฤติด้านอสังหาริมทรัพย์ในประเทศจีน และสหรัฐอเมริกากำลังจะขึ้นดอกเบี้ย อีกทั้งสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน และสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสจะทำให้น้ำมันมีราคาสูงขึ้น ดังนั้นถ้าเรามีวิสัยทัศน์กว้างไกลจะทำให้เห็นว่าอีก 5-6 เดือน จะเกิดปัญหาขึ้น และนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตก็จะออกมาเหมาะพอดีกับจังหวะที่เศรษฐกิจโลกกำลังจะมีปัญหา ทั้งนี้ตนมองว่านโยบายนี้จะช่วยประคองเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าต่อไปได้ เราอยากเห็นเศรษฐกิจไทยโต 5 เปอร์เซ็นต์ โดยตรงนี้เราจะต้องมาพิจารณาว่างบประมาณสำหรับการทำนโยบายนี้จะเอามาจากที่ไหน ซึ่งตนคิดว่าที่จริงแล้ว ตามเหลักเศรษฐศาสตร์ ถ้าเราใช้เงินเก่า มันจะไม่กระตุ้น แต่ถ้ามีเงินจากภายนอกเข้ามา จะกระตุ้นได้ ดังนั้น เงินที่จะนำมาใช้ตรงนี้บางส่วนจะเป็นเงินงบประมาณ และมีบางส่วนมาจากเงินนอกงบประมาณ
    
 ผู้สื่อข่าวถามว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ว่ารัฐบาลจะต้องออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินเพื่อนำเงินมาใช้เรื่องนี้ นายพิชัย กล่าวว่า ตนไม่ทราบเรื่องนี้ ต้องสอบถาม นายจุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง แต่สิ่งที่ตนกล่าวข้างต้นเป็นหลักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปที่ว่าถ้าเรานำเงินเก่ามาใส่ ก็จะไม่กระตุ้นเศรษฐกิจ จึงควรนำเงินข้างนอกบ้าง ข้างในบ้าง ซึ่งจะช่วยเพิ่มเงินในระบบหมุนเวียนและทำให้กระตุ้นเศรษฐกิจ ถ้าเรามองย้อนหลัง 5 เดือน จะเห็นว่าภาวะเงินเฟ้อของไทยมีปัญหามาก ต่ำมาก ซึ่งไม่ได้หมายความว่าดี อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯโต 3-4 เปอร์เซ็นต์ และของยุโรปกับอังกฤษอยู่ที่ 5-6 เปอร์เซ็นต์ แต่ของไทยถ้าดู 5 เดือนย้อนหลัง พบว่าอยู่ 0.2-0.8 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งแปลว่ากำลังซื้อของเราหดตัวลง ไทยกำลังจะกลายเป็นเหมือนจีนที่เงินเฟ้อติดลบ ซึ่งแปลว่าประชาชนไม่มีกำลังซื้อ แม้มีการลดราคาก็ตาม นี่จึงถือเป็นปัญหา หากเราไม่สังเกตให้ดี ก็จะคิดว่าประเทศไทยไม่มีปัญหา ทั้งที่จริงแล้วมีปัญหา ภาวะเงินเฟ้อที่อัตราถือว่ามีปัญหา ดังนั้น การนำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตเข้ามากระตุ้นให้เศรษฐกิจของไทยกระเตื้องขึ้นจึงเป็นสิ่งจำเป็น
    
 เมื่อถามว่า มีนักวิชาการหลายคนบอกว่าเงินที่หมุนเวียนในตลาดมีน้อยมาก นายพิชัย กล่าวว่า จำเป็นต้องอัดเงินเข้าไปในตลาดให้เกิดการหมุนเวียน โดยหลักการทางเศรษฐศาสตร์ ไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบใดก็ตาม ตนคิดว่าเราต้องมองอะไรใหญ่ๆ มองมุมกว้าง และมองในมุมที่ว่าทำแล้วเกิดผลทันที ในมุมมองของตนนั้นคิดใหญ่ทำเป็นซึ่งเป็นหลักการของพรรคเพื่อไทย
   
  ตอนนี้ ถ้าดูตัวเลขเศรษฐกิจ หุ้นตก หุ้นไทยอยู่คงที่มา 10 ปีแล้ว สมัยรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็อยู่ที่ 1,400 จุด ตอนนี้ยังอยู่ที่ 1,400 จุด มันไม่ไหว เพราะเรามีปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจไม่โต ซึ่งนี่เป็นความจริง ตนไม่ได้ใส่ร้าย แต่ต้องเอาความจริงมาพูดกัน และเรามีหนี้สาธารณะ 11 ล้านล้านบาท แต่เศรษฐกิจไทยโตแค่ 1 เปอร์เซ็นต์กว่าๆ ดังนั้นต่อไปนี้เราจะต้องทำให้ดีขึ้น แต่จะดีอย่างไรนั้นนี่คือสิ่งที่เราอยากให้เห็นนายกฯ วิ่งตะลอนเพื่อชวนนักลงทุนเข้ามาในไทย ซึ่งตรงนี้สำคัญ 9 ปีที่ผ่านมา แทบไม่มีการเข้ามาลงทุนเลย ดังนั้น นายกฯกรุณาเสียสละวิ่งไปต่างประเทศเพื่อหานักลงทุนเข้ามา นี่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง และต้องเร่งทำเรื่องนี้ให้เกิดขึ้น ตนเชื่อว่ามีหลายบริษัทจากต่างประเทศที่ติดต่อเข้ามาว่าอยากลงทุนและจะต้องทำอย่างไร เพราะหลังจากเปลี่ยนรัฐบาลแล้ว และนายกฯ เป็นคนที่มาจากภาคธุรกิจ มีความรู้ความชำนาญทางธุรกิจและเศรษฐกิจ ทำให้บริษัทต่างๆ มีความมั่นใจมากขึ้น และอยากมาลงทุนในไทย ตอนนี้สัญญาณค่อนข้างดี แต่ภาวะเศรษฐกิจโลกอาจไม่เอื้ออำนวย จึงต้องหาทางว่าจะทำอย่างไรให้เราสามารถฝ่าฟันอุปสรรคของเศรษฐกิจโลกในภาวะเช่นนี้ แล้วดูว่าสุดท้าย หลังจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวแล้ว เศรษฐกิจของไทยจะก้าวเดินต่อไปอย่างไร
    
 เมื่อถามว่า การทำงานของคณะที่ปรึกษานายกฯ จะช่วยให้นายกฯ เบาใจและดำเนินนโยบายได้ลื่นไหลหรือไม่ นายพิชัย กล่าวว่า ทุกคนทำงานอย่างเต็มที่ ที่ปรึกษานายกฯแต่ละคนเป็นผู้มีความรู้และมีศักยภาพ อาทิ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร มีความชำนาญหลายด้าน ขณะที่ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก มีความรู้ความชำนาญด้านความมั่นคงซึ่งจำเป็นสำหรับประเทศไทย ทั้งนี้เราจะต้องดูว่านายกฯ จะให้การบ้านมาอย่างไร และจะแจ้งนโยบายอย่างไร แล้วเราจะดำเนินการให้สอดคล้องกับรัฐบาลเพื่อให้ประสบความสำเร็จ
   
  ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา ได้เข้าพบผู้แทนประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อยื่นหนังสือ ขอให้ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามนัย มาตรา 8 ของ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการ ตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 กรณีแจกเงินเงินดิจิทัล 10,000 บาท
    
 โดยน.ส.รสนา กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และรมว.คลัง ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาโดยมีหนึ่งนโยบายเร่งด่วนคือโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท แก่ประชาชนทุกคนที่อายุเกิน 16 ปี และได้มีนักวิชาการจำนวนมาก ที่แถลงคัดค้าน จึงเห็นว่าโครงการนี้มีปัญหามิชอบด้วยกฎหมาย และอาจเกิดความเสียหายขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐ ด้วยเหตุผล 6 ประการคือ 1.ผลได้ไม่คุ้มเสีย ด้วยเหตุผลว่าเศรษฐกิจไทยกำลังค่อยๆฟื้นตัวตามศักยภาพอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินจำนวนมากเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อให้สูงขึ้นมาอีกและควรใช้เงินจำนวนประมาณ 560,000 ล้านบาท ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สร้าง digital infrastructure หรือบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบเพื่อสร้างศักยภาพในการเจริญเติบโตในระยะยาว แทนการใช้เงินเพื่อกระตุ้นอุปโภคบริโภคที่ได้ผลเพียงชั่วคราวระยะสั้น
      
 2.ขัดต่อพระราชบัญญัติเงินตรา เอกสารหาเสียงของพรรคเพื่อไทยระบุว่ากระเป๋าเงินดิจิทัลคือเหรียญ(คูปอง) หรือสิทธิ์การใช้เงินไม่ใช่คริปโทเคอเรนซี่ สิ่งที่โครงการนี้จะออกคือสำแดงรูปแบบทางกฎหมายเป็นโทเคนดิจิทัลเนื่องจากเหรียญดังกล่าวไม่ใช่สิทธิในการได้รับมาซึ่งสินค้าหรือบริการที่เฉพาะเจาะจงกับบริษัทผู้ออก แต่จะเป็นสิทธิที่เปิดกว้างขวางให้แก่ร้านค้าทั่วประเทศที่เข้ามาลงทะเบียน ซึ่งเอกชนผู้ออก คริปโปเคอร์เรนซี่ ที่มีลักษณะ เป็น Bath stable coin จะต้องขออนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตามนัยยะ มาตรา9
      
 3.เพิ่มความสิ้นเปลือง แก่ประเทศโดยไม่จำเป็น เพราะเนื่องจากมีผู้ให้บริการดิจิตอล Wallet และโมบายแบงค์กิ้งหลายแอพอยู่แล้วเช่น เป๋าตัง,ทรูมันนี่, K PLUS ,SCB EASY เป็นต้น ซึ่งสามารถรองรับความต้องการของรัฐบาลได้ 4.หลีกเลี่ยงหลักการใช้เงินแผ่นดิน ตนมีความเห็นว่าเงินที่จะใช้ในโครงการนี้เข้าข่ายเป็นเงินแผ่นดิน ซึ่งการใช้จ่ายจะต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 140 โดยรัฐบาลต้องเสนอในกระบวนการงบประมาณต่อรัฐสภาแต่ในเอกสารที่พรรคเพื่อไทยชี้แจงต่อกกต. นั้น ระบุแหล่งเงินไว้ว่าจะมาจาก ประมาณการรายได้รัฐที่เพิ่มขึ้นในปี 2567 ภาษีที่ได้จากผลคูณต่อเศรษฐกิจจากนโยบาย การบริหารจัดการงบประมาณ การบริหารจัดการงบประมาณด้านสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน ดังนั้นจึงอาจเป็นการวางแผนใช้งบประมาณเดิม โดยรัฐบาลจะไม่เสนอโครงการนี้ในกระบวนการงบประมาณต่อรัฐสภาเสียก่อน อันอาจเข้าข่ายฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ
      
 5.ซุกหนี้สาธารณะ รัฐบาลจะใช้ให้ธนาคารออมสินกู้หนี้ไปก่อน แล้วรัฐบาลจึงค่อยจัดเงินจากงบประมาณชดใช้ในภายหลัง แต่ตนเห็นว่าการดำเนินการเช่นนี้จะมีลักษณะเป็นการ ซุกหนี้ ที่ไม่โปร่งใสและอาจจะอยู่นอกขอบวัตถุประสงค์ของธนาคารออมสิน 6.ขัดกับ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 9 วรรค 3 จากเหตุผลทั้ง 6 ข้อที่กล่าวไป ส่งผลให้โครงการดังกล่าวน่าจะเป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับปีพุทธศักราช 2560 และพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 รวมทั้งพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ.2501 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
     
ทั้งก่อให้เกิดความเสียหายแก่เศรษฐกิจและการเงินการคลังของรัฐอย่างร้ายแรง ตนจึงได้มาร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้สั่งการให้ สตง. ตรวจสอบเป็นการเร่งด่วน เมื่อผู้ว่า สตง. เสนอผลการตรวจสอบแล้ว ก็ขอให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เพื่อระงับหรือยับยั้งการดำเนินการดังกล่าวตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2561
     
นอกจากนี้ ภายหลังการยื่นหนังสือต่อผู้แทนประธานกรรมการสตง.แล้ว ตนยังได้เดินทางไปยื่นสำเนาหนังสือต่อผู้แทนประธานกกต.เวลา 13.00 น. รวมถึงไปยื่นสำเนาหนังสือต่อผู้แทนประธานกรรมการป.ป.ช.ในเวลา 15.00 น. อีกด้วย
    
 ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การพัฒนาเศรษฐกิจ สภาฯ โดยมี นายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานกมธ.การพัฒนาเศรษฐกิจ ได้พิจารณานโยบายของรัฐบาลว่าด้วยดิจิทัลวอลเล็ต โดยมี น.ส.ดารณี แซ่จู ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ(ธปท.) สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน พร้อมด้วยตัวแทนจากกระทรวงการคลัง และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) มาชี้แจง
  
   ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ดารณี กล่าวย้ำโครงการดังกล่าวจะใช้งบประมาณ 5.6 แสนล้านบาท โดยผู้ที่มีสิทธิ์จะต้องมีอายุ 16 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินจำนวน 1 หมื่นบาท ซึ่งรัฐบาลต้องการกระตุ้นอุปโภคบริโภคของประชาชน แต่มุมมองของธปท. เห็นว่า ตัวเลขเศรษฐกิจในครึ่งปีแรกที่เกี่ยวกับการบริโภคภาคเอกชน มองว่าความจำเป็นต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมผ่านโครงการนี้ยังมีไม่มาก เนื่องจากภาพรวมการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้สูง และตลาดแรงงานก็ฟื้นตัวต่อเนื่อง ดังนั้น ผลของโครงการต่อเศรษฐกิจอาจจะไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย
   
  ด้าน นายสิทธิพล เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ยังรอความชัดเจนของนโยบาย ซึ่งผู้แทนจากกระทรวงการคลังยังไม่สามารถให้รายละเอียดที่ชัดเจน แต่ยังให้โอกาสรัฐบาลในการทำนโยบาย และเชื่อว่ารัฐบาลพยายามฟังเสียงรอบด้าน ทั้งข้อเสนอแนะ และข้อทักท้วง ซึ่งจะเป็นกระบวนการสำคัญที่ทำให้รัฐบาลออกแบบนโยบายได้ดี และไม่ทำให้เกิดผลเสีย หรือเกิดผลเสียให้น้อยที่สุด
 
    "อยากให้รัฐบาลคำนึงถึงผลกระทบรอบด้าน ข้อดี ข้อเสียของนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแหล่งที่มาของงบประมาณ การนำไปใช้ วิธีการ ผลกระทบระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งทางกระทรวงการคลังชี้แจงว่ายังอยู่ในระหว่างการหารือการตั้งคณะกรรมการ คณะทำงานในเรื่องต่างๆ ซึ่งเร่งทำอยู่ วันนี้ทางกระทรวงการคลังไม่ได้ชี้แจงเรื่องแหล่งที่มาของเงิน บอกแต่เพียงว่ากรอบงบประมาณที่ใช้จะคำนึงถึงวินัยการเงินการคลัง แต่ไม่ได้บอกว่าจะมีการนำแหล่งเงินจากการยืมจากรัฐวิสาหกิจหรือไม่ ซึ่งกมธ.จะมีการติดตามความคืบหน้าของโครงการการนี้ต่อไป" นายสิทธิพล กล่าว
    
 ผู้สื่อข่าวถามว่า โครงการนี้จะเกิดประโยชน์ได้จริงหรือมีผลเสียมากกว่าผลดีหรือไม่ นายสิทธิพล กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องให้ความเป็นธรรมกับรัฐบาล เรารอความชัดเจนของนโยบายถึงจะได้ประเมินได้ครบถ้วน เพราะในขณะนี้ประเมินจากข้อคิดเห็น และการนำเสนอผ่านสื่อเท่านั้น และหากพูดในฐานะสส.คนหนึ่ง ก็อยากให้โครงการนี้คุ้มค่ากับงบประมาณ