นโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ไม่ได้แจกเงินให้กับทุกคนโดยอัตโนมัติ แต่จะมีการเปิดให้ลงทะเบียน เพื่อยืนยันสิทธิ์ ซึ่งการยืนยันตัวตน จะเป็นกระบวนการที่รัฐบาล สามารถดึงฐานข้อมูลเก่าที่ประชาชนเคยเข้าร่วมโครงการของรัฐอื่นๆ มาใช้ประโยชน์ เพื่อเป็นการ Check-list และใช้ในการยืนยันสิทธิ์ของคนๆ นั้น

ส่วนคนที่ไม่เคยเข้าร่วมโครงการของรัฐมาก่อนเลย แต่อยากเข้าร่วม โครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท จำเป็นที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการ ลงทะเบียน ยืนยันตัวตน เพราะมันถูกกำหนดโดยกรอบกฎหมาย ดังนั้น การยืนยันตัวตนหรือ KYC (Know Your Customer) ถือว่ามีความจำเป็น เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์ พิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้นเป็นคนตามหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนจริง แต่หากใครที่ไม่สนใจเข้าร่วมโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท ก็เท่ากับว่าไม่เข้าสู่โครงการฯ

วันนี้ “สยามรัฐออนไลน์” ขอนำข้อมูล และให้ความรู้เกี่ยวกับการยืนยันตัวตนว่า มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน

KYC คืออะไร

KYC ย่อมาจากคำว่า Know Your Customer หรือแปลได้ว่า “การทำความรู้จักกับลูกค้า” ซึ่งหมายถึง กระบวนการพิสูจน์ตัวตนในการทําความรู้จักลูกค้า ที่สามารถระบุตัวตน และพิสูจน์ตัวตนได้อย่างถูกต้อง (Identification and Verification) เพื่อเป็นการยืนยันตัวตนของลูกค้า ป้องกันการทุจริตหรือปลอมแปลงข้อมูลในการทำธุรกรรมทางการเงิน รวมถึงเป็นการป้องกันการฟอกเงิน การสร้างความปลอดภัยให้กับเจ้าของข้อมูล และเป็นการป้องกันการแอบอ้างตัวตน เช่น กรณีที่เราไปเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคาร แล้วต้องใช้บัตรประชาชนในการยืนยันตัวตน เป็นต้น โดย KYC ถือเป็นหลักเกณฑ์สำคัญส่วนหนึ่งของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ที่กำหนดให้หน่วยงานดังต่อไปนี้มีหน้าที่ต้องทํา KYC ให้กับลูกค้า เช่น ธนาคาร ผู้ให้บริการ e-Wallet และ e-Payment บริษัทซื้อขายหลักทรัพย์ที่อยู่ภายใต้การกํากับดูแลของ ก.ล.ต บริษัทประกันชีวิตและประกันวินาศภัยต่างๆ เป็นต้น

ทำไมต้องทำ KYC หรือทำไมต้องยืนยันตัวตน?

การทำ KYC เป็นการช่วยป้องกันการทุจริตหรือปลอมแปลงข้อมูลในการทำธุรกรรมทางการเงิน ป้องกันการแอบอ้างตัวตน ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของการกระทำที่ผิดกฎหมายต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นการคอรัปชัน หรือการฟอกเงิน นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มความปลอดภัยในบริการให้กับลูกค้าและผู้ให้บริการมากขึ้น

ถ้าไม่ทํา KYC จะมีผลอย่างไร

ลูกค้าจะไม่สามารถใช้ หรือทำธุรกรรมได้ เนื่องจากเป็นขั้นตอนสำคัญในการยืนยันตัว เพื่อพิสูจน์ความเป็นเจ้าของ และเป็นมาตรการป้องกันการทุจริตตามกฎหมาย

การยืนยันตัวตนที่เรียกว่า KYC (Know Your Customer) จึงเป็นกระบวนการเพื่อเป็นความปลอดภัย และป้องกันการความเสี่ยงการจากปลอมแปลงข้อมูลให้แก่ลูกค้า

เคล็ดลับการทำ KYC ที่ง่ายและสะดวกในไทย

KYC เป็นกระบวนการที่จำเป็นสำหรับสถาบันการเงินและผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย ช่วยป้องกันกิจกรรมที่ผิดกฎหมายและอาชญากรรมทางการเงิน หากถึงกระบวนการพิสูจน์ตัวตนของลูกค้า (Verification) ในปัจจุบันมีบริการ “Dip Chip” คือ การตรวจสอบหลักฐานด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่ถูกนำมาใช้ในขั้นตอนการเปิดบัญชีและทำความรู้จักลูกค้า (Know Your Customer หรือ KYC) ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการตรวจสอบข้อมูลของลูกค้าโดยใช้เครื่องอ่านบัตรประชาชนแบบ Smart card หรือเครื่องมืออื่น ๆ ที่สามารถอ่านค่าและยืนยันตัวตนได้ โดยสิ่งสำคัญที่ต้องใช้ในการยืนยันตัวตนแบบนี้ คือ บัตรประชาชนแบบ Smart Card และใช้บัตรประชาชนของตนเอง ดำเนินการด้วยตนเองเนื่องจากระบบจะมีการเทียบข้อมูลและรูปภาพบนบัตร กับรูปถ่ายใบหน้าของท่านที่ร้านค้า ซึ่งหากข้อมูล/ใบหน้าไม่ตรงกัน พนักงานสามารถปฏิเสธการส่งข้อมูลได้

โดยระบบการพิสูจน์ตัวตนประเภทนี้ ผู้ใช้สามารถสอบถามและดำเนินการได้ที่ร้าน 7-Eleven หรือร้านค้าที่มีสัญลักษณ์เคาน์เตอร์เซอร์วิสทั่วประเทศ

การทำ KYC สามารถทำได้ 2 ช่องทาง

Face to Face: การไปแสดงตนที่ธนาคาร เพื่อให้ธนาคารตรวจสอบบัตรประชาชนกับหน้าลูกค้าเจ้าของบัตรประชาชน

Online/ Mobile: ทำผ่านช่องทางออนไลน์ที่เรียกว่า E-KYC