วันที่ 19 ตุลาคม 2566 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงแนวทางบริหารจัดการบุคลากรสังกัดกทม. ว่า กทม.มีกฎหมายหลัก 2 ฉบับ เพื่อใช้เป็นกรอบในการบริหารจัดการบุคลากร คือ กฎหมายฉบับการบริหาร และกฎหมายเกี่ยวกับบุคลากร โดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร (สำนักงาน ก.ก.) ขึ้นอยู่กับผู้บริหารแต่ละคนจะเอาใจใส่ด้านใด กทม.ยึดหลักกฎหมายดังกล่าว เพื่อปฏิบัติตามขั้นตอน โดยเฉพาะการคัดเลือกบุคลากรมีกระบวนการระบุชัดเจน เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ที่ผ่านมา กทม.ยึดอาวุโสเป็นหลัก เพื่อเข้าสู่กระบวนการประเมินตามลำดับขั้นตอน ซึ่งตลอด 1 ปี กทม.ยึดถือแนวทางตามระเบียบสำนัก ก.ก.อย่างเข้มงวด
ในปีที่ 2 นอกจากตั้งเป้าปรับแนวทางในการบริหารบุคลากรให้เป็นไปตามแนวทางที่สำนัก ก.ก.กำหนด กทม.ได้เพิ่มมิติในการประเมินมากกว่าความอาวุโสและพฤติกรรม รวมถึงวิธีการจัดการแบบเดิม ส่วนปีที่ 3 กทม.ตั้งเป้าประเมินบุคลากรโดยใช้ระบบทราฟฟี่ ฟองดูว์เข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินผลจากการปฏิบัติงานในส่วนต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับเป้าหมาย 22 ข้อ หรือกุญแจแห่งความสำเร็จที่ กทม.กำหนดขึ้น โดยให้สำนัก ก.ก.จัดทำกติกาเพื่อใช้ผลงานในการประเมิน ซึ่งข้อมูลในระบบทราฟฟี่ ฟองดูว์ ถือเป็นข้อมูลระบบดิจิทัลที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ เป็นองค์ประกอบสำคัญในการประเมินการทำงาน เพื่อกำหนดโบนัสและความก้าวหน้าของบุคลากร โดยเรื่องดังกล่าวเป็นแผนที่จะนำมาใช้ในระยะ 3 ปีต่อจากนี้ เพื่อบริการจัดการบุคลากรและประเมินผลงาน
ด้านนางวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงเป้าหมาย 22 ข้อ ว่า เป้าหมายดังกล่าวมาจากประเด็นพัฒนา 28 กลุ่มในปี 2566 โดยผู้ว่าฯกทม.เลือกมาเป็นเป้าหมายหลัก 22 ข้อ เพื่อกำหนดทิศทางในการปฏิบัติงานของแต่ละเขต ตามนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี ปัจจุบันมีการปรับให้นำด้านสร้างสรรค์ดีไปแทรกไว้ในเป้าหมายทุกข้อ และเพิ่มเรื่องความปลอดภัยของเทศกิจ นอกเหนือจากความปลอดภัยด้านทางเท้าดีและทางเดินดี โดยผู้บริหาร กทม.ทำหน้าที่สนับสนุนและกำกับติดตามผู้ปฏิบัติงาน เพื่อนำมาประเมินบุคลากรภายใต้หลักการคือ 1.ดำเนินเป้าหมาย 22 เรื่องอย่างชัดเจน 2.การปฏิบัติทั้ง 22 ข้อ ขึ้นอยู่กับแนวทางปฏิบัติของบุคลากรแต่ละคน ตามความพร้อม บริบท และต้องรายงานความคืบหน้าต่อเนื่อง 3.มีกรรมการตรวจสอบ ติดตามผลการดำเนินงานอย่างชัดเจน โดยสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล กทม.ได้ออกแบบระบบ BMA DIGITAL PLANS หรือระบบบริหารจัดการแผนพัฒนา กทม. เพื่อบันทึกข้อมูลโครงการ/กิจกรรมและตัวชี้วัดตามแผนปฏิบัติราชการประจำปี ซึ่งผู้บริหารสามารถติดตามผลการทำงานได้บนโทรศัพท์มือถือ รวมถึงมีการประชุมติดตามทุกเดือน เพื่อให้หน่วยงานระดับสำนักคอยช่วยเหลือสนับสนุนปัญหาต่าง ๆ ที่แต่ละเขตพบ เนื่องจากเป้าหมาย 22 ข้อดังกล่าว มีที่มาจากระดับสำนัก ส่วนผู้ปฏิบัติคือแต่ละเขต จึงต้องช่วยกันขับเคลื่อน โดยสำนักต้องช่วยเหลือเขตเมื่อเกิดปัญหา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป้าหมาย 22 ข้อ หรือส่วนสำคัญหนึ่งในการประเมินบุคลากร ประกอบด้วย 1.พัฒนาถนนสวย 2.ปลูกต้นไม้ 3.เพิ่มสวน 15 นาที 4.ปรับปรุงทางเท้า 5.ติดตั้ง/ซ่อมไฟฟ้าส่องสว่าง 6.ติดตั้ง/ซ่อมไฟฟ้าส่องสว่างริมคลอง 7.ยกเลิก/ยุบรวม พื้นที่หาบเร่แผงลอยนอกจุดผ่อนผัน 8.จัดหาพื้นที่เอกชน หรือพัฒนา Hawker Center รองรับผู้ค้าหาบเร่ 9.แก้ไขจุดเสี่ยงน้ำท่วม 10.แก้ปัญหาจุดจราจรฝืด 11.แก้ไขจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ และอาชญากรรม
12.ปรับปรุง/พัฒนาลานกีฬา 13.ปรับปรุง/พัฒนาบ้านหนังสือ 14.ปรับปรุง/พัฒนาศูนย์เด็กเล็ก 15.ปรับปรุงกายภาพโรงเรียน 16.จัดเก็บขยะให้มีประสิทธิภาพครอบคลุม (%ของอาคารและหลังคาเรือนในเขตที่สามารถจัดเก็บขยะได้มากกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์) 17.พัฒนาฐานข้อมูลออนไลน์ชุมชน เช่น ข้อมูลกลุ่มเปราะบาง ข้อมูลอุปกรณ์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ชุมชน) 18.ส่งเสริมการใช้งบประมาณ 200,000 บาทต่อชุมชน (มูลค่าเงินที่เบิกจ่าย) 19.ส่งเสริมการใช้งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพ สปสช.(มูลค่าเงินที่เบิกจ่าย) 20.พัฒนามาตรฐานการบริการประชาชน (%จำนวนคำขอที่เขตสามารถให้บริการได้ภายในกรอบเวลาตามคู่มือประชาชน) 21.ขุดลอกท่อ 22.ขุดลอก/เปิดทางน้ำไหลคลอง