“ภูมิธรรม” ถกผู้ว่าราชการจังหวัดวากายามะ เจรจาเพิ่มความร่วมมือภายใต้ MOU ขอช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์ และเกษตรแปรรูปของไทย เพื่อพัฒนาสินค้าร่วมกัน และเพิ่มโอกาสในการส่งออกระหว่างกัน รวมถึงส่งออกไปประเทศอื่นๆ พร้อมขอให้พิจารณานำเข้าวัตถุดิบเกษตรไปผลิตสินค้าเพิ่มเติม ย้ำไทยพร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนโรงแรม และอำนวยความสะดวกนักลงทุนจากวากายามะ
 
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือกับนายคิชิโมโตะ ชูเฮ ผู้ว่าราชการจังหวัดวากายามะ ประเทศญี่ปุ่น ว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU)กับรัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดวากายามะ ประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2562 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้า และการพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ของทั้งสองประเทศ ซึ่งที่ผ่านมามีความร่วมมือกันมาอย่างต่อเนื่อง จึงได้เสนอให้จังหวัดวากายามะ ส่งเสริมความร่วมมือและเชื่อมโยงผู้ประกอบการไทย และผู้ประกอบการจังหวัดวากายามะในสาขาอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ และเกษตรแปรรูป เพื่อพัฒนาสินค้าร่วมกัน โดยใช้จุดแข็งของแต่ละประเทศ  


 
“ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมประชุมกับภาคเอกชนไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้มีการหยิบยกประเด็นความร่วมมือในสาขาอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ โดยขอให้ผมผลักดันความร่วมมือนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการจังหวัดวากายามะได้มีโอกาสเชื่อมโยงและพัฒนาสินค้าร่วมกัน โดยนำนวัตกรรมและองค์ความรู้มาเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าอันจะมีส่วนช่วยในการขยายตลาดการส่งออกระหว่างกัน รวมถึงการเพิ่มโอกาสส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ”
 
ขณะเดียวกันยังได้ขอให้ผู้ประกอบการในจังหวัดวากายามะ ในส่วนอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ให้พิจารณาการนำเข้าวัตถุดิบสินค้าเกษตรจากไทยไปผลิตสินค้าเพิ่มเติม อาทิ บริษัท Nakata Foods Co., Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทที่เข้าร่วมงาน Thaifex-Anuga Asia กับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และมีความสนใจนำเข้าน้ำเสาวรสจากไทย เพื่อไปผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาการค้า ทั้งนี้ ได้ยืนยันไปว่าหากทางจังหวัดวากายามะ มีบริษัทอื่น ๆ ที่สนใจสินค้าไทย กระทรวงพาณิชย์ยินดีให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่
 
นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์ยังได้แจ้งกับผู้ว่าราชการจังหวัดวากายามะว่า จากนโยบายของจังหวัดวากายามะในการดึงดูดนักลงทุนไทยที่เกี่ยวกับธุรกิจโรงแรม ไปลงทุนในจังหวัดวากายามะ หากมีประเด็นใดที่กระทรวงพาณิชย์ สามารถช่วยเหลือได้ ทางจังหวัดวากายามะสามารถประสานผ่านกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้ หรือหากภาคเอกชนของจังหวัดวากายามะมีความประสงค์จะขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจบริการในประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์ ก็มีความยินดีจะให้ความช่วยเหลือเช่นกัน
 
สำหรับจังหวัดวากายามะ ตั้งอยู่บริเวณภูมิภาคคันไซ มีอาณาเขตติดต่อกับ จ.โอซากา จ.นารา และ จ.มิเอะ มีศักยภาพในการขนส่งสินค้าทั้งทางอากาศและทางทะเลได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้สนามบินคันไซ และมีท่าเรือ Shimotsu ซึ่งเป็นท่าเรือขนาดใหญ่ และยังมีโครงข่ายการจราจรทางบกที่เชื่อมต่อทางพิเศษกับเมืองใหญ่ในภูมิภาคคันไซได้หลายเส้นทาง โดยธุรกิจ SMEs ในจังหวัดวากายามะ ส่วนมากเป็นด้านสิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องหนัง เครื่องเขิน และของใช้ในครัวเรือน โดยอุตสาหกรรมหลัก คือ ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมเหล็ก เครื่องจักรกล และอุตสาหกรรมอาหาร การส่งเสริมอุตสาหกรรมให้มีการลงทุนในจังหวัดเพิ่มมากขึ้น อาทิ การให้เงินอุดหนุนในงบประมาณไม่เกิน 10,000 ล้านเยน สำหรับผู้ที่จะเข้ามาลงทุนหรือขยายการลงทุนในจังหวัดตามเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งเป็นวงเงินอุดหนุนที่มากที่สุดในญี่ปุ่น และมีกองทุนให้กู้ยืมสำหรับธุรกิจใหม่หรือการขยายโรงงาน ด้านเกษตรกรรม มีชื่อในเรื่องการเป็นแหล่งผลิตผลไม้ที่สำคัญของญี่ปุ่นโดยเฉพาะส้ม ลูกพลับ และลูกบ๊วย พร้อมทั้งยังมีการจัดทำยุทธศาสตร์เร่งด่วนด้านอุตสาหกรรมการเกษตรของจังหวัด เพื่อผลักดันให้สามารถผลิตสินค้าเกษตรแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ รวมถึงยุทธศาสตร์ส่งเสริมการจำหน่ายอาหารแปรรูป สินค้าเกษตร และประมง
 
โดยประเทศญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในพันธมิตรทางการค้าที่สำคัญยิ่งของไทย ด้วยขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก และเป็นคู่ค้าอันดับที่ 3 ของไทย โดยในปี 2566 (มกราคม-สิงหาคม) มีมูลค่าการค้ารวม 38,210.28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1,308,051.58 ล้านบาท) แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 16,808.57 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (571,601.71 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 0.75 และการนำเข้ามูลค่า 21,401.71 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (736,449.87 ล้านบาท) ลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 3.00 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศญี่ปุ่นที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการค้าระหว่างกัน สำหรับโอกาสของสินค้าไทยมีความโดดเด่นทั้งในกลุ่มสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป รวมถึงสินค้าอุตสาหกรรม อาทิ สินค้าอาหารและเครื่องดื่ม ซีรี่ส์/ภาพยนตร์ สินค้ากลุ่ม BCG สินค้าเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ทั้งนี้การพบปะหารือในวันนี้จะมีส่วนช่วยในการกระชับความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อสร้างเศรษฐกิจให้เข้มแข็งด้วยกลยุทธ์ต่างๆ ในการบุกตลาดญี่ปุ่น และเร่งผลักดันสินค้าที่มีศักยภาพอื่นๆของไทย เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถก้าวเข้าสู่การค้าในระดับสากลต่อไป