เมื่อวันที่ 19 ต.ค.66 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ระบุว่า...
เจอฝุ่นจิ๋วพิษ 2.5 และจิ๋วใหญ่ PM 10 กับไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) เพียงแค่วันถึงสองวันโอกาสเสี่ยงตายสูงจากเส้นเลือดหัวใจตัน (acute MI) เป็นการรายงานในวารสารของสมาคมโรคหัวใจ (Journal of American College of Cardiology) วันที่ 26 มกราคม 2021 รวมทั้งบทบรรณาธิการ
ทั้งนี้ ทุกๆปริมาณของฝุ่นเล็กจิ๋วและจิ๋วใหญ่ที่เพิ่มขึ้น 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จนกระทั่งถึงระดับ 33.3 และ 57.3 ตามลำดับ จะเสี่ยงตายต่อโรคหัวใจสูงขึ้น และเช่นเดียวกันกับความเข้มข้นของไนโตรเจนไดออกไซด์
เป็นการศึกษาในประเทศจีนในช่วงปี 2013 ถึง 2018 แต่ประเทศจีนมีการปรับตัว เตรียมการจัดการกับฝุ่นจิ๋วเหล่านี้ ตั้งแต่ปี 2011 ถึง 2012 และประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่ง
ทั้งนี้ โดยเริ่มมีการติดตั้ง เครื่องวัดทุกๆ 1 ตารางกิโลเมตร โดยจะมีเครื่องวัดหนึ่งเครื่อง คอยเตือนและคอยจัดการกำจัดมลพิษเหล่านี้ ตามนโยบายเด็ดขาด จนมีความสำเร็จอยู่บ้าง
การศึกษานี้เป็นการพิสูจน์ตอกย้ำ ข้อสังเกตก่อนหน้านี้ที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างฝุ่นจิ๋วพิษ ที่ไม่ได้ทำร้ายปอดอย่างเดียว แต่มีผลต่อหัวใจในลักษณะเฉียบพลันด้วย และไม่ใช่เป็นในลักษณะที่เป็นผลเรื้อรังเท่านั้นแบบที่เข้าใจกัน
ภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นและทำให้เกิดความพินาศต่อสภาพแวดล้อมส่งผลต่อสมดุลของสิ่งมีชีวิต จนกระทั่งมีการยักย้ายถ่ายเทการเคลื่อนตัวของสัตว์ป่า มีการย้ายถิ่น และโดยที่สัตว์ตามธรรมชาติเหล่านี้เป็นตัวซ่องสุมของเชื้อโรค (โดยไม่มีอาการ) ทั้งพาราสิต แบคทีเรีย และโดยเฉพาะไวรัส
ทำให้เชื้อโรคจากสัตว์ป่ากระจายไป จนกระทั่งในที่สุดเข้าสู่มนุษย์ และมีวิวัฒนาการในทางการแพร่กระจายและเข่นฆ่ามนุษย์อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อยๆ
ทั้งหมดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เช่น ไฟไหม้ป่า พายุทราย ภูเขาไฟระเบิด การจงใจเผาป่าเพื่อประโยชน์ทางเกษตรกรรมอย่างอื่น และมลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้น จากการต้องการพลังงานจากการเผาถ่านหินฟอสซิล เหล่านี้เป็นตัวการสำคัญในการเกิดฝุ่นจิ๋วพิษ 2.5 และผลกระทบจากการเผาฟอสซิล เพื่อพลังงานอย่างเดียว เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอย่างน้อย 12% ทั่วโลก
และถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอันดับสี่ ในการเสียชีวิตทั้งบุรุษและสตรี และมากกว่าปัจจัยอื่นที่เกี่ยวกับไขมันสูง ระดับน้ำตาล ความอ้วน การไม่ออกกำลัง หรือภาวะไตแปรปรวนด้วยซ้ำ
การที่ต้องเผชิญกับมลภาวะเช่นนี้ ทุกนาทีทุกวันต่อเนื่องทั้งชีวิต และมลพิษที่ยังถูกปลดปล่อยออกมา จากเครื่องยนต์ จากรถ จากโรงงาน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำร้ายสุขภาพ และฝุ่นจิ๋วพิษเหล่านี้ทำให้เสียชีวิตจากโรคทางหัวใจและเส้นเลือดมากกว่า 50% ทั้งนี้ เกิดขึ้นได้แม้ว่าระดับฝุ่นพิษเหล่านี้จะต่ำกว่าระดับมาตรฐานที่กำหนดตามขององค์การอนามัยโลกหรือตามมาตรฐานของประเทศต่างๆ
ประชากรโลกมากกว่า 92% จะอยู่ในพื้นที่ที่ค่าฝุ่นพิษและมลภาวะทางอากาศ เกินมาตรฐานองค์การอนามัยโลกมาตลอด โดยมีการประเมินว่าต้องเสียงบประมาณในการรักษาเยียวยาบำบัด สวัสดิการ เป็นล้านล้านดอลลาร์ ที่เกี่ยวเนื่องกับการเสียชีวิตจากมลภาวะทางอากาศเหล่านี้
มลภาวะทางอากาศเหล่านี้ ทราบกันดีมานานว่าเกี่ยวข้องกับฝุ่นพิษจิ๋วเล็กและใหญ่รวมกระทั่งถึงซัลเฟอร์–ออกไซด์ และไนโตรเจนออกไซด์ และมีการศึกษาความเชื่อมโยงกับสาเหตุการตาย โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับหัวใจและระบบเส้นเลือดในประเทศทางฝั่งตะวันตกแต่ยังมีข้อจำกัดในการระบุระดับ และชนิด และขนาดของฝุ่น และผลกระทบระยะเวลาที่ส่งผลกับการตายเฉียบพลัน
การศึกษาที่มีการรายงานครั้งนี้มาจากพื้นที่มณฑลหูเป่ย และมีเมืองหลวงก็คืออู่ฮั่น ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการระบาดโควิด-19 นั่นเอง ทั้งนี้ เป็นพื้นที่ที่มีมลภาวะทางอากาศเข้มข้น และทำให้สามารถทำการศึกษาจากคนที่ตายจากโรคหัวใจและเส้นเลือดจำนวน 151,608 ราย ค่าเฉลี่ยรายวันของฝุ่นเล็กจิ๋ว 2.5 ในมณฑลนี้ และในหลายพื้นที่ของประเทศจีนและอินเดียอยู่ที่ 63.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และการที่ได้รับฝุ่นพิษจิ๋วเล็ก 2.5 และจิ๋วใหญ่ขึ้นขนาด 10 ไมครอนภายในหนึ่งวัน หรือในวันนั้นเองจะส่งผลกับการตายอย่างมีนัยสำคัญ
ผลที่ได้จากการศึกษานี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ทุกๆปริมาณที่เพิ่มขึ้น 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรของฝุ่นจิ๋ว 2.5 จะเพิ่มความเสี่ยงของการตาย 4.14% และสำหรับไนโตรเจนไดออกไซด์เพิ่มความเสี่ยงในลักษณะเดียวกันโดยมีอัตราเพิ่มขึ้นอีก 1.3%
จากการวิเคราะห์ในเชิงลึกในรายงานนี้ไม่พบความสัมพันธ์ชัดเจนกับระดับของโอโซน แต่การที่ไนโตรเจนไดออกไซด์มีส่วนในการตายทำให้มีการเพ่งเล็งถึงมลพิษ ที่ถูกปลดปล่อยออกมาจากเครื่องยนต์ของรถเป็นพิเศษ
ทั้งนี้ แน่นอนคนสูงวัยอายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไป ตายเยอะกว่าคนหนุ่มสาวและคนที่อายุน้อยกว่า 70 ปี แต่การตายที่ไม่สมควรเหล่านี้ พบได้ในทุกกลุ่มอายุ
การระบาดของโควิด-19 ปรากฏผลชัดเจน จากการที่แทบไม่มีการใช้รถยนต์และเครื่องบินโดยสาร และมีผลต่อการที่มลภาวะฝุ่นจิ๋วเล็กเหล่านี้หายไปมาก
ทั้งนี้ เป็นความฝันของมวลมนุษยชาติที่จะเห็นท้องฟ้าสีน้ำเงิน โดยเทคโนโลยีจะเป็นซีโร่ อีมิสชัน (zero emission) ปล่อยก๊าซเป็นศูนย์
#ฝุ่นPM2.5 #ฝุ่นประเทศไทย #ฝุ่นละออง #ฝุ่นPM25 #มลพิษทางอากาศ #กรมควบคุมมลพิษ #รายงานฝุ่น #รายงานสถานการณ์ฝุ่น #ฝุ่นพิษ