เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2566  นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร  เป็นประธานแถลงข่าวการจัดสร้างพระพุทธสิหิงค์จำลอง ในโอกาสครบรอบ 112 ปี แห่งการสถาปนากรมศิลปากร ณ ห้องประชุมอาคารดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร

นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร   กล่าวว่า พระพุทธสิหิงค์จำลอง จัดสร้างเพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาส 112 ปี แห่งการสถาปนากรมศิลปากร พุทธศักราช 2566 แต่เนื่องจากพระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปสำคัญ จึงต้องขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณ เพราะฉะนั้นการจัดสร้างครั้งนี้เป็นไปด้วยความถูกต้อง  โดย พระพุทธสิหิงค์ เป็นพระพุทธสำคัญอันดับ 3 รองจากพระแก้วมรกตและพระพุทธชินราช นอกจากนี้ยังกล่าวกันว่า พระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะละม้ายคล้ายองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เนื่องจากเชื่อกันว่าพญานาคที่เคยเห็นพระพุทธเจ้าได้เนรมิตร่างเป็นแบบให้ช่างปั้น ซึ่งองค์จริงประดิษฐานอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร  และนี่เป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี ที่กรมศิลปากร ทำรูปจำลองพระพุทธสิหิงค์ เป็นพระบูชาขนาด 9 นิ้ว  5 นิ้ว และ 3 นิ้ว รวมทั้งเหรียญและพระกริ่งขนาดเล็ก ในรอบ 40-50 ปี ซึ่งไม่เคยมีทำมาก่อน

นายพนมบุตร  กล่าวอีกว่า “ความพิเศษในการจัดสร้างครั้งนี้ ใต้ฐานของพระพุทธสิหิงค์จำลองทุกองค์ได้บรรจุไม้ช่อฟ้าเดิม ซึ่งเป็นส่วนสูงสุดของพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ สถานที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ และเทียนชัยเข้าพรรษา ซึ่งถวายองค์พระพุทธสิหิงค์ เพื่อเป็นนิมิตแห่งความสว่างไสวของชีวิต  ในการทำพิธีพุทธภิเษกจะทำในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ซึ่งองค์จริงของพระพุทธสิหิงค์ประดิษฐานอยู่ โดยจะมีพิธีมหาพุทธาภิเษกในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2566 เวลา 13.49 น. ซึ่งเป็นวันมหาสิทธิโชค และตรงกับราชาแห่งฤกษ์ โดยจะอัญเชิญวัตถุมงคลที่จัดสร้างทั้งหมดไว้ภายในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เป็นเวลา 1 ราตรี เพื่อซึมซับความศักดิ์สิทธิ์ จากองค์พระพุทธสิหิงค์ และถือเป็นสิริมงคลอย่างยิ่ง”

นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร  มอบของที่ระลึก นายพยัพ คำพันธุ์  นายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องฯ

รายได้จากการเช่าบูชาจะนำเข้ากองทุนโบราณคดี เพื่อใช้เป็นเงินอุดหนุนบูรณะโบราณสถานและกิจการของพิพิธภัณฑ์ รวมทั้งเป็นสวัสดิการของลูกจ้าง ซึ่งครั้งนี้ท่านจะได้บูชาพระพุทธรูปและพระเครื่องพระพุทธสิหิงค์  ออกแบบโดยสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร นอกจากนี้ยังได้นิมนต์พระเกจิอาจารย์ซึ่งเป็นที่นับถือของพุทธศาสนิกชน 9 รูป ประกอบด้วย พระราชพัฒนากร (หลวงพ่อสมชาย)​ วัดปริวาสราชสงคราม พระราชภาวนาวชิรคุณ วิ. (หลวงปู่จื่อ)​ วัดเขาตาเงาะ จ.ชัยภูมิ พระภาวนาวิสุทธิโสภณ วิ. (หลวงพ่อพระมหาสุรศักดิ์)​ วัดประดู่ จ.สมุทรสงคราม พระมงคลวโรปการ (หลวงพ่อชำนาญ)​ วัดชินวราราม จ.ปทุมธานี พระครูวิมลญาณอุดม (พระอาจารย์ธรรมนูญ)​ วัดมณีชลขัณฑ์ จ.ลพบุรี พระครูวิศิษฎพิทยาคม (หลวงพ่อวราห์) ​วัดโพธิ์ทอง พระครูปฐมวราจารย์ (หลวงพ่ออวยพร)​ วัดดอนยายหอม จ.นครปฐม พระครูอดุลวิริยกิจ (หลวงพ่อเอื้อน)​ วัดวังแดงใต้ จ.พระนครศรีอยุธยา และพระครูวิสุทธิ์วิทยาคม (หลวงพ่อทอง)​ วัดบ้านไร่ จ.นครราชสีมา มาทำพิธีพุทธาภิเษก” นายพนมบุตร กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน นายพยัพ คำพันธุ์  นายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่อง พระบูชาไทย และประธานชมรมพระเครื่องมรดกไทย  กล่าวว่า พระพุทธสิหิงค์ เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของเรา ผมเชื่อเหลือเกินว่างานครั้งนี้จะเป็นประวัติศาสตร์  และปลื้มใจที่ได้เห็นงานทรงคุณค่า เราเป็นชาวพุทธ เราเป็นคนไทย  พระกับสังคมไทยเป็นสิ่งคู่กัน ทุกศาสนาทุกชนชาติก็มีของสำคัญประจำแต่ละประเทศทั้งนั้น พระพุทธสิหิงค์ เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองซึ่งยังคงอยู่คู่คนไทยชั่วนิจนิรันดร์

พุทธศาสนิกชนและผู้สนใจสามารถสั่งจองพระพุทธสิหิงค์ พระกริ่งพระพุทธสิหิงค์ และเหรียญพระพุทธสิหิงค์ ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายพัสดุ กลุ่มคลังและพัสดุ สำนักบริหารกลาง ชั้น 3 อาคารกรมศิลปากร เทเวศร์ โทร.0 2126 6559   หรือ facebook page พระพิฆเนศวร 108 ปี กรมศิลปากร