เอกชนไทยร่วมคณะไปจีนให้คะแนน "เศรษฐา" เกินร้อย หนุนดิจิทัลวอลเล็ต แนะใช้แพลตฟอร์มเดิม
เมื่อวันที่ 18 ต.ค.66 เวลา 12.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นสาธารณรัฐประชาชนจีน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ภายหลังการร่วมหารือกับภาคธุรกิจจีน ว่าในนามของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) และคณะภาคเอกชนที่เดินทางมาร่วมกับคณะของนายกรัฐมนตรี เพื่อประชุมหารือกับทางฝ่ายจีน โดยเฉพาะคณะภาคเอกชน เราต้องการสร้างความมั่นใจให้ทางจีนเห็นว่าโอกาสทั้งเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ก็จะเป็นโอกาสสำหรับจีนที่จะไปลงทุนในประเทศไทย ทั้งนี้ได้มีโอกาสพูดคุยอุปสรรคต่างๆที่ไทยเข้ามาลงทุนในจีน โดยภาครัฐของจีนได้ให้ความสำคัญกับภาคเอกชนทั้งสองฝ่าย เช่น เรื่องการปลอมแปลงเครื่องหมายการค้าหรือการละเมิดลิขสิทธิ์ ปลอมแปลงผลิตภัณฑ์ รวมทั้งระบบศุลกากร ซึ่งทางฝ่ายจีนให้ความมั่นใจว่ารัฐบาลจีนได้ควบคุมอย่างเข้มงวด และสร้างความมั่นใจให้กับฝ่ายไทย ขณะเดียวกันทางจีนได้เห็นศักยภาพของไทยว่าเราเป็นประเทศที่เป็นกลาง ปลอดภัยสำหรับนักลงทุน และนอกจากในเรื่องการค้าการลงทุนแล้วยังได้พูดถึงการท่องเที่ยวซึ่งทางจีนมีความมั่นใจที่จะท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยเฉพาะการยกเว้นฟรีวีซ่าให้กับจีนได้รับความสะดวกในการเดินทางมาก
ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดว่านโยบายของรัฐบาลปัจจุบันสนับสนุนและสอดคล้องกับแนวทางของเอกชนมากแค่ไหน นายสนั่น กล่าวว่า รัฐบาลไทยมีความกระตือรือร้นทำงานในเชิงรุก โดยเฉพาะการเชิญชวนดึงดูดชาวต่างชาติเข้ามาลงทุน และการที่มาประชุมที่จีนในครั้งนี้มีความสำคัญเป็นอย่างมาก นอกจากที่นายกรัฐมนตรีจะเข้าประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง ( Belt and Road Forum for International Coperration- BRF) ยังได้ตอกย้ำว่าประเทศไทยมีความยินดีที่จะต้อนรับชาวจีนเข้าไปลงทุนและไปท่องเที่ยว รวมทั้งทำการค้ากับประเทศไทย ซึ่งนอกจากจะมีการเซ็นเอ็มโอยูของภาครัฐแล้วก็ยังจะมีการเซ็นเอ็มโอยูระหว่างภาคเอกชน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (CCPIT) ทำเอ็มโอยูร่วมกันเพื่อที่จะสร้างเทรดแพลตฟอร์มซึ่งเป็นทั้งภาษาจีน ภาษาอังกฤษ และภาษาไทย ถือเป็นสิ่งที่ดี และยังจะมีการจัดงานแสดงสินค้าระหว่างสองประเทศ โดยวันที่ 28 ตุลาคมนี้ ทางจีนจะมีการจัดงานเอ็กซ์โป ซึ่งตรงกับทางภาคอุตสาหกรรมและเป้าหมายของเรา ถือเป็นสิ่งที่ดีมาก
นอกจากนี้ยังได้มีการพูดคุยถึงการพัฒนาบุคลากรเนื่องจากจีนมีการเข้าไปลงทุนจำนวนมากจึงอยากมีการเสริมทักษะให้คนไทยได้เรียนรู้ภาษาจีนและวัฒนธรรม โดยจะให้ทุนกับประเทศไทยโดยเฉพาะนักธุรกิจรุ่นใหม่ได้เข้ามาเรียนรู้ภาษาจีนและวัฒนธรรม ซึ่งจะทำให้การค้าและการลงทุนมีการพัฒนาอย่างมั่นคงและยั่งยืน
ผู้สื่อข่าวถามว่าถ้าจะให้คะแนนและความเชื่อมั่นกับเซลล์แมนที่ชื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง อย่างไรบ้าง นายสนั่นกล่าวว่า ถ้าพูดถึงเซลล์แมนที่ชื่อนายเศรษฐา ผมว่าให้เกินร้อยในเรื่องของความตั้งใจ
ผู้สื่อข่าวถามถึงความเห็นเกี่ยวกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ในสายตาภาคเอกชนมองเรื่องนี้อย่างไร ประธานกรรมการหอการค้าไทยฯ กล่าวว่า ภาคเอกชนเห็นด้วย ในด้านของเศรษฐกิจโดยทั่วไปตอนนี้เราจะต้องมีมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งการที่จะต้องมีเม็ดเงินใส่เข้าไปเพื่อทำให้เศรษฐกิจมีการกระตุ้น เช่นการส่งออกของเราที่ผ่านมามีการชะลอตัวลง อุตสาหกรรมต่างๆหรือแม้แต่ภาคเกษตร คิดว่ายังมีความสามารถเหลือถ้าเราสามารถทำให้ประชาชนมีอำนาจการซื้อหรือกำลังการซื้อก็จะทำให้อุตสาหกรรมเหล่านี้สามารถเพิ่มกำลังการผลิต ประกอบกับการจ้างงานก็จะเพิ่มขึ้นถือเป็นสิ่งที่ดี ขณะเดียวกันเอกชนเห็นว่าอยากจะให้ใช้แพลตฟอร์มที่มีอยู่แล้ว เช่น เป๋าตังของกรุงไทย นอกจากนี้ยังมีแพลตฟอร์มของเอกชนต่างๆ ใช้ของที่มีอยู่แล้ว ซึ่งจะสามารถใช้ได้ทันทีไม่ต้องไปลงทุนทำใหม่ก็จะดี และเมื่อมีการสร้างงานแล้วก็จะทำให้เงินเข้าระบบการหมุนเวียนหลายรอบด้วยกัน ก็จะเป็นสิ่งที่ดี
นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรี ที่ได้เชิญนักธุรกิจและภาคเอกชนไทยเข้าร่วมเจรจาธุรกิจการค้าและการลงทุนกับเอกชนจีน ซึ่งเบื้องต้นได้รับสัญญาณที่ดีจากทางจีน ในการตอบรับร่วมเป็นหุ้นส่วนการลงทุน โดยใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิต ทั้งนี้ สิ่งที่เห็นตรงกันทั้งสองฝ่าย คือ นโยบายการสนับสนุน 5 อุตสาหกรรม คือ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (EV) อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ อุตสาหกรรมสีเขียว และเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด โดยที่ทั้งสองฝ่ายสามารถร่วมมือกันได้ เพราะประเทศไทยมีความพร้อมเป็นฐานการผลิตรถยนต์สันดาป พร้อมเห็นว่า ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานอีวี หรือพลังงานสะอาดอื่นๆ ซึ่งสิ่งที่จะได้จากนักลงทุนจีนที่จะเข้ามาลงทุน คือ การถ่ายทอดเทคโนโลยีด้วย โดยเชื่อว่าจีนและไทยจะสามารถร่วมมือกันได้ โดยที่ให้ไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออก ประเทศไทยจะกลายเป็นผู้นำด้านนี้
"การที่นายกฯ พามาในครั้งนี้ พวกเราในฐานะเอกชนยินดีที่จะทำตามนโยบายภาครัฐ เราสามารถใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิต ไม่ใช่เฉพาะแค่ฐานการผลิต แต่เพื่อส่งออกไปในภูมิภาคนี้และทั่วโลก วันนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปเยอะ มีการย้ายฐานการผลิตต่างๆ ซึ่งผมคิดว่าประเทศมีเสน่ห์หลายๆ อย่าง ฉะนั้นจึงเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทย"
นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า เอกชนยังมองถึงการที่ประเทศไทยอยู่ในศูนย์กลางโลจิสติกส์ เช่น รถไฟไทย-จีน ซึ่งมีความสำคัญมาก และแลนด์บริดจ์ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งมองว่าจะเป็นจุดเปลี่ยน โดยที่จีนจะสามารถเข้ามาร่วมกับไทยได้อีกมาก ซึ่งการเดินทางครั้งนี้จะเป็นการสร้างความเข้าใจและความมั่นใจให้กับนักลงทุนทั้งสองประเทศ โดยที่ฝ่ายไทยเองก็มีนักลงทุนในจีน ดังนั้นต่างฝ่ายต่างมีโอกาส แต่ยังคงต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด และแก้ไขปัญหาร่วมกัน อะไรที่เป็นปัญหาก็คุยกันอย่างตรงไปตรงมา จึงถือว่าเวทีนี้เป็นเวทีที่ดี
โดยขณะนี้นายกฯ ค่อนข้างเข้าใจปัญหาและเข้าใจการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะเศรษฐกิจ การที่นายกฯเดินทางไปต่างประเทศต่างๆ ที่เป็นเป้าหมายเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะขณะนี้ทั่วโลกกำลังแข่งขันกันมาก การหาตลาดสำคัญๆ เช่น จีน หรือตลาดใหม่ๆ ท่านทำได้เต็มที่และเต็มศักยภาพ ดังนั้นภาคเอกชนพร้อมที่จะไปกับนายกฯ ท่านไปไหน เราไปนั่น พร้อมจะช่วยกัน เพราะผมเชื่อว่าภาครัฐและเอกชนใกล้ชิดกันเราจะแก้ไขปัญหา และฝ่าฟันอุปสรรคได้" นายเกรียงไกร กล่าว
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ (มหาชน) ในฐานะตัวแทนสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่นำพานักธุรกิจไทยมาในวันนี้ ตนมองว่า การเดินทางมาครั้งนี้เป็นการยืนยัน มุมมองของจีน เกี่ยวกับประเทศไทย เรื่องการท่องเที่ยว ได้มีการเพิ่มเที่ยวบินและส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวชาวจีน เดินทางมาเที่ยวประเทศไทย พร้อมทั้ง การลงทุนในประเทศไทย ก็คึกคัก และนักธุรกิจจีนสนใจร่วมลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอีอีซี ซึ่งปัจจุบันในนิคมอุตสาหกรรมของไทยมีนักธุรกิจจีนมาร่วมลงทุนเป็นจำนวนมาก โดย ประกอบธุรกิจที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นโซล่าเซลล์ อีวี ไบโอเทค ถือว่าเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดความมั่นใจขึ้น และอยากจะนำนักธุรกิจจีนไปเยือนประเทศไทยอีกครั้ง เหมือนกับที่เคยดำเนินการมาก่อนช่วงโควิด ซึ่งเราสามารถเรียนรู้จากจีนได้หลายเรื่อง เช่น เรื่องนวัตกรรมต่างๆ ที่ประเทศไทยรับจ้างผลิตมานาน ถึงเวลาที่จะต้องเข้าสู่การพิจารณาพัฒนาเทคโนโลยีของเราเอง และจีนก็เป็นคนทำเรื่องเทคโนโลยีของโลกในขณะนี้ การที่จีนตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย และจะมาพัฒนาร่วมกับประเทศไทย จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ อย่างไรก็ตาม จีนได้ให้ความสำคัญปกป้องเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เชื่อว่าไทยสามารถทำงานร่วมกับเขาได้ ซึ่งจะเป็นการวางรากฐานปกป้องสิทธิทางปัญญาได้
ทั้งนี้ สมาคมธนาคารไทยยินดีร่วมมือเป็นสะพานนำนักธุรกิจจีนเข้าสู่ประเทศไทย เรื่อง การให้ข้อมูล การติดต่อทางราชการ พร้อมให้บริการทางการเงินต่างๆ และ พร้อมเป็นสะพานเชื่อมให้นักธุรกิจไทยมาลงทุนในประเทศจีนซึ่งจีนก็ให้ความสนใจ และพร้อมให้ความร่วมมือ กลับ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ไทยจีน