วันที่ 18 ตุลาคม 2566 ที่สำนักงานเขตห้วยขวาง นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงโครงการ BKK FOOD BANK ว่า เนื่องจากกรุงเทพมหานครมีกลุ่มเปราะบางที่ต้องการอาหารและความช่วยเหลือ รวมถึง มีผู้ต้องการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางดังกล่าว แต่ขาดการบริหารจัดการระหว่างผู้ให้กับผู้รับ ทำให้การแจกอาหารหรือช่วยเหลือไม่ทั่วถึงเท่าที่ควร กทม.จึงจัดโครงการนี้ขึ้นเพื่อทดลองจัดสรรรูปแบบการแจกอาหาร เช่น ใช้คูปองแจกแต้ม หรือบัตรสำหรับเลือกสิ่งของที่ต้องการ โดยเริ่มนำร่องตั้งศูนย์รับบริจาคที่สำนักงานเขตห้วยขวาง เพื่อส่งต่อผู้ขาดแคลนอย่างเหมาะสมตามโควต้าคูปองที่ได้รับ ในอนาคตจะขยายไปสู่ศูนย์การค้าต่าง ๆ ที่มีอาหารเหลือจากการขายแต่ยังสามารถบริโภคได้ สามารถส่งต่อให้ผู้ที่ต้องการผ่านสำนักงานเขตซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการแจกจ่าย มีประโยชน์กว่านำไปทิ้งเป็นขยะ ปัจจุบันโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างขยายผล ตั้งเป้าให้ครบ 50 เขต ภายใน 1 ปีนับจากนี้ และมีแผนจัดทำคูปองดิจิทัลเพื่อบันทึกข้อมูลและป้องกันการนำสิ่งของบริจาคไปขายต่อ หากผู้รับมีความเข้มแข็งขึ้น ไม่จัดอยู่ในกลุ่มเปราะบางแล้ว กทม.จะยกเลิกการแจกของให้ รวมถึง หากร้านค้าใดเข้าร่วมโครงการ กทม.จะออกป้ายสัญลักษณ์ยืนยันว่าร้านดังกล่าวได้ทำเพื่อสังคมผู้เปราะบาง เพื่อให้ประชาชนช่วยกันสนับสนุนธุรกิจ

 

นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า โครงการนี้คือการนำสิ่งของที่เหลือ/เกินมาให้ผู้ที่ขาด เช่น มีผู้บริจาคสิ่งของให้วัดจำนวนมาก สำนักงานเขตจะไปรับของบริจาคเหล่านั้นมาพักไว้ที่สำนักงานเขต เพื่อห่อของแต่ละอย่างรวมกันเป็นชุด เช่น ข้าวสาร บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป น้ำดื่ม นำไปแจกผู้ที่ขาดแคลนตามการสำรวจของแต่ละสำนักงานเขต โดยการแจกของแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1.สำนักงานเขตแจกคูปองสำหรับผู้เดินทางมารับที่สำนักงานเขตด้วยตัวเอง ไม่จำกัดจำนวนครั้ง จนกว่าจะหมดโควต้าตามคูปอง 2.สำนักงานเขตจัดกิจกรรมลงพื้นที่แจกของสำหรับกลุ่มเปราะบางที่เดินทางมารับของด้วยตัวเองไม่ได้ 3.บริการขนส่งไลน์แมนให้การสนับสนุน กทม.สามารถเรียกมารับของไปส่งตามชุมชนได้ฟรี นอกจากนี้ ภาคเอกชนสามารถเข้าร่วมกับสำนักงานเขตได้เพื่อช่วยกันแพ็กของเตรียมนำส่ง (CSR) เนื่องจากของมีจำนวนมาก ต้องใช้กำลังคนในการบริหารจัดการ โดยสำนักงานเขตจะติดตามคุณภาพชีวิตของผู้รับของแต่ละรายด้วยว่ามีแนวโน้มเป็นอย่างไร

 

นายไพฑูรย์ งามมุข ผู้อำนวยการเขตห้วยขวาง กล่าวว่า ผู้ที่สนใจแบ่งปันสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานเขตห้วยขวาง ฝ่ายพัฒนาสังคม ยินดีรับทุกชนิด เช่น ผ้าอ้อม อาหารแห้ง ที่นอนเด็ก นม รวมถึงสิ่งของต่าง ๆ เพื่อสำนักงานจะนำมาจัดสรรแจกจ่ายแก่ผู้เปราะบางขาดแคลนต่อไป ส่วนผู้ที่ไม่สะดวกนำมาบริจาคด้วยตัวเอง สามารถติดต่อสำนักงานเขตให้ไปรับได้ ปัจจุบันอาหารและสิ่งของส่วนใหญ่สำนักงานเขตห้วยขวางได้รับมาจากวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก สิ่งที่ต้องการมากที่สุดตอนนี้คือ ข้าวสารอาหารแห้ง ประชาชน ผู้ประกอบการ ห้างร้าน สามารถร่วมบริจาคได้ที่สำนักงานเขตห้วยขวาง จากการประเมินผู้เปราะบางที่ต้องการรับสิ่งของล่าสุดมี 220 คน โดยผู้ที่ต้องการรับสิ่งของต้องผ่านการประเมินจากสำนักงานเขตว่าเป็นผู้เปราะบางจริงหรือไม่ และจะมีการติดตามความก้าวหน้าของผู้เปราะบางต่อไป