"สว.เฉลิมชัย" ซัดกกต.กลัดกระดุมเม็ดแรกพลาด ปล่อยรัฐแจกเงินดิจิทัล ชี้ช่องยื่น "ปปช." จงใจใช้อำนาจส่อขัดรัฐธรรมนูญ เป็นการสัญญาว่าจะให้อย่างเห็นได้ชัด เป็นการซื้อเสียงล่วงหน้า ขณะที่ "จุลพันธ์" ชี้เงินดิจิทัลไม่มีเอกชนเกี่ยวข้อง ปัดใช้งบ 1.2 หมื่นล้านทำซุปเปอร์แอปฯ ย้ำมีกลไกรองรับความโปร่งใส
เมื่อวันที่ 17 ต.ค.66 ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานในการประชุม พิจารณารายงานสรุปผลการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ประจำปี 2565 โดยนายเฉลิมชัย เฟื่องคอน สว.อภิปรายว่า พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล มีนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตคนละ 10,000 บาท และมีผู้ร้องเรียนไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)แล้ว แต่ได้รับคำตอบมาว่า ไม่ผิด เนื่องมาจากเป็นเงินงบประมาณของรัฐ ไม่ใช่เงินส่วนตัว การที่กกต.ตอบแบบนี้เป็นการติดกระดุมเม็ดแรกผิดพลาดอย่างมหันต์
เนื่องจาก กกต. ไม่ได้นำกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณา เพราะปัจจุบันไทยมีหนี้สาธารณะและหนี้ครัวเรือนสูง จึงไม่รู้ว่า กกต.ใช้หลักเกณฑ์ใดมาตัดสินว่าหากนำงบประมาณของรัฐแจกแล้วไม่มีความผิด และตอนนี้ก็ไม่มีความชัดเจนว่าจะนำงบประมาณมาจากไหน และเห็นว่าน่าจะไปร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวหาว่ากกต. จงใจปฏิบัติหน้าที่โดยใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญมาตรา 234 และมาตรา 235 ได้
นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า แกนนำพรรคเพื่อไทยทำผิดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 162 ตั้งแต่วันที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เพราะไม่ได้ชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่าย ปัจจุบันก็ยังไม่มีการชี้แจง สุ่มเสี่ยงขัดต่อการรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐ และครม.ต้องไม่บริหารโดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมือง และก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ออกข่าวมาโดยตลอดว่าจะไม่ใช้งบประมาณ จะไม่กู้ แต่จะใช้มาตรา 28 ของ พ.ร.บ.การเงินการคลังของรัฐ คือมอบหมายให้ธนาคารออมสินจ่ายงบประมาณไปก่อนในโครงการนี้ แต่โครงการดังกล่าวก็ไม่ได้อยู่ในหน้าที่ อำนาจ และขอบเขตวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งธนาคารออมสินแต่อย่างใด และหากบังคับผู้อำนวยการธนาคารออมสินมากๆ ท่านอาจจะลาออกได้ เนื่องจากท่านก็กลัวจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157
นายเฉลิมชัย กล่าวอีกว่า นายกฯยังให้ข่าวอย่างต่อเนื่องว่าในวันที่ 1 ก.พ. 2567 เงินดิจิทัลจะเข้าสู่ระบบ และประชาชนทุกคนจะได้เงิน แต่จะเอาเงินมาจากไหน ในเมื่อปฏิทินงบประมาณปี 2567 จะออกในเดือน เม.ย. 2567 แสดงว่า ครม. ต้องใช้วิธีกู้เงินจากธนาคารของรัฐ หรือธนาคารออมสิน แต่เงินกู้ที่ได้มาก็ต้องเป็นเงินแผ่นดินเช่นกัน จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด และมีหลายหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบโครงการนี้ได้ ทั้งผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่มีผู้ไปร้องแล้ว เช่นเดียวกับ ป.ป.ช. ก็ได้ตั้งคณะกรรมการมาตรวจสอบโครงการนี้โดยตรง ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
นายเฉลิมชัย กล่าวว่า สรุปแล้วโครงการเงินดิจิทัลมีข้อสงสัยมากมายว่าจะนำเงินงบประมาณมาจากไหน 5.6 แสนล้านบาท ทำไมไม่จ่ายเป็นเงินสดเข้าบัญชีธนาคารโดยตรง ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมแลกเหรียญดิจิทัลกลับไปกลับมา 6% อีก 33,600 ล้านบาท ค่าจ้างทำโปรแกรมบล็อกเชนอีกกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท กรณีดังกล่าวหากเกิดเงินเฟ้อ สินค้าแพงขึ้น หนี้สาธารณะจะเพิ่มอีกเท่าใด จริงหรือที่การแจกเงินจะทำให้ระบบเศรษฐกิจหมุน 3 รอบ และได้ถามพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ว่าเห็นด้วย และการที่นายกฯเดินทางไป จ.พิษณุโลก เมื่อวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา แล้วปลุกระดมให้ชาวพิษณุโลกคัดค้านคนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการเงินดิจิทัล ถือเป็นการพูดให้ประชาชนขัดแย้งแตกแยกกันเองหรือไม่ เหตุใดพรรคเพื่อไทยไม่คิดวิเคราะห์ผลกระทบและความเสี่ยงให้รอบคอบรอบด้านก่อนจะออกมาเป็นนโยบายหาเสียง เพื่อให้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ
"กกต. ต้องกำหนดกลไกความรับผิดชอบของพรรคการเมืองในการประกาศโฆษณานโยบายที่ไม่ได้วิเคราะห์ผลกระทบของความคุ้มค่าและความเสี่ยงอย่างรอบด้าน ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ให้ชัดเจนเป็นรูปธรรม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะการแจกเงินดิจิทัล เป็นการสัญญาว่าจะให้อย่างเห็นได้ชัด เป็นการซื้อเสียงล่วงหน้า แต่ กกต.กลับตีความว่าไม่ผิด จึงหวังว่า กกต.คงไม่ปล่อยนโยบายแบบนี้ออกมาอีกในการเลือกตั้งอีก 4 ปีข้างหน้า แต่ผมไม่ได้ไม่ให้ทำ ท่านจะทำก็ทำไป แต่ต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย และรับฟังปัญหา ข้อเสนอแนะ ของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายด้วย ก็จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม" นายเฉลิมชัย กล่าว
ขณะที่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวกระแสข่าวว่าค่าจัดทำแอปพลิเคชั่นสูงถึง 12,000 ล้านบาทว่า ไม่มีทาง ฟังแล้วก็ยังตลกอยู่เลย ไม่มีแอปพลิเคชั่นไหนพัฒนาในราคานั้น เมื่อถามว่า การทำแอปฯ ต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ รมช.คลังระบุว่า ไม่กล้าตอบตัวเลขที่ชัดเจน แต่เท่าที่ทราบไม่ได้มากอะไร ทั้งนี้จะให้ธนาคารกำกับของรัฐเป็นผู้ดำเนินการ ส่วนจะเป็นธนาคารใดจะขึ้นอยู่กับสมาคมธนาคารของรัฐหารือกันอีกครั้ง โดยไม่มีการจัดซื้อจัดจ้าง หรือให้ภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการ โดยค่าใช้จ่ายในการทำแอปยังไม่สามารถระบุตัวเลขที่แน่ชัดได้ ซึ่งต้องรอการหารือก่อน
โดยเหตุผลที่ไม่ใช้แอปเป๋าตัง เนื่องจากมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันในเรื่องของการกำหนดเงื่อนไข อย่างน้อยต้องมีการจัดเก็บข้อมูลเพื่อยืนยันว่าข้อมูลเหล่านี้จะอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย ยืนยันมีกลไกรองรับความโปร่งใส ซึ่งเงื่อนไขต่างๆจะเป็นกลไกใหม่ของรัฐในการผลักดันเม็ดเงินลงไปในระบบ ทำให้กำหนดเป้าหมายได้ชัดเจนมากขึ้น ขอยืนยันว่าเม็ดเงินเหล่านี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจทั้ง SME การท่องเที่ยว ซึ่งจะทำให้การใช้เงินของรัฐตรงตามเป้าหมาย ทั้งนี้ประชาชนที่จะสามารถเข้าร่วมโครงการ รับเงินดิจิทัล 10,000 บาทได้นั้น จำเป็นต้องลงทะเบียนยืนยันตัวตน (KYC) เนื่องจากมีกรอบกฎหมายเป็นตัวกำหนด เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์และพิสูจน์ว่ามีตัวตนจริงตามบัตรประชาชน โดยขณะนี้ในเรื่องเม็ดเงินยังไม่สามารถชี้แจงว่าจะมีการกู้มาจากธนาคารหรือไม่
สำหรับเรื่องกังวลว่าจะซ้ำรอยกับโครงการจำนำข้าวหรือไม่นั้น นายจุลพันธ์กล่าวว่า โครงการนี้เป็นกลไกที่จะเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือและยังหาช่องว่างในการทุจริตได้ รวมถึงเรื่องร้านค้าแรกเข้าต้องจ่ายร้อยละ 3 นั้น ไม่ใช่ข้อเท็จจริง พร้อมยืนยันว่า โครงการนี้สามารถดำเนินการสำเร็จอย่างแน่นอน