คลังรีดรายได้ 11 เดือนปีงบ 66 เกินเป้า 1.53 แสนล้านบาท สรรพากร-ศุลกากรแรงหนุน
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 (ต.ค.65-ส.ค.66) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ จำนวน 2.368 ล้านล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 1.53 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 6.9% และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.9% โดยหน่วยงานที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ กรมสรรพากร ส่วนราชการอื่น และกรมศุลกากร โดยการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการเป็นผลจากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ขณะที่ราชการอื่นที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ เนื่องจากมีรายได้พิเศษที่ไม่ได้อยู่ในประมาณการ เช่น การนำส่งทุนหรือผลกำไรส่วนเกินของทุนหมุนเวียนเป็นรายได้แผ่นดิน การนำส่งเงินเหลือจ่ายจากเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2363 เป็นราชได้แผ่นดิน เงินส่วนเกินจากการจำหน่ายพันธบัตรจากการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล รายได้จากสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นต้น
สำหรับกรมศุลกากรจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าสูงกว่าประมาณการ ซึ่งเป็นผลของค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลง ประกอบกับมีการชำระอากรขาเข้าย้อนหลังตามคำพิพากษาคดี ส่วนการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตนั้น ถือว่า ยังต่ำกว่าประมาณการจากการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเป็นระยะเวลา 10 เดือน เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนเป็นการชั่วคราวจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูง
ทั้งนี้หากไม่รวมรายได้พิเศษของส่วนราชการอื่นและกรมศุลกากร ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิสูงกว่าประมาณการ 8.33 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 3.8% และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.8% สำหรับผลจัดเก็บรายได้ของกรมภาษี ประกอบด้วย กรมสรรพากรจัดเก็บรายได้สุทธิ 1.91 ล้านล้านบาท กรมสรรพสามิต 4.35 แสนล้านบาท และกรมศุลกากร 1.17 แสนล้านบาท
ขณะที่ด้านฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 2.33 ล้านล้านบาท และมีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้น 3.0 ล้านล้านบาท โดยรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 4.97 แสนล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.78 แสนล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนส.ค.66 มีจำนวนประมาณ 3.17 แสนล้านบาท