นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผลการวิเคราะห์ส่งออกไทยไตรมาสที่ 4 ปี 2566 พบว่า เริ่มมีการปรับตัวดีขึ้นกลับมาขยายตัวได้ถึง 6.8% จาก 3 ไตรมาสที่ผ่านมาของปีนี้ที่ติดลบต่อเนื่อง จากฐานการส่งออกต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อน เงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่า ภาวะเงินเฟ้อที่ชะลอตัว และสินค้าเกษตรและอาหารที่ส่งออกได้มากขึ้น จากความต้องการในเรื่องความมั่นคงทางอาหาร แต่ภาพรวมทั้งตลอดทั้งปียังคงหดตัวที่ 2% มูลค่าการส่งออกประมาณ 281,593 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ส่วนในปีหน้า 2567 จากอัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยประเทศต่างๆที่ชะลอตัว ส่งผลให้ความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น ประกอบกับนโยบายผลักดันการส่งออกของไทย ทั้ง Soft Power การแก้ไขอุปสรรคการค้าชายแดน และผลักดันการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ FTA จะกระตุ้นการส่งออกในตลาดต่างๆได้มากขึ้น คาดการณ์ว่าการส่งออกทั้งปี 2567 จะขยายตัวได้ 3.6% มูลค่า 291,773 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่มีปัจจัยเสี่ยงที่ติดตามจากอัตราดอกเบี้ยที่ยังทรงตัวสูงกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ปัญหาเอลนีโญ จะกระทบให้ผลผลิตการเกษตรของไทยลดลง ค่าเงินบาทที่คาดว่าจะแข็งค่าขึ้นกระทบกับการแข่งขัน และราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้นกระทบต่อต้นทุน รวมไปถึงอีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องติดตามคือ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งระหว่างจีน-สหรัฐฯ รัสเซีย-ยูเครน และล่าสุดเกิดสงครามอิสราเอล กับกลุ่มฮามาส แต่จนถึงขณะนี้ยังเชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทย แม้สถานการณ์อาจจะยืดเยื้อ แต่คาดว่าจะกระทบต่อมูลค่าการส่งออกให้ลดลงเพียง 0.1% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 369 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกรณีเลวร้ายที่สุดคือสงครามขยายวงกว้างทั่วตะวันออกกลาง จะกระทบการส่งออกไทยหดตัว 1.7% หรือมูลค่าประมาณ 4,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก
ทั้งนี้คาดว่าการส่งออกของไทยขณะนี้ มีสัญญาณดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 และจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในปีหน้า มีเม็ดเงินเฉลี่ยกลับเข้ามาในระบบประมาณ 300,000-350,000 ล้านบาท เป็นพระเอกของเศรษฐกิจไทย รองจากเงินดิจิทัลวอลเล็ต หากคิดจากฐานเดิมที่รัฐบาล คำนวณ 5 แสน 6 หมื่นล้านบาท เป็นเงินเติมเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปีหน้าให้โตได้ในกรอบ 4.5-5% แต่ปัจจัยเสี่ยงที่น่ากังวลคือเรื่องของเอลนีโญที่จะกระทบมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร แต่ละปี 1 ล้านล้านบาท หากหายไป 2-6% จะทำให้เงินหายไปจากระบบ 20,000-60,000 ล้านบาท ถือว่าสูงมาก ดังนั้นหากนำเงินดิจิทัลวอลเล็ต ปรับมาแจกให้เฉพาะ 40 ล้านคนจากฐานข้อมูลประชากรที่รายได้ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน ตามที่ภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร.เสนอให้นำเงิน จากที่เหลืออีกกว่า 1 แสนล้านบาท ไปทำโครงการแก้ไขปัญหาน้ำ จากภัยแล้งที่จะลากยาวไปหลายปี เพื่อป้องกันรายได้หดหายของประชาชนกลุ่มฐานราก เป็นต้น
นายพูนทวี ชัยวิจิตมลากูล ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย วิเคราะห์แนวโน้มการส่งออกไทยในไตรมาส 4/66 ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ คาดว่า การส่งออกของไทยในไตรมาส 4 ปีนี้ จะสามารถพลิกกลับมาเป็นบวกได้ที่ 6.8% คิดเป็นมูลค่าราว 70,500 ล้านดอลลาร์ จากไตรมาส 3/66 ที่คาดว่าจะหดตัว 3.2% ขณะที่การส่งออกไทยทั้งปี 66 คาดว่าจะยังหดตัว 2% ที่มูลค่าประมาณ 281,500 ล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ปัจจัยที่จะส่งผลให้การส่งออกไทยไตรมาส 4 ปีนี้ ขยายตัวได้ มาจาก 1.ฐานการส่งออกที่ต่ำของไตรมาส 4 ปี 65 2.แนวโน้มเงินบาทอ่อนค่า 3.เงินเฟ้อชะลอตัว 4.สินค้าเกษตรและอาหารส่งออกได้มากขึ้น จากประเด็นด้านความมั่นคงทางอาหาร 5.นโยบายผลักดันการส่งออกในช่วงโค้งสุดท้ายของปี โดยสินค้าส่งออกเด่นของไตรมาส 4/66 ได้แก่ ยานยนต์และส่วนประกอบ, อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์, ผลไม้, ข้าว เป็นต้น
โดยการส่งออกไทยในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า, อัตราดอกเบี้ยในประเทศคู่ค้ายังอยู่ในระดับสูง ส่งผลกระทบต่อการบริโภค การลงทุนทางธุรกิจที่ชะลอตัว ทำให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนมีภาระหนี้เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งคาดว่าราคาน้ำมันดิบตลาดโลกจะปรับตัวสูงขึ้นในไตรมาส 4 จากการลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปค และความกังวลภาวะสงครามในอิสราเอล ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตและราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น โดยคาดว่าช่วงไตรมาส 4 ราคาน้ำมันดิบจะอยู่ในช่วง 88-93 ดอลลาร์/บาร์เรล นอกจากนี้ ยังเผชิญปัญหาเอลนีโญ ที่มีผลกระทบต่อผลผลิตสินค้าเกษตรของไทยที่อาจจะลดลงราว 2.2-6.5%