นายพีรพล กนกวลัย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตพญาไท กล่าวถึงปัญหานักดับเพลิงนำครอบครัวมาพักอาศัยในสถานีดับเพลิง ว่า จากสภาพความจริงขณะนี้ ศูนย์ดับเพลิงมีบ้านพักสำหรับผู้ปฏิบัติหน้าที่ แต่ปัจจุบันอาจมีความเข้าใจผิดว่าบ้านพักดังกล่าวเป็นบ้านพักสำหรับครอบครัวของเจ้าหน้าที่ดับเพลิง ทำให้การใช้ชีวิตไม่มีความเตรียมพร้อมปฏิบัติหน้าที่ จุดประสงค์บ้านพักเพื่อให้เจ้าหน้าที่พักขณะปฏิบัติหน้าที่ สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ทันที แต่ปรากฏว่ามีผู้อยู่อาศัยเต็มบ้านพัก ทำให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ประจำเวรในแต่ละวันไม่มีบ้านพักขณะปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้น ควรดำเนินการเรื่องนี้ให้ถูกต้องตามระเบียบ เนื่องจากการจับจองพักอาศัยอย่างถาวรเสี่ยงให้เกิดการมั่วสุม เช่น สุราและยาเสพติด สิ่งที่เกิดขึ้นคือความหละหลวมในการกำชับระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ต้องแยกให้ชัดเจนระหว่างบ้านพักข้าราชการกับบ้านพักระหว่างปฏิบัติหน้าที่ เพราะเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและบรรเทาสาธารณภัยต้องเตรียมพร้อมปฏิบัติหน้าที่ตลอดเวลา จากการตรวจสอบพบว่า ผู้บริหารกทม.ยังไม่มีการแก้ไขเรื่องนี้
ด้านนายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กล่าวถึงสาเหตุความจำเป็นในเรื่องนี้ ว่า ก่อนที่กองบังคับการตำรวจดับเพลิงจะโอนภารกิจให้ สปภ.ในปี 2546 ได้มีการอยู่อาศัยเป็นครอบครัวมานานแล้ว เมื่อได้รับภารกิจต่อ สปภ.จึงยึดธรรมเนียมเดิมคือ ให้เจ้าหน้าที่อาศัยภายในสถานีดับเพลิง ด้วยเหตุผลด้านความคล่องตัวในการปฏิบัติหน้าที่ และด้านอัตรากำลังขาดแคลน ปัจจุบันสปภ.มีนักดับเพลิงประมาณ 1,900 นาย ต่อประชากรกทม.ร่วม 10 ล้านคน มีสถานีดับเพลิงประมาณ 41 สถานี มีเจ้าหน้าที่ประจำสถานีละประมาณ 44 นาย หากเทียบกับเมืองขนาดใกล้เคียงกัน เช่น กรุงโซล ประเทศเกาหลี มีนักดับเพลิงประมาณ 6,800 นาย ต่อประชากรกว่า 9 ล้านคน ด้วยเหตุนี้ สปภ.จึงจำเป็นต้องตรึงกำลังนักดับเพลิงไว้ในสถานีไม่ให้กลับบ้านเพื่อแก้ปัญหาขาดอัตรากำลังหากนักดับเพลิงออกจากภาระเวรกลับบ้าน เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจะไม่สามารถเรียกกำลังจากแต่ละสถานีกลับมาปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันได้ เพราะออกเวรไปแล้ว ส่วนกรณีดื่มสุราหรืองานเลี้ยง เป็นไปตามโอกาสและเทศกาล เนื่องจากอาศัยกันเป็นครอบครัว ได้กำชับให้ปรับปรุงเพราะเป็นสถานที่ราชการ ต้องไม่ก่อความเดือดร้อนรำคาญ
ด้านนายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ว่ากทม.มีแผนตั้งงบประมาณเพื่อจัดการเรื่องนี้ โดยนำครอบครัวที่มาพักอาศัยในสถานีดับเพลิงออกนอกพื้นที่ เพื่อบริหารจัดการห้องพักให้เหมาะสมกับการเตรียมพร้อมปฏิบัติหน้าที่ เช่น ให้เจ้าหน้าที่เข้าประจำการ 2 วัน ออก 1 วันสิ่งสำคัญคือการจัดหาที่พักระหว่างปฏิบัติหน้าที่ให้เหมาะสม ซึ่งเรื่องดังกล่าวได้รับรายงานว่ามีการมั่วสุมภายในที่พักสถานีดับเพลิง เนื่องจากอยู่ในสถานที่ราชการ การตรวจสอบจึงเข้าถึงยาก แนวทางแก้ไขคือ ตั้งงบประมาณสร้างชุมชนที่พักอาศัยในการเคหะลาดกระบัง โครงการบ้านเอื้ออาทร จำนวนกว่า 900 ยูนิต ซึ่งกทม.ได้ประสานเบื้องต้นไว้แล้ว อยู่ระหว่างลงนามความร่วมมือกับการเคหะแห่งชาติ โดยจะเริ่มนำร่องย้ายผู้อาศัยในบ้านพักศูนย์ดับเพลิงเขตบางรักก่อน เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม การตั้งงบประมาณด้านที่อยู่อาศัยดังกล่าว เพื่อดูแลเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและครอบครัวให้มีที่อยู่อาศัยถาวร สามารถเดินทางไปทำงานได้ ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ก็สามารถพักในบ้านพักของศูนย์ดับเพลิงได้อีกด้วย