วันที่ 17 ต.ค.66 ที่รัฐสภา นายตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การศึกษาและการกีฬา วุฒิสภา กล่าวถึงความห่วงใยคนไทยต่อสถานการณ์สงครามที่ประเทศอิสราเอลว่า สิ่งแรกที่รัฐบาลต้องทบทวนคือเรื่องท่าทีของรัฐบาลต่อสถานการณ์ หากเราไม่เลือกข้างจะส่งผลต่อตัวประกัน และประชาชนคนไทยที่อยู่ในอิสราเอลกว่า 30,000 คน แต่หากเราเลือกข้างเกินไปก็จะส่งผลอันตรายต่อการทูตระหว่างประเทศ และส่งผลต่อความมั่นคงในอนาคต แต่เชื่อว่ารัฐบาลก็ทราบเรื่องนี้อยู่แล้ว และกำลังปรับปรุงท่าที ต่อสถานการณ์ในเวลานี้ ซึ่งตนเห็นด้วยว่าเราไม่ควรเลือกข้างใดข้างหนึ่งให้มาก ควรจะต้องบอกว่าขอให้ทุกฝ่ายได้พูดคุยกัน เพื่อปกป้องคุ้มครองพลเรือนผู้บริสุทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็ตามนี่คือหลักสำคัญ
ส่วนข้อห่วงใยต่อพี่น้องประชาชนคนไทยที่อยู่ในพื้นที่คือ ตัวอย่างของประเทศไทยที่จะต้องกลับไปทบทวน เรื่องส่งคนไปทำงานต่างประเทศ หากเป็นประเทศที่เสี่ยงจะมีหลักประกันใดเพื่อคุ้มครองพลเมืองของเรา ทั้งเรื่องค่าแรง ค่าตอบแทน ความปลอดภัยในการทำงาน ส่วนนักศึกษาไทยที่ได้ส่งนักศึกษาไปให้ความรู้เรื่องการเกษตรที่อิสราเอลจำนวนมาก และการส่งออก ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของอิสราเอล 80 - 90% มาจากฝีมือของเด็กไทยทั้งนั้น โดยมาจากวิทยาลัยการเกษตร ที่อยู่ในอิสราเอล ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่รัฐบาลไทยต้องทบทวน เพราะเรามีวิทยาลัยเกษตรทั่วประเทศ แต่เราไม่สามารถสร้างอาชีพให้คนไทยมีรายได้ มีงานทำได้ทั้งๆที่เราเอานักศึกษาไทยไปช่วยอิสราเอล
“ดังนั้นรัฐบาลควรทบทวน หลักสูตรการศึกษาได้แล้วว่าไม่ต้องมีแล้วปวช. ปวส. แต่ต้องมาพูดถึงหลักความรู้ในการประกอบอาชีพ วิทยาลัยเกษตรบางที่มีครูมากกว่านักเรียน ไม่จำเป็นต้องทำเหมือนกันหมดทั่วประเทศ ซึ่งหลักการพวกนี้มีในอิสราเอล แต่ไทยไม่ได้ทำ เด็กนักศึกษาที่อยู่ในวิทยาลัยเกษตร เรา 79 คน ไม่ใช่สัดส่วนของนักศึกษามหาลัย เป็นคนที่ไปช่วยอิสราเอลทำงานจึงต้องแสดงความห่วงใย จึงไม่แน่ใจว่าใน 79 คนนี้จะเป็นหนึ่งในตัวประกันที่กลุ่มฮามาสจับไปหรือไม่”นายตวง กล่าว
เมื่อถามว่าคนไทยที่มีแนวคิดยอมอยู่ที่อิสราเอลเพื่อแลกกับการเสี่ยงตาย แต่ไม่ยอมอดตาย นายตวง กล่าวว่า เรื่องนี้รัฐบาลต้องมาทบทวนเช่นกัน แรงงานบางคนมองความปลอดภัยในชีวิตมาเป็นอันดับรองความยากจน หากใครไม่เผชิญคงไม่ทราบ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าแรงงานบางคนระบุว่าหากสถานการณ์ปกติก็จะกลับไปทำงานเหมือนเดิม เพราะฉะนั้นรัฐบาลต้องคิดแล้วว่า ความยากจนทำให้คนไปเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายในสงครามได้ ซึ่งแรงงานเหล่านั้นก็เป็นหนึ่งในพลเมืองของเรา ดังนั้นเราต้องดูแลแรงงานกลุ่มที่ไม่ได้รับการดูแลจากผู้ประกอบการดีพอ
รวมถึงแรงงานกลุ่มที่ไม่ได้รับพาสปอร์ต ตนเชื่อว่าในขณะที่ประเทศต่างๆนำพลเรือนกลับมาได้ทั้งหมด แต่ของเรายังต้องอาศัยเงื่อนระยะเวลาทอดยาวออกไปพอสมควร จึงอยากถามว่าพลเมืองอีก 3 หมื่นกว่าคน เราจะทำอย่างไรต่อไปเพราะคนเหล่านี้หาเงินเข้าประเทศ ช่วยสร้างครอบครัวให้มีอาชีพมีรายได้มีงานทำ รัฐบาลก็ได้ภาษีจากคนกลุ่มนี้ ตนเชื่อว่าหากเราจัดสรรระบบให้ดีเราสามารถยกระดับเรื่องความปลอดภัยพลเมืองของเราได้ ดังนั้นสถานการณ์ในอิสราเอลที่เกิดขึ้นทำให้เราได้เรียนรู้อะไรหลายๆอย่าง
เมื่อถามว่าทิศทางการเจรจาปล่อยตัวประกัน นายตวงกล่าวว่า ไทยต้องไม่เลือกข้าง เราควรมองหลักการใหญ่ว่าทำอย่างไรจะสามารถปกป้อง คุ้มครองพลเมืองผู้บริสุทธิ์ ของทั้ง 2 ฝ่าย คือหลักการสำคัญหากเราพูดได้เช่นนี้ เราก็จะสามารถบินข้ามน่านฟ้าเขาได้ เพื่อปกป้องประชากร ทั้งจากประชาคมโลกและจากประเทศต้นทางที่เกิดปัญหา จะต้องไม่นำประเทศและพลเมืองของเราไปสู่ความขัดแย้ง ดังนั้นในช่วงหลังกระทรวงการต่างประเทศได้มีการปรับตัว และ ประเทศไทยต้องปรับระยะห่างของเรื่องนี้ให้ได้ ตนไม่ได้ว่าอะไรใครแต่รัฐบาลที่แล้วทำมาดีแล้ว เช่นระยะห่างกับซาอุดิอาระเบีย แต่ครั้งนี้เราต้องกลับไปคุยกับเขาใหม่ ที่ผ่านมามันดีมากแล้ว แต่กลับกลายเป็นว่าเราต้องไปเริ่มคุยกับซาอุฯใหม่ แต่ในเมื่อมันเกิดปัญหาเราก็ต้องกลับมาเรียนรู้และทบทวน