วันที่ 16 ตุลาคม 2566 ที่ศาลาว่าการ กทม. รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังประชุมผู้บริหาร กทม. ว่า จากการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ข้อสรุปตั้งคณะทำงานร่วมกัน เนื่องจาก กสทช.เคยศึกษาเรื่องระบบการแจ้งเตือนภัยเปรียบเทียบกับประเทศต่าง ๆ เพื่อจะนำมาใช้ในประเทศไทย โดยปัจจุบันกำลังหาพื้นที่ทดลองระบบแจ้งภัยในบางเรื่อง ผ่านข้อความโทรศัพท์มือถือ (SMS) คาดว่ากลางเดือน ม.ค.67 น่าจะเริ่มต้นทดลองได้ เนื่องจากเป็นการเตือนในสภาวะฉุกเฉิน ไม่ใช่การเตือนล่วงหน้า ต้องคัดกรองควบคุมข้อความโดยละเอียดก่อนแจ้งเตือน ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ต้องมีความพร้อมรับสถานการณ์อย่างมากเมื่อส่งข้อความเตือนไปแล้ว จึงต้องใช้เวลาออกแบบ/ปรับปรุงระบบให้มีความพร้อม อยู่ระหว่างดำเนินการ

นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า อำนาจอยู่ที่ กสทช.เพราะเป็นผู้ควบคุมด้านนี้ ส่วนของกทม.ได้ออกแบบระบบทราฟฟี่ ฟองดูว์ พลัส เสร็จแล้ว โดยการเพิ่มช่องทางรับข่าวสาร/เตือน เพื่อให้ประชาชนสามารถกดเลือกรับได้ว่า ต้องการรับข่าวสารหรือรับการแจ้งเหตุหรือไม่ โดยสามารถเลือกพื้นที่ในการรับข่าวสารและรับการแจ้งเหตุได้ เมื่อถึงเวลา ระบบทราฟฟี่ ฟองดูว์ สามารถส่งข้อความไปยังผู้ที่กดเลือกรับได้ สามารถเลือกประเภทเหตุแจ้งเตือนได้ เช่น สภาพอากาศ จราจร ทั้งนี้ ในกรณีฉุกเฉินจริง ๆ กทม.จะส่งถึงทุกคน ซึ่งเป็นรูปแบบที่ออกแบบสำรองไว้ รวมถึง กทม.ได้ออกแบบระบบทราฟฟี่ ฟองดูว์ ภาษาอังกฤษ สำหรับนักท่องเที่ยว เพื่อการร้องเรียนต่าง ๆ เช่น ถูกหลอกค่ารถโดยสารรถสาธารณะ โดย กทม.ออกแบบเป็นคิวอาร์โค้ด ปิดประกาศตามสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ นักท่องเที่ยวสามารถสแกนเข้าไปร้องเรียนได้โดยไม่ต้องใช้แอพพลิเคชั่น โดยการออกแบบทราฟฟี่ ฟองดูว์ พลัส ดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้วทั้งหมด อยู่ระหว่างพิจารณาเรื่องค่าใช้จ่ายกับ กสทช. ประมาณ 4 สตางค์ต่อ 1 ข้อความทางแอพพลิเคชั่นไลน์ คาดว่าจะได้ข้อยุติและเริ่มใช้ระบบได้เร็ว ๆ นี้ ปัจจุบันระบบทราฟฟี่ ฟองดูว์ มีผู้ลงทะเบียนกว่า 4 แสนคน