ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทรนด์รักษ์โลกมาแรง หลายองค์กรในไทยเริ่มตื่นตัวในการวางนโยบาย Sustainability หรือตั้งเป้าเรื่อง Net Zero มากขึ้น สำหรับโฮมโปร โจทย์ของเราไม่ได้มองการเปลี่ยนผ่านไปสู่ Net Zero เท่านั้น แต่ต้องการรวมพลังภาคส่วนต่างๆ เปลี่ยนพันธสัญญาไปให้ถึงการ “ลงมือปฏิบัติ” เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง และล่าสุดได้ ปล่อยแคมเปญ “แลกเก่า เพื่อโลกใหม่” ชวนคนไทยเปลี่ยนของเก่ามาใช้ของใหม่ ที่สำคัญของเก่าที่แลกไปยังถูกนำไปกำจัดอย่างถูกวิธีและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
น.ส.เสาวณีย์ สิราริยกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการกลุ่มการตลาด บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน)เปิดเผยว่า มากไปกว่าแคมเปญที่จัดขึ้นมา สิ่งที่ทำให้เราคำนึงถึง การจัดการสิ่งแวดล้อม การที่นำขยะอิเล็กทรอนิกส์รวมถึงของใช้เก่าต่างๆที่นำกลับมาจากลูกค้า นำมากำจัดได้อย่างถูกต้อง ด้วยวิธีทั้ง Upcycle และ Downcycle มากไปกว่านั้น อีกสิ่งที่เป็นเครื่องยืนยันความตั้งใจของโฮมโปรก็คือ การยึดถือในแง่ของการปฏิบัติตามข้อกฎหมายในการกำจัดของเก่า คัดแยกขยะอย่างเคร่งครัด
โดยล่าสุดได้ร่วมมือกับ กฟผ. และมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ จัดกิจกรรม โครงการส่งเสริมกระบวนการจัดการซากเครื่องปรับอากาศและสารทำความเย็นอย่างถูกวิธี ภายใต้กองทุนนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมทำความเย็น ( EGAT Cooling Innovation FUND : CIF) เพื่อรณรงค์และส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญในการจัดการซากเครื่องปรับอากาศและสารทำความเย็นอย่างถูกกวิธี รวมถึงให้ผู้รวบรวมถอดติดตั้งเครื่องปรับอากาศให้มีวิธีการและอุปกรณ์ดูดกลับสารทำความเย็นอย่างถูกวิธี และเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างความยั่งยืนด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และพลังงาน
ทั้งนี้จากแคมเปญ “แลกเก่า เพื่อโลกใหม่” เราเล็งเห็นว่าการส่งคืนซากผลิตภัณฑ์ นำไปกำจัดอย่างถูกวิธี ผู้ที่มารับของเก่าจากโฮมโปร หรือผู้ที่มานำของเก่าจากโฮมโปรไปทำลาย จะต้องมีใบอนุญาตที่ชัดเจนมีใบรับรองที่ถูกต้องตามกฎหมาย นี่คือความรับผิดชอบต่อสังคมที่โฮมโปรเล็งเห็นว่าจะมองข้ามไม่ได้เลย สำหรับวิธีในการกำจัดของเก่า กลุ่มสินค้าหลักๆ ที่ทาง โฮมโปร ได้ลงไปศึกษาอย่างจริงจังและลึกซึ้งถึงเรื่องการกำจัดและนำกลับไปใช้ใหม่อย่างถูกวิธี อาทิ
“เครื่องใช้ไฟฟ้า” – โฮมโปรนำของเก่าของลูกค้ากลับมาแยกชิ้นส่วน โดยมีผู้ชำนาญ ที่ได้ทำการตรวจสอบแล้วว่ามีการจดทะเบียนอย่างถูกต้อง มีขั้นตอนและกระบวนการให้การแยกชิ้นส่วนอย่างถูกต้อง ไม่ก่อให้เกิดสารเคมีอันตรายลงไปสู่ธรรมชาติ เช่น แยกเหล็ก พลาสติก ทองแดง ฯลฯ ออกจากกันอย่างถูกวิธี นำไปเข้าโรงหลอมโดยไม่ก่อให้เกิดมลพิษ หรือพวกที่เป็นพลาสติก หลังจากแยกแล้วหลอมใหม่กลายเป็นเม็ดรีไซเคิลพลาสติก จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ โดยนำไปหลอมใหม่ Upcycling ให้กลายเป็นสินค้าใหม่นั่นเอง ตัวอย่างที่อยากจะทำ เช่น ทำเป็นกล่องพลาสติก ลิ้นชักพลาสติก กล่องรองเท้า ฯลฯ
“กล่องกระดาษ (Packaging) และสายรัดสินค้า” – เป็นธรรมดาที่ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอะไรก็ต้องใส่กล่องมีแพ็กเกจจิ้ง หรือแม้แต่สตริปสายรัดพลาสติกเครื่องใช้ไฟฟ้าเวลาขนส่งเพื่อไม่ให้หล่นลงมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้พอสินค้าถึงมือผู้บริโภคแล้วก็ต้องทิ้งและกลายเป็นขยะจำนวนมหาศาล เราก็มาคิดต่อว่าจะนำสิ่งเหล่านี้มาทำอะไรต่อได้บ้าง จนกระทั่งทำการศึกษาและค้นพบว่า กล่องกระดาษ หรือแม้แต่ป้ายโฆษณาในห้าง หรือแม้แต่พวกพลาสติกที่เป็นสายรัด ก็นำมาทำเป็นกระเป๋าช้อปปิ้งสีสันสดใสได้เช่นกัน
“สุขภัณฑ์” – เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่เรายินดีรับกลับมาและแยกชิ้นส่วนให้ ซึ่งต้องแยกทั้งเหล็ก พลาสติก และเซรามิกออกมาให้แต่ละส่วนนำไปใช้ประโยชน์แตกต่างกันต่อไป เช่น ลูกพลาสติกนำไปเข้ากระบวนการของพลาสติก เหล็กซึ่งเป็นที่กดน้ำนำไปหลอม ส่วนเนื้อเซรามิก เราก็นำไปทำเป็นอิฐทนไฟ ใช้งานอื่นได้อีกต่อไป อย่างไรก็ตาม
สำหรับ “ที่นอน” ซึ่งต้องบอกว่าตอนนี้เป็นความท้าทายที่ยังไม่สามารถแยกชิ้นส่วนได้อย่างสมบูรณ์ เพราะประกอบไปด้วยหลายส่วนและมีหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น สปริงเหล็ก เนื้อผ้า ฟองน้ำ หรือยางพารา ฯลฯ วิธีการตอนนี้ที่ดีที่สุดก็คือการนำไปเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งจะช่วยลดในส่วนของการใช้เชื้อเพลิงธรรมชาติลงได้อีกทาง รวมไปถึงการที่เราได้ช่วยแบ่งเบาภาระจากผู้บริโภคที่ไม่รู้ว่าจะขนอย่างไรหรือนำไปทิ้งที่ไหน
แคมเปญ “แลกเก่า เพื่อโลกใหม่” เพื่อเป็นการขอบคุณลูกค้าในการที่ได้มาร่วมโครงการและร่วมสร้างสิ่งดีๆ คืนกับโลกใบนี้ก็ได้จัดโปรโมชั่นเล็กๆ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้กับผู้บริโภค โดยเงื่อนไขในการร่วมรายการแคมเปญ ลูกค้าสามารถมานำสินค้าที่มีอยู่ แม้สภาพจะไม่สมบูรณ์ และไม่จำเป็นว่าเป็นสินค้าที่ซื้อจากโฮมโปร ก็สามารถนำมาแลกซื้อสินค้าใหม่พร้อมรับส่วนลดได้ โดยจะมีทีมช่างของโฮมโปร นำสินค้าใหม่ไปติดตั้งให้พร้อมกับรับสินค้าเก่ากลับไปให้จัดการ ให้อย่างถูกวิธีและยั่งยืน นางสาวเสาวณีย์ กล่าวทิ้งท้าย
“หากเราช่วยสังคม สิ่งแวดล้อมได้ เราก็จะพยายามทำทุกอย่างที่ลดภาระ หรือลดการสร้างขยะเพิ่มขึ้น แล้วนำไปจัดการอย่างถูกวิธี มากไปกว่านั้นคือ ผู้บริโภคจะได้ของดีที่ทำให้ชีวิตง่ายขึ้น ดีขึ้นและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น นี่คือความตั้งใจของการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน"