เมื่อวันที่ 16 ต.ค.66  นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียูเฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ ประจำโรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC" ระบุว่า...

ผมเป็นแพทย์รามาฯ รุ่นที่ 2

ขอแชร์ประสบการณ์เพื่อเป็นประโยชน์ต่อแพทย์รุ่นหลัง

การที่ผมทำงานเป็นแพทย์เฉพาะทางโรคทางเดินหายใจ และดูแลรักษาผู้ป่วยหนักในสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 18 ปี ทำให้ผมเปลี่ยนไปกลายเป็นคนกล้าคิด กล้าแสดงออก

ผมกลับเมืองไทยเมื่อ 32 ปีที่แล้ว มาทำงานที่ รพ.วิชัยยุทธ ซึ่งเป็นรพ.เอกชน ตอนกลับมาใหม่ๆ ผมได้เป็นอาจารย์พิเศษสอนนักศึกษาแพทย์ที่รพ.รามาธิบดี สัปดาห์ละครั้งอยู่ 4 ปี หลังจากทำงานมา 10 ปี เริ่มมีเส้นสายคอนเนคชั่นที่ดี รู้จักคน และคุ้นเคยกับสังคมไทยมากขึ้น

ผมได้เห็นความเหลื่อมล้ำการรักษาคนไข้ระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐ เมื่อผมเห็นปัญหาต่างๆ ก็จะพูด เขียน นำเสนอหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อแก้ไข แต่หลังจากถูกเพิกเฉยหรือคัดค้าน ผมก็ได้หาทางริเริ่มลงมือทำงานเพื่อสังคมช่วยประชาชนโดยได้รับการช่วยเหลือจากอาจารย์ และคนไข้หลายๆท่าน และที่สำคัญที่สุด คือ ได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

งานแรก 20 กว่าปีก่อน เมื่อคนไทยเป็นวัณโรค แพทย์ในโรงพยาบาลรัฐรักษาคนไข้โดยไม่ส่งเพาะเชื้อ ไม่ทดสอบความไวของเชื้อวัณโรคต่อยาก่อนเริ่มยารักษาวัณโรค การทำเช่นนี้จะก่อให้เกิดปัญหาวัณโรคดื้อยาในอนาคต ผมได้นำเสนอหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ว่ามันเป็นเรื่องจำเป็นต้องทำ ก็ถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลว่าที่ไม่ทำเพราะต้องใช้เงินมาก ผมได้รับพระราชทานเงินสนับสนุนจากทุนการกุศลสมเด็จย่า เพื่อตั้งทุนวิจัยวัณโรคดื้อยาในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ศิริราชมูลนิธิ ตรวจเพาะเชื้อและหาความไวต่อยารักษาวัณโรคให้ฟรี ผมได้หาเงินทุนเพิ่มเติมเป็น 42 ล้านบาทให้ทุนวิจัยฯ เพื่อใช้ในการดำเนินงานนี้นำร่องระยะแรกให้กระทรวงสาธารณสุข จนขณะนี้การเพาะเชื้อและทดสอบความไวต่อยาก่อนการรักษาวัณโรคทำเป็นเรื่องปกติแล้วสำหรับรพ.รัฐ

งานที่ 2 เมื่อ 20 กว่าปีก่อน คนไข้วัณโรคดื้อยาเกือบทุกชนิดเข้าโรงพยาบาลมาพบผม ไม่ยอมใส่หน้ากาก ผมขอให้คนไข้ใส่เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อให้ผู้อื่นในรพ. เขาปฏิเสธบอกว่าไม่เห็นคนไข้ที่เป็นโรคติดเชื้ออื่นๆในรพ.ใส่หน้ากาก ถ้าเขาใส่คนอื่นจะรังเกียจเขา คนไข้บอกให้ผมไปแนะนำให้คนอื่นใส่ก่อน หน่วยงานของรัฐก็ไม่เห็นด้วย เพราะกลัวกระทบการท่องเที่ยว กลัวไม่มีใครมาเที่ยวเมืองไทย ผมเป็นคนแรกที่ตั้งชื่อ”หน้ากากอนามัย” และเริ่มโครงการรณรงค์ให้คนป่วยด้วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งของทุนวิจัยวัณโรคดื้อยาในพระอุปถัมภ์ฯ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น ขณะนี้คนป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจใส่หน้ากากอนามัยเป็นเรื่องปกติแล้ว

ยังมีต่อครับ