"โฆษกรัฐบาล" ระบุเสียงประชาชนต้องการ "เงินดิจิทัล" เชื่อบรรเทาความเดือดร้อน ต่อยอดสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ ด้าน"ราเมศ" หนุน"ปปช.-สตง."สอบแจกเงินดิจิทัล เตือน"นายกฯ อย่าเมินเสียงทักท้วง หวังผลการเมือง
เมื่อวันที่ 15 ต.ค.66 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยเสียงของประชาชน ที่สนับสนุนนโยบาย 10,000 บาท เงินดิจิทัล ที่มีการแสดงความคิดเห็นกันหลากหลายซึ่งเสียงส่วนใหญ่แสดงความเห็นด้วยเพื่อต่อยอดสร้างอาชีพ และเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับตัวเองและครอบครัว
โฆษกประจำสำนักนายกฯ ยังเปิดเผยข้อมูลจาก IMF ปี 2023 การเติบโต GDP ไทยทรุดหนักสุดฟื้นตัวช้าสุด รวมทั้งข้อมูลจาก ธปท.และสศช. สถานการณ์ประเทศไทย หนี้ครัวเรือนไทยเป็นอันดับ 7 ของโลก ส่งผลกระทบโดยเฉพาะถึงกลุ่มฐานราก สะท้อนว่าประชาชนมีความสามารถในการหารายได้ต่ำลง ซึ่งหมายความว่า ประเทศไทยนอกจากจะฟื้นตัวช้า รายได้ไม่เพียงพอยังมีหนี้ที่ทำให้ไม่สามารถมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น ไม่โตตามศักยภาพ จึงไม่ฟื้นตัวเท่าช่วงก่อนโควิด นโยบาย Digital Wallet นอกจากสร้างโอกาส กระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้ประชาชนเป็นกลไกหลักในการใช้จ่าย ยังเพิ่มโอกาสเพิ่มศักยภาพในการฟื้นตัวของครัวเรือนและของประเทศ
"อยากให้ผู้ที่คิดต่าง เปิดใจ ทำความเข้าใจถึงโอกาสที่จะเกิดขึ้นจากนโยบายนี้เชื่อมั่นว่าประชาชนที่ไม่มีเงินทุนในการตั้งตัวจะสามารถสร้างเป็นอาชีพ เพิ่มรายได้ปรับวิถีชีวิตให้ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสของประชาชนทุกคนที่มีสิทธิ์" นายชัย กล่าว
นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การที่นายกฯ ออกมาอ้อนประชาชนให้เชียร์นโยบายการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ถือว่าเป็นสิทธิของนายกฯ และองคาพยพของรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยที่พยายามออกมาชี้นำประชาชน แต่สิ่งหนึ่งที่นายกฯยังไม่ได้ทำคือการอธิบายด้วยเหตุด้วยผล ให้ความรู้ความเข้าใจที่ไปที่มาของโครงการ ยังไม่มีความชัดเจนไม่ว่าจะเป็นที่มาของเงินว่าจะใช้งบประมาณจากส่วนไหนของงบประมาณแผ่นดิน ขั้นตอนวิธีการในการดำเนินการ จะได้ความคุ้มค่ามากน้อยขนาดไหน นายกฯต้องอธิบายถึงสภาวะการเกิดภาวะเงินเฟ้อว่ามีความเสี่ยงมากน้อยขนาดไหน ข้าวของจะมีราคาสูงขึ้นกว่าปกติหรือไม่ และสาระสำคัญจะไปกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากน้อยขนาดไหน ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
นายราเมศ กล่าวต่อว่า การที่มีหลายฝ่ายมาท้วงติงติติง อย่ามองว่าพวกเขาเหล่านั้นไม่มีเหตุผล ไม่ว่าจะเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่เขามีความเชี่ยวชาญเข้าใจและห่วงใยภาพรวมของประเทศมาตลอดชีวิต รวมถึงหน่วยงานอื่น ๆ ที่ท้วงติงมาด้วยหลักการและเหตุผลที่ดี ซึ่งขณะนี้ก็จะมีผลการสำรวจของความคิดเห็นของสถาบันต่างๆ สิ่งสำคัญเหล่านี้ควรนำมาประกอบการตัดสินใจด้วยว่าจะมีการเดินหน้าต่อหรือไม่อย่างไร หรือควรปรับปรุงแก้ไขมากน้อยแค่ไหน เพราะงบประมาณที่จะนำมาใช้มีจำนวนมาก เชื่อว่านัยยะที่สำคัญคือการหวังผลในทางการเมืองพยายามใช้การปลุกกระแสเพื่อให้เห็นว่าฝ่ายที่สนับสนุนก็มี
ที่สำคัญเมื่อพรรคเพื่อไทยได้ประกาศเป็นนโยบายก็มีความพยายามจะเดินต่อไปให้สุดทาง แต่หลักการของความเป็นผู้นำที่ดีควรยึดหลักการความถูกต้องคือการคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศเป็นที่ตั้ง เชื่อว่าจะทำให้นายกฯตั้งหลักในการคิดได้ อย่าคิดในเชิงการเมืองเพราะสัจธรรมที่แท้จริงการเมืองมาแล้วก็ไป แต่ควรเลือกทิ้งในสิ่งที่ดีไว้ให้กับลูกหลาน ประชาชน อย่าสร้างภาระให้กับประเทศและประชาชน ดูจะง่ายเกินไปที่บอกเพียงว่าถ้านโยบายนี้ผิดพลาดรอบหน้าก็อย่าเลือกพรรคเพื่อไทย เป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงการเห็นแก่ประโยชน์ในทางการเมืองมากกว่าสิ่งอื่นใด
"เสียงท้วงติงที่เพิ่มมากขึ้นรัฐบาลต้องรับฟังอย่างจริงใจ อย่าผลักใสใล่ส่งความเห็นเหล่านั้น เชื่อว่าหากยังยืนยันเดินหน้าต่อไป ผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศมีอย่างแน่นอน ด้วยหลายเหตุผล นโยบายขาดการศึกษาอย่างรอบด้านไม่ละเอียดรอบคอบ คิดเพียงเพื่อใช้ในการหารณรงค์หาเสียง การใช้งบประมาณที่มีจำนวนมากถึง 560,000 ล้าน ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง
อีกหลายเหตุผลที่เห็นได้ว่า นโยบายนี้ได้ไม่คุ้มเสีย ผมสนับสนุนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ตั้งทีมตรวจสอบ เพื่อพิจารณาความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการก่อให้เกิดปัญหาการทุจริต ผลกระทบต่อเสถียรภาพและความมั่นคงอย่างยั่งยืนของฐานะทางการเงินการคลัง ดังนั้นทุกการกระทำของรัฐบาลอนาคตจะเป็นคำตอบแน่นอน" นายราเมศ กล่าว