ที่จังหวัดเชียงใหม่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง และประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และ นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ร่วมพิธีรับเกษตรกรเข้าสู่มาตรการพักชำระหนี้ สำหรับลูกค้ารายย่อยที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้ทุกสัญญารวมกันไม่เกิน 300,000 บาท ณ 30 ก.ย. 2566 โดยมีลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ได้รับสิทธิ์ตามมาตรการกว่า 2 ล้านราย ยอดหนี้ทั้งหมดจำนวน 283,000 ล้านบาท ซึ่ง ธ.ก.ส. เปิดให้บริการตรวจสอบสิทธิ์และแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการผ่านแอปพลิเคชัน “BAAC Mobile” ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.66 – 31 ม.ค.67 โดยติดตามขั้นตอนการปฏิบัติงาน ทั้งการตรวจสอบสิทธิ์ การตรวจสุขภาพหนี้ การทำเอกสารข้อตกลงต่อท้ายสัญญา และการฟื้นฟูศักยภาพในการประกอบอาชีพ ภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” พร้อมเติมสินเชื่อเสริมสภาพคล่องในการประกอบอาชีพ วงเงินไม่เกิน 100,000 บาท เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นในระหว่างการพักชำระหนี้ และป้องกันการก่อหนี้นอกระบบ โดยมีลูกค้า ธ.ก.ส. ที่เข้าร่วมงานกว่า 1,000 คน ณ หอประชุมเทศบาลตำบลสันมหาพล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ความคืบหน้ามาตรการพักชำระหนี้เกษตรกร ในช่วง 10 กว่าวันแรก พบว่ามีเกษตรกรมาลงทะเบียนต่อเนื่องกว่า 4 แสนราย จากเป้าหมาย 2.69 ล้านราย จึงได้มอบหมายให้ผู้จัดการ ธ.ก.ส.ไปเร่งประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะกลุ่มหนี้เสีย ให้มาเข้าโครงการเพิ่มขึ้น เพื่อให้สถานะหนี้กลับสู่ภาวะปกติ และชี้แจงว่าภาครัฐมีกลไกในการช่วยเหลือดูแลอัตราดอกเบี้ย
“หนี้เอ็นพีแอลเข้ามาร่วมไม่มาก อาจยังสื่อสารไม่ดีพอ มอบหมาย ธ.ก.ส. ไปเร่งประชาสัมพันธ์ ติดต่อลูกค้า หากใครต้องการปรับเปลี่ยนสถานะให้เดินมาที่ ธนาคารได้เลย ทั้งนี้ การพักหนี้ในครั้งนี้ ต้องไม่เหมือน 13 ครั้งที่ผ่านมา เมื่อจบโครงการ 3 ปี มูลหนี้ต้องลดลง คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยยอด ลงทะเบียน 4 แสนคนที่ผ่านมาไม่ได้รู้สึกเร็วหรือช้าไป เพราะในส่วนหนี้ปกติ มีที่รู้ตั้งแต่ต้น ว่าคงไม่เข้าโครงการ เพราะมีกำลังชดใช้หนี้สินอยู่แล้ว”
รมช.คลัง กล่าวว่า กลุ่มหนี้เสียปัจจุบัน มีอยู่ประมาณ 5-6 แสนล้านบาท ซึ่งไม่ได้เดินมาที่ธนาคารแล้ว ทำใจแล้ว ธนาคารก็เลิกทวงถาม แต่ถ้าต้องการเข้าถึงแหล่งเงิน ความเป็นหนี้เสียอยู่ในประวัติ บันทึกอยู่บนหน้าผาก ธ.ก.ส.ต้องโทรหาเขา ว่ามีกลไกดูแล ทั้งนี้ ธ.ก.ส.เป็นหน่วยงานที่มีความใกล้ชิดเกษตรกรมาก แตกต่างจาก ธนาคารพาณิชย์อื่น ๆ เพราะเป็นการทำงานเชิงรุก พนักงานเดินทางไปพบลูกค้า ผ่าน ชุมชน อบต. หรือ ผ่านแอพพลิเคชั่น จึงไม่ห่วง
นายฉัตรชัย เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. พร้อมดำเนินการตามมติ ครม. ในการพักชำระหนี้ให้กับเกษตรกรและบุคคลที่มีสถานะเป็นหนี้ปกติและหนี้ค้างชำระ ที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้ทุกสัญญารวมกัน ณ 30 ก.ย. 2566 ไม่เกิน 300,000 บาท โดย ธ.ก.ส. ได้เปิดระบบการแจ้งความประสงค์และตรวจสอบสิทธิ์ผ่านแอปพลิเคชัน BAAC Mobile ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2566 – 31 ม.ค. 2567 ปัจจุบันมีผู้แจ้งความประสงค์แล้วกว่า 246,078 คน (ณ 12 ต.ค. 2566)
ทั้งนี้ ลูกค้าเป้าหมาย 2.69 ล้านรายนั้น แบ่งเป็นลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) 600,000 ราย มูลหนี้ 36,000 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มนี้ปกติเป็นลูกหนี้ที่ติดต่อไม่ได้ ดังนั้นธนาคารจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปพูดคุย เพื่อให้เข้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้ภายใน 3 เดือน หากสำเร็จก็จะสามารถเข้าโครงการพักหนี้ของรัฐบาลได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมาก โดยคาดว่าภายใน 4 เดือน จะมีลูกหนี้สมัครเข้าร่วมโครงการราว 70% ของเป้าหมาย โดยการดำเนินมาตรการในครั้งนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งในการประกอบอาชีพ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพียงพอและสามารถชำระหนี้ได้ ธ.ก.ส. จึงดำเนินการเสริมความรู้ฟื้นฟูทักษะในการประกอบอาชีพให้เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละรายภายใต้แนวทางตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ใหม่
“ ธ.ก.ส.พร้อมสนับสนุนเงินทุนอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนผ่านผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่เหมาะสมในการฟื้นฟูการประกอบอาชีพ วงเงินสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท เพื่อใช้ในการจัดหาปัจจัยการผลิตและเทคโนโลยีการผลิต ช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนและเพิ่มศักยภาพในการผลิตอันนำไปสู่การสร้างรายได้อย่างยั่งยืน”