นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายว่า ได้มอบนโยบายดำเนินการ และติดตามภารกิจของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) โดยนโยบายเร่งด่วนที่ให้ ขบ. ขับเคลื่อนภายในระยะสั้น ๆ (ไม่เกิน 3 ปี) เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางและเพิ่มช่องทางหรือหน่วยบริการประชาชน โดยให้เร่งรัดดำเนินการเพื่อประชาชนและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของภาครัฐ ได้แก่ 1.การชำระภาษีรถประจำปีผ่านระบบออนไลน์ ให้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ เพื่ออำนวยความสะดวกและลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง รวมทั้งเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน โดยมีเป้าหมายที่จะให้ ขบ. เริ่มเปิดให้บริการภายในเดือนมกราคม 2567 เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกจากการเสียภาษีผ่านระบบออนไลน์ ไม่ต้องรอเครื่องหมายการเสียภาษี และสามารถใช้เครื่องหมายการเสียภาษีแบบอิเล็กทรอนิกส์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางและไม่ต้องมาติดต่อที่สำนักงาน ทั้งนี้จากข้อมูลรถจดทะเบียนตามกฎหมายมีกว่า 44 ล้านคัน แต่มีรถที่ชำระภาษีออนไลน์ประมาณ 3.7 % หรือ 8 แสนกว่าคัน จากจำนวนรถที่มีทั้งหมด จึงให้ขบ.ไปเพิ่มสัดส่วนการชำระภาษีออนไลน์ เพื่อลดค่าใช้จ่าย โดยคาดว่าภายในปีงบประมาณ 2567 จะมีประชาชนใช้บริการชำระภาษีรถประจำปีผ่านช่องทางออนไลน์ หรือช่องทาง อินเตอร์เน็ตเพิ่มเป็น 1 ล้านคัน
2. การต่ออายุใบอนุญาตขับรถประเภทต่าง ๆ ให้ ขบ. พิจารณาเพิ่มช่องทางการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนเพิ่มเติม บนพื้นฐานที่ผู้ขับรถจะต้องมีความสามารถในการขับขี่บนท้องถนนได้อย่างปลอดภัย ซึ่งเรื่องนี้ ตนมีข้อสังเกต ปัจจุบันมีจำนวนรถ กว่า 44 ล้านคัน ขณะที่พบว่า มีผู้ถือใบอนุญาตขับรถ (ใบขับขี่) จำนวน 33.3 ล้านใบ ซึ่งมีส่วนต่างกว่า 10 ล้านใบ จึงให้ขบ.ตรวจสอบว่า เกิดจากสาเหตุใดบ้าง เนื่องจากการขับขี่ ที่มีใบขับขี่ถูกต้อง จะเป็นส่วนที่จะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนลงได้
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ปัญหารถแท็กซี่และรถจักรยานยนต์รับจ้าง ที่มีการเรียกร้อง ทั้งจากผู้ประกอบการ เช่น ขอปรับค่าโดยสาร และการบริการผ่านแอปพลิเคชันที่ไม่เป็นธรรม และการร้องเรียนด้านบริการจากประชาชนนั้น เป็นปัญหามหากาพย์ ซึ่งขณะนี้มีการทำแอปฯ เพิ่มความสะดวกการเรียกใช้บริการ และเกิดการแข่งขัน ซึ่งจะเดินหน้าพัฒนาปรับปรุง พร้อมกับการดูแลเรื่องค่าโดยสารที่เป็นธรรม และจัดระเบียบการให้บริการที่ดี โดยจะเร่งแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมฯ ที่มีผู้แทนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ข้อมูลให้ครบทุกมิติ เป็นการร่วมมือกันแก้ปัญหาให้ตรงจุดมากที่สุด โดยจะต้องวางกฎกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการแท็กซี่ รถจักรยานยนต์รับจ้าง มายื่นหนังสือเรียกร้องให้กระทรวงคมนาคมแก้ไข แต่การแก้ปัญหาอาจจะไม่ตรงจุด ทำให้ยังแก้ไม่ได้ ในขณะเดียวกัน ภาครัฐ จะต้องไปดูแลรายเล็กที่ไม่มีทุนไม่มีเทคโนโลยี ให้ได้เข้าถึงแหล่งทุน ที่มีต้นทุนน้อยที่สุดเพื่อสามารถแข่งขันได้
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า นโยบายของรัฐบาลมุ่งเน้นการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารทางรางมากขึ้น เนื่องจากมีต้นทุนต่ำ ส่วนขนส่งทางบกทั้งสินค้าและผู้โดยสารจะต้องเป็นฟีดเดอร์ เชื่อมเข้าสู่ระบบรางได้สะดวก ซึ่งในส่วนการขนส่งสินค้านั้น ขบ.มีโครงการศูนย์ขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนมและศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย ซึ่งได้มอบหมายให้ขบ. บูรณาการร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในการทำแผนเปลี่ยนถ่ายการขนส่งสินค้าจากรถสู่ทางรางมากขึ้น
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า ขบ.รับนโยบายเร่งด่วน ส่วน โครงการศูนย์ขนส่งชายแดน /ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้า 2 แห่งนั้น ขบ.และรฟท.จะมีการลงนามในบันทึกข้อตกลง(MOU) ร่วมกัน เพื่อบูรณาการร่วมกันในเรื่องการบริหารจัดการในรูปแบบฟีดเดอร์ และให้ระบบรางเป็นหลักในการขนส่งของประเทศตามนโยบายโดยทั้ง 2 แห่งมีการกั้นพื้นที่เพื่อต่อเชื่อมกับระบบรางไว้แล้ว โดยศูนย์เปลี่ยนสินค้าเชียงของจะเชื่อมกับรถไฟทางคู่ สายใหม่ ช่วง เด่นชัย - เชียงราย-เชียงของ
สำหรับ โครงการศูนย์ขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม ดำเนินการ คัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (PPP) เรียบร้อยแล้ว รูปแบบ PPP Net Cost ระยะเวลา 30 ปี ปัจจุบัน ขบ.อยู่ระหว่างก่อสร้าง ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ถนน ลานจอด วงเงินรวม 624.08 ล้านบาท (งบผูกพันปี 65-67) ส่วนเอกชน PPP รับผิดชอบก่อสร้างอาคารและส่วนที่เกี่ยวข้องด้านการให้บริการ และโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย ใช้รูปแบบ PPP Net Cost ระยะเวลา 15 ปี ซึ่งอัยการสูงสุด อยู่ระหว่างตรวจร่างสัญญาเพื่อลงนามเอกชนต่อไป ปัจจุบันกำลังก่อสร้างเฟสที่ 2 วงเงินรวม 636 ล้านบาท (งบผูกพันปี 66-68)