กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ออกประกาศขอความร่วมมือช่วยเหลือลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม พร้อมเน้นย้ำมาตรการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการเพื่อรับมือกับปัญหาอุทกภัยด้วยความเห็นอกเห็นใจกัน

นายสมพจน์ กวางแก้ว รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวถึงสถานการณ์อันเกิดจากอิทธิพลของร่องมรสุมทำให้เกิดฝนตกหนักสะสมทั้งประเทศไทยทำให้มีปริมาณน้ำในลำน้ำเพิ่มมากขึ้น บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ส่งผลให้น้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่ ว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน มีความห่วงใยลูกจ้าง นายจ้าง เจ้าของสถานประกอบกิจการที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ เนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลให้สถานประกอบกิจการ นายจ้าง ลูกจ้าง ในหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบไม่สามารถดำเนินกิจการและทำงานได้ตามปกติ และอาจได้รับความเสียหายหรือประสบอันตรายจากอุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องจักร ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจึงได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานออกประกาศ เรื่อง ขอความร่วมมือช่วยเหลือลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบและเดือดร้อนจากภัยธรรมชาติ ลงวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ.2566 เน้นย้ำให้นายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามประกาศดำเนินการตามประกาศอย่างเคร่งครัด 

โดยประกาศดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้นายจ้าง ลูกจ้างร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาในภาวะวิกฤตด้วยความเห็นอกเห็นใจกัน อาทิ กรณีที่อยู่อาศัยของลูกจ้างได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติเป็นเหตุให้เดินทางไปทำงานไม่ได้ หรือมาทำงานสาย ขอความร่วมมือนายจ้างให้ลูกจ้างหยุดงานโดยไม่ถือเป็นวันลาหรือเป็นความผิดต่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้าง ขอให้นายจ้างจัดทำแผนฉุกเฉินกรณีเกิดภัยธรรมชาติ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเผชิญและแก้ไขสถานการณ์ บรรเทาความเดือดร้อนและความสูญเสีย ขอให้คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ของสถานประกอบกิจการ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานปฏิบัติตามแผนฉุกเฉิน ตรวจสอบเกี่ยวกับไฟฟ้า เครื่องจักร อาคารสถานที่ ในสถานประกอบกิจการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภยันตราย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผมได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในพื้นที่ที่ประสบภัย เฝ้าระวังสถานการณ์ และเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับนายจ้างและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว รวมทั้งให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ หากนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบกิจการ ลูกจ้าง มีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทรสายด่วน 1506 กด 3 หรือ 1546