เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา นายไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ รองอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุด ได้มีบันทึกข้อความ ด่วนที่สุด ถึงสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองสิทธิประชาชนระหว่างประเทศ สคช.แจ้งเวียนแนวปฏิบัติกรณีการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนในสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอลความว่า
ด้วยปรากฎข้อเท็จจริงตามสื่อสำนักต่าง ๆ ถึงสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอล ซึ่งส่งผลให้มีคนไทยได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต และมีแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในประเทศอิสราเอลจำนวนกว่า 5,000 คน แจ้งความประสงค์กับสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเทลอาวีฟ ขอกลับประเทศไทย ด้วย พ ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553มาตรา 23(1) กำหนดให้สำนักงานอัยการสูงสุด มีอำนาจหน้าที่ด้านการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน การคุ้มครองป้องกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และการให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน และตามประกาศคณะกรรมการอัยการเรื่อง การแบ่งหน่วยงานและการกำหนดอำนาจและหน้าที่ของหน่วยงานภายในของสำนักงานอัยการสูงสุดพ.ศ. 2563ข้อ 8(35) กำหนดให้ในส่วนกลางเป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือ ทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.) และข้อ 8(61)สำหรับในต่างจังหวัดกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดและสาขา (สคชจ. และ สคชจ. สาขา) เป็นผู้รับผิดชอบให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับแรงงานไทยและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบดังกล่าว
สำนักงานอัยการสูงสุดขอเรียนว่า เพื่อให้การดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวเป็นไปในทางแนวทางเดียวกัน จึงให้ สคชจ. และสคชจ. สาขา ดำเนินการดังต่อไปนี้
1.ให้ สคชจ. และ สคชจ. สาขา ดำเนินการประสานงานไปยังสำนักงานจัดหางานจังหวัด เพื่อขอตรวจสอบรายชื่อ ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ของแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในประเทศอิสราเอล
2.เมื่อ สคชจ. และ สคชจ. สาขา ได้รับรายชื่อจากสำนักงานจัดหางานจังหวัดแล้วให้ดำเนินการติดต่อเพื่อให้คำแนะนำและแจ้งสิทธิทางกฎหมายเฉพาะรายแก่ญาติหรือครอบครัวของแรงงานไทยนั้นอาทิ การแก้ไขปัญหาหนี้สินหรือการจัดการมรดก (ในกรณีที่เห็นสมควร ให้เข้าเยี่ยมและให้ขวัญกำลังใจโดยจัดของที่ระลึกของสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน มอบให้แก่ครอบครัวของแรงงานไทยดังกล่าวด้วย
3.ในกรณีที่ต้องออกเยี่ยมญาติหรือครอบครัวของแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบ หาก สคชจ.และ สคชจ. สาขา มีของที่ระลึก จำนวนไม่เพียงพอแก่การส่งมอบให้แก่ครอบครัวของแรงงานไทยดังกล่าวให้ขอรับการสนับสนุนของที่ระลึกมายัง สคช. ในส่วนกลาง ต่อไป
4. กรณีที่ครอบครัวของแรงงานไทยที่ไปทำงานในประเทศอิสราเอล ยังไม่อาจทราบความเป็นอยู่หรือไม่สามารถติดต่อแรงงานไทยรายใดได้ ให้ สคชจ. หรือ สคชจ. สาขา ให้ความช่วยเหลือโดยประสานงานไปยังกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศหรือให้ความช่วยเหลือ ครอบครัวของแรงงานไทยดังกล่าวในการจัดพิมพ์คำร้องขอรับความช่วยเหลือ โดยเข้าไปในระบบรับเรื่องร้องทุกข์ในว็บไซต์ของกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ ผ่านทางเว็บไชต์ https://ehelp.consulargo.th
5.กรณีที่ไม่อาจติดต่อกรมการกงสุลได้ หรือในกรณีที่ได้ติดต่อกรมการกงสุลแล้วแต่ข้อเท็จจริงมีความยุ่งยากซับซ้อน ให้ประสานงานมายังสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองสิทธิประชาชนระหว่างประเทศ เพื่อร่วมให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนรายนั้น ๆ ต่อไป
6.ให้ สคชจ. และ สคชจ. สาขา รายงานรายชื่อของแรงงานไทยในจังหวัดนั้น ๆ ที่เดินทางไปทำงานในประเทศอิสราเอล และผลการติดต่อทางโทรศัพท์หรือเข้าเยี่ยมให้ขวัญกำลังใจครอบครัวของแรงงานไทยดังกล่าว มายัง สคช. ในส่วนกลางต่อไปเป็นระยะ จึงเรียนมาเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป