บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)

Big Rock รายงานการปฏิรูปประเทศเพียงการรายงานผลการปฏิบัติ

ประเด็นการปฏิรูปประเทศ การปฏิรูปการศึกษา (Educational Reform) มีผู้กล่าวถึงการปฏิรูปการศึกษาไทยตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กันมากว่ามีอะไรใหม่บ้าง จากสมัย สปช.และ สปท. ในช่วงปี 2557-2559 การปฏิรูปด้านการศึกษาถือเป็นวาระแห่งชาติ ที่ต้องปฏิรูปก่อนเป็นลำดับแรก ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 258 จ. ด้านการศึกษา (1)-(4) และมาตรา 261 ให้มีคณะกรรมการที่มีความเป็นอิสระคณะหนึ่งที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง และตามมาตรา 4(1) แห่ง พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ.2548 มาตรา 270 แห่งรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 การดำเนินกิจกรรมภายในปี 2565 หรือช่วงเวลาที่แผนการปฏิรูปประเทศต้องสำเร็จผล โดยการรายงานความคืบหน้าของกิจกรรม Big Rock ทั้ง 62 กิจกรรม ภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ต้องนำเสนอต่อรัฐสภาทุกไตรมาส แต่ในสภาพที่ปรากฏกิจกรรมจำนวนมากแสดงผลการดำเนินการว่าเป็นไปตามแผน ซึ่งอาจไม่ได้แสดงถึงความคืบหน้าในการดำเนินงานอย่างแท้จริง เพียงแต่มีผลในการนำเสนอตัวเลขในเชิงประสบความสำเร็จมากกว่า ทำให้ไม่อาจการประเมินความสำเร็จเชิงประจักษ์ได้ ณ สถานการณ์ปัจจุบัน มาทบทวนเหตุการณ์ล่าสุดในรอบปี 2565 ที่ผ่านมา “เชิงประจักษ์” เกี่ยวกับการดำเนินการปฏิรูปด้านการศึกษาไทย 

เทคโนโลยีการศึกษาที่ผ่านมา

มีหลักสูตรท้องถิ่นนวัตกรรมแห่งทุนท้องถิ่น (2561) จากระบบการศึกษาของไทยปัจจุบัน ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 เจตนาที่จะให้เสรีภาพแต่ละท้องถิ่นสามารถจัดการศึกษาของตนเอง ตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 เป็นการกระจายอำนาจ กำหนดให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีหน้าที่จัดทำสาระของหลักสูตรในส่วนที่เกี่ยวกับสภาพปัญหาในชุมชน สังคม และภูมิปัญญาท้องถิ่น จัดหลักสูตรท้องถิ่น แต่การศึกษาไทยประสบปัญหาที่แปลกแยกจากชุมชน ขาดการร่วมทุกข์ร่วมสุขกับชุมชน เด็กไทยยิ่งเรียนสูง ยิ่งห่างไกลจากชุมชน ไม่รู้จักรากเหง้าของตนเอง ตามที่ นพ.ประเวศ วะสี ว่ามีปัญหา 2 ส่วนใหญ่คือ (1) การแยกชีวิตออกจากการศึกษา ทำให้คนลืมรากเหง้าของตัวเอง เหมือนกับสังคมไทยถูกตัดรากเหง้าทางวัฒนธรรม และ (2) ทำให้สังคมไม่เกิดความสมดุล

การจัดการเรียนการสอน กพฐ. (2565) ด้วย Active Learning หรือกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้ลงมือกระทำ ซึ่ง สพฐ.ได้นำการเรียนรู้ในเรื่องนี้เข้าสู่สถานศึกษาอย่างเต็มรูปแบบแล้ว ส่วนหลักสูตรฐานสมรรถนะได้มีการปรับปรุงไปแล้วในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2561 ซึ่งมุ่งเป้าหลักสูตรฐานสมรรถนะควบคู่ไปกับการเรียนการสอนด้วยกระบวนการ Active Learning ต้องพัฒนาครูเพื่อการลงมือปฏิบัติจริงผ่านกลไกหลักสูตร แผนการเรียนรู้ การวัดและประเมินผลให้ได้ 100%

นอกจากนี้ในสมัยก่อนเทคโนโลยีการสื่อสารทางไกลยังยากลำบาก มีการศึกษาทางไกลผ่านวิทยุ เช่นสมัยก่อนราวปี 2511-2512 มีการเรียนการสอนผ่านทางวิทยุไปยังโรงเรียนต่างๆ เพื่อให้ครูได้สอนตาม โดยเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษ เป็นต้น หรือ ต่อๆ มาใช้ระบบผ่านดาวเทียม ในปี พ.ศ.2560 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารมูลนิธิทางไกลผ่านดาวเทียมในพระบรมราชูปถัมภ์ชุดใหม่ พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงอาคารสถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (Distance Learning Television : DLTV) แห่งใหม่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พัฒนาต่อยอดการดำเนินงานให้ทันสมัย แต่ยังยึดแนวทางของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในปี 2565 ได้ปรับผังการออกอากาศ 15 ช่องสัญญาณตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งออกอากาศตั้งแต่ระดับชั้นปฐมวัยที่ประสบปัญหาการขาดแคลนครูวิชาเอกจำนวนมากจนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เปลี่ยนระบบการออกอากาศ จากระบบความคมชัดมาตรฐาน (Standard Definition : SD) เป็นระบบความคมชัดสูง (High Definition : HD) โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เด็กๆ เกือบทั่วโลกต้องหยุดเรียนในสถานศึกษาเพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค

การปลดล็อกผู้ค้ำประกันกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)

ข่าวเมื่อ 31 สิงหาคม 2565 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ซึ่งคณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว โดยมีทั้งสิ้น 27 มาตรา โดยคณะกรรมาธิการเสียงข้างมาก การพิจารณามาตรา 13 แก้ไข พ.ร.บ.กองทุน กยศ. มาตรา 41 กำหนดให้ผู้กู้เงินกองทุนจะต้องมีผู้ค้ำประกันเงินกู้ มาตรา 44 พ.ร.บ.กองทุน กยศ. เกี่ยวกับผู้กู้ยืมเงินจะต้องมีหน้าที่ชำระเงินกู้ยืมที่ได้รับไปพร้อมทั้งดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมเงินคืนให้กองทุน ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับที่คณะรัฐมนตรี (ครม.)เสนอให้เก็บอัตราดอกเบี้ย 2% แต่ต่อมาคณะ กมธ.เสียงข้างมาก ปรับลดให้เก็บอัตราดอกเบี้ย 0.25% โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของที่ประชุมสภาฯ โดยฝ่ายเสียงข้างน้อยเสนอไม่ให้เก็บดอกเบี้ย และไม่ให้เก็บเบี้ยปรับ ซึ่งผู้จัดการ กยศ. ได้แถลงการณ์เตรียมความพร้อมดำเนินการตามกฎหมายใหม่เปิดเผยสรุปว่า สภาผู้แทนราษฎร ได้มีมติเห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ของวุฒิสภา โดยให้คิดดอกเบี้ยในอัตราไม่เกิน 1% ต่อปี อัตราเบี้ยปรับกรณีผิดนัดชำระไม่เกิน 0.5% ต่อปี และไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันในทุกกรณี ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่ถูกดำเนินคดีแล้วสามารถแปลงหนี้ใหม่ได้ทุกราย กล่าวคือสภาฯ ปลดล็อก 'ผู้ค้ำประกัน' กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ซึ่งในที่สุดเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 และให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป โดย พ.ร.บ.ดังกล่าว กำหนดให้การกู้ยืมเงินจากกองทุน กยศ. ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันทุกกรณี, กำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ กยศ. ไม่เกิน 1% ต่อปี และห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยทบต้น และในกรณีผิดนัดชำระหนี้ให้เรียกเบี้ยปรับได้ไม่เกิน 0.5% ต่อปี เป็นต้นในขณะที่ข่าว (2565) สหรัฐ เตรียมยกเลิกหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษาให้คนละไม่เกิน 1 หมื่นดอลล์

ต้นธารปัญหาการศึกษาไทยเกิดจากความเหลื่อมล้ำทางสังคม

มีผลโพลที่น่าสนใจ จาก ม.สวนดุสิตเกี่ยวกับการศึกษาและครูไทยสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,059 คน ระหว่างวันที่ 16-19 สิงหาคม 2565 พบว่า ประชาชนคิดว่าปัญหาการศึกษาไทย ณ วันนี้ เกิดจาก ความเหลื่อมล้ำทางสังคม 61.19% รองลงมาคือ การบริหารงานของกระทรวงศึกษาธิการ 59.49% โดยเห็นด้วยว่าในช่วงโควิด-19 “ครูไทย” ปรับตัวได้ดีทันกับการเปลี่ยนแปลง 70.71% ปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนา “ครูไทย” คือ เงินเดือนและค่าตอบแทน 65.34 รองลงมาคือการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ต่างๆ เช่น โควิด-19 64.49% ทั้งนี้ครูไทยที่ดีควรรักในอาชีพ มีจิตวิญญาณความเป็นครู 74.98% รองลงมาคือ กล้าที่จะทำอะไรใหม่ๆ ไม่ยึดติดอยู่กับวิธีการแบบเดิมๆ 67.42% และประชาชนมองว่าอาชีพครูยังเป็นอาชีพที่คนอยากเป็น 57.97% รองลงมาคือ ไม่อยากเป็น 40.99% นี่คือปัญหาการศึกษาไทยเกี่ยวกับ “การศึกษาและครูไทย” หลายปีที่ผ่านมา มีสาเหตุของปัญหาการศึกษาไทยยังคงมาจากความเหลื่อมล้ำและการบริหารงานที่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายบ่อยครั้ง

ฝากประเด็นเรื่องการศึกษาไทย

(1) โรงเรียนกับชุมชนหรือท้องถิ่นยังพึ่งพากันและกัน คนท้องถิ่นเอื้อเฟื้อโรงเรียนมาตลอด การถ่ายโอนภารกิจการศึกษาไปให้ท้องถิ่นยังจำเป็น โดยเฉพาะการถ่ายโอนการศึกษาเด็กเล็ก เด็กปฐมวัย แม้กระทั่งเด็กอ่อน นอกจากนี้ หลักสูตรการศึกษาก็ให้เอื้อเฟื้อเจือจุนท้องถิ่นพัฒนาไปด้วยกัน

(2) จำนวนประชากรวัยเด็กที่ลดน้อยลง อัตราการเกิดไทยลดลงมาตั้งแต่ปี 2513 รร.รับเด็กเกิดน้อยลง รร.ขนาดเล็กต้องควบรวม รร. มีปัญหาสัดส่วนอัตราผู้เรียนที่ไปกระทบต่ออัตราบุคลาการ เพราะสังคมไทยเป็นสังคมสูงวัยแล้ว ที่มีสัดส่วนประชากรวัยเกษียณที่มากกว่าประชากรวัยเด็กและวันทำงาน แม้ว่าระบบการศึกษาไทยก้าวสู่ยุคดิจิทัลแล้วก็ตาม จากการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยการพลิกโฉมการศึกษา (Transforming Education Summit 2022 : TES) การพัฒนาการศึกษาเพื่อบรรลุสันติภาพ ความยุติธรรม สิทธิมนุษยชน และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล ต้องจำเป็นและเดินหน้า ท่ามกลางสภาสังคมที่ disrupt สังคมต้องมี resilience โดยเฉพาะครูบาอาจารย์บุคลากรทางการศึกษาด้วย การแย่งชิงตำแหน่ง ชิงความเป็นเลิศ ในสังคมแห่งการแข่งขัน ข้อมูล ป.ป.ช. เรื่องการทุจริต (3 มกราคม 2565) พบว่า 5 หน่วยงานรัฐถูกร้องทุจริตสูงสุด คือกระทรวงศึกษาธิการมาลำดับที่ 4 สื่อความอะไรได้บ้าง สังคมแห่งการแบ่งปันหรือช่วยเหลือกันอาจหลงลืมไปก็ได้ แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของประเทศไทย (2561-2580) เป็นยุทธศาสตร์ชาติฉบับแรกผ่านไปแล้ว 5 ปีแล้ว อันดับทางการศึกษาของประเทศไทยนั้นตกลงไปอยู่ที่ 56 ในการเปรียบเทียบจาก 64 ประเทศทั่วโลก และอยู่อันดับ 8 ในอาเซียน ซึ่งต้องถือว่า “นโยบายการศึกษาล้มเหลว”

(3) เห็นข่าวประเทศจีน ประเทศเกาหลีใต้พยายามปรับปรุงระบบการคัดเลือกเด็กเข้ามหาวิทยาลัยแล้วน่าสนใจ ประเทศไทยระบบดีเพียงใด เพราะข่าวเด็กไทยยังนิยมเรียนต่อมหาวิทยาลัยต่างประเทศ แห่ลาออกกลางคันเทียบวุฒิอเมริกาเป็นต้น ข่าวสถาบันติวโกยเงินจากคนรวย นี่หรือโอกาสของเด็กรวยที่ได้เปรียบ มันเหลื่อมล้ำชัดเลย การเทคโอเว่อร์มหาวิทยาลัยด้วยทุนต่างชาติเมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา คงจะได้เห็นผลในช่วงระยะเวลาต่อๆ ไปนี้ เช่น จำนวนนักศึกษาจีน เวียดนามที่เพิ่มมากขึ้น แม้ นักศึกษาต่างชาติอื่นๆ ก็เช่นกัน เพราะ มหาวิทยาลัยไทยมีสถานที่พร้อม โดยเฉพาะห้องสมุด และอุปกรณ์เทคโนโลยี ที่ชาติอื่นๆ ในภูมิภาคนี้อาจสู้ไม่ได้ เป็นความได้เปรียบในต้นทุนที่ดีกว่า

(7) การคุ้มครองสิทธิพื้นฐานนักเรียน มติ ครม.เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2565 ที่เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดประเภทของสถานศึกษาและการดำเนินการของสถานศึกษาในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... เพื่อคุ้มครองสิทธิด้านการศึกษา นร.-นศ.ตั้งครรภ์ โรงเรียนห้ามกดดันให้ออก ปัญหาเด็กเรียกร้องสิทธิเกินเลย อาจทำให้บุคคลการบริหารป่วน ต้องมีมาตรการที่ดีให้สอดคล้องกับโลดิจิทัลสมัยใหม่ด้วย เช่น การแต่งกาย ทรงผม วิชาที่สอน เทคนิคการสอน การบูลลี่ (Bullying) เด็กเป็นเรื่องต้องห้าม ไปโดยปริยาย เด็กนักเรียนเพศที่สาม เพศทางเลือกหรือ LGBTQ (กลุ่มคนมีความหลากหลายทางเพศ) เด็กที่มีปัญหาสังคมทุกรูปแบบ ต้องได้รับการช่วยเหลือ ไม่เว้นแม้กระทั่งเด็กต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย เด็กไร้สัญชาติ เด็กในกลุ่มเปราะบางในทุกรูปแบบ ตามหลักสิทธิมนุษยชน ไม่ควรปล่อยให้ NGO องค์กรการกุศลเอกชน มูลนิธิ หรือแม้แต่องค์กรสงฆ์ หรือองค์กรภาครัฐไม่ว่าองค์กรใดดำเนินการโดยโดดเดี่ยวที่ไม่มีมาตรการรองรับ รัฐบาลใหม่ชุดปัจจุบันต้องฟังเสียงสะท้อนนี้

จากคำกล่าวของอนันต์ อัศวโภคิน (2563) เจ้าของแลนด์แอนด์เฮาส์ กล่าวถึงความสำคัญของการฝึก "การสร้างนิสัยแห่งความสุข" (มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด, 2016) เพื่อระบบการศึกษาที่ดีต้องมิใช่เพียงให้เรียนเก่ง ด้วยการเร่งยกระดับการศึกษาของชาติ แต่คุณอนันต์ ตั้งคำถามว่า คนที่ประสบความสำเร็จ จะต้องเรียนเก่งจริงหรือไม่ ประเทศไทยเน้นเรื่องการศึกษามาก จนลืมเรื่องความสำคัญของการฝึก "นิสัย" คนไทยควรจะมีนิสัยอย่างไร จึงจะเจริญก้าวหน้าในชีวิต ทุกวันนี้โลกวุ่นวายไม่ใช่เพราะคนไม่มีการศึกษา แต่เพราะคนนิสัยไม่ดี และมีการศึกษาเยอะต่างหาก

นี่ยังไม่รวมถึง การปรับปรุงปฏิรูปการศึกษาในบทบาทของครูไทยที่ประชาชนคาดหวัง คือการเป็นครูที่รักในอาชีพและกล้าที่จะทำสิ่งใหม่อย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้อาชีพครูเป็นอาชีพที่คนไทยอยากเป็น และเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาวงการศึกษาไทย ก็ต้องมีมาตรการส่งเสริมให้ครบวงจรด้วย เพราะครูคือปูชนียบุคคลของสังคม ที่เป็นเบ้าหลอม หล่อหลอมเด็กให้เป็นเด็กดี เป็นเด็กตามที่กรอบของสังคมสมัยใหม่คาดหวัง