เวียนมาบรรจบครบอีกวาระหนึ่ง สำหรับ วันคล้ายวันสวรรคต “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” หรือ “ในหลวงรัชกาลที่ 9” ของปวงชนชาวไทยเรา ในวันที่ 13 ตุลาคมนี้ ซึ่งปีนี้นับเป็นปีที่ 7 แล้ว ที่พระองค์เสด็จสู่สวรรคาลัย

อย่างไรก็ดี แม้พระองค์ได้สวรรคตไปเมื่อเวลา 15.52 น. ของวันที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2559 หรือเมื่อ 7 ปีที่ผ่านพ้นมา ทว่า ถึง ณ เวลานี้ พระราชกรณียกิจด้านต่างๆ ของพระองค์ ยังคงติดตาตรึงใจแก่เหล่าพสกนิกรชาวไทย ตลอดจนบรรดาชาวต่างชาติจากนานาประเทศ และองค์การระหว่างประเทศทั้งหลาย ที่ยังคงแซ่ซ้องสรรเสริญกันอยู่เนืองๆ ด้วยความปลาบปลื้มเป็นล้นพ้นในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ของพระองค์อย่างไม่รู้ลืม

ทั้งนี้ ก็ด้วยนอกจากในประเทศไทย ที่พระองค์มีพระราชกรณียกิจเป็นประการต่างๆ ผ่านโครงการในพระราชดำริจำนวนนับพันโครงการ ในอันที่จะทำให้ประชาชนในชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้คนในพื้นที่ชนบทห่างไกล ได้มีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแล้ว ในส่วนของต่างประเทศ พระองค์ก็มีพระราชกรณียกิจ ในอันที่จะเจริญพระราชไมตรี เพื่อสร้างสรรค์และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จนเป็นที่ประจักษ์ ตลอดช่วงรัชสมัยที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ครองราชย์มาเป็นเวลานานกว่า 70 ปี

โดยพระราชกรณียกิจด้านการต่างประเทศของพระองค์ อาทิเช่น การเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ อย่างไม่เลือกฝ่าย หรือขั้วข้าง ในขณะที่โลกของเรา ณ เวลานี้ อยู่ระหว่างท่ามกลางของการชิงชัยแบ่งฝัก แบ่งฝ่าย เป็นโลก 2 ขั้ว คือ โลกเสรีประชาธิปไตย กับโลกสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ซึ่งพระราชกรณียกิจการเจริญสัมพันธไมตรีข้างต้น ส่งผลให้ประเทศไทยเรา มีมิตรประเทศจากทุกฝ่าย

นอกจากนี้ พระราชกรณีกิจที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนนานาประเทศดังกล่าว ก็ยังเป็นเหตุปัจจัยให้ประเทศไทยของเรา ได้รับการยอมรับสถานะจากประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดาประเทศมหาอำนาจมากขึ้น นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา

ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงสถานะของประเทศไทยในสายตาชาวโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โลกตะวันตก อันได้แก่ สหรัฐอเมริกา และยุโรปตะวันตก ก็ถือว่า ไม่ดีนัก ในช่าวงเวลาดังกล่าว จากการที่ไทยเรา ภายใต้การนำของ “จอมพล ป. พิบูลสงคราม” ไปเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งปรากฏต่อมาในมหายุทธ์ครั้งนั้นว่า ญี่ปุ่น เป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงคราม

โดยพระราชกรณียกิจเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ก็เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปีพุทธศักราช 2502 ไปจนถึงปีพุทธศักราช 2537 ซึ่งประเทศแรกที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปนั้น ก็คือ “สาธารณรัฐเวียดนาม” เมื่อปีพุทธศักราช 2502 ส่วนประเทศสุดท้ายที่พระองค์เสด็จฯ เยือน ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อปีพุทธศักราช 2537 รวมแล้วกว่า 30 ประเทศด้วยกัน ซึ่งในครั้งนี้จะขออัญเชิญพระราชกรณียกิจการเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ พอเป็นสังเขป ได้แก่

การเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศสาธารณรัฐเวียดนาม ระหว่างวันที่ 18-21 ธันวาคม พุทธศักราช 2502 ซึ่งในการนี้ ทรงพบกับประธานาธิบดีโง ดินห์ เดียม แห่งสาธารณรัฐเวียดนาม ณ ทำเนียบประธานาธิบดี ที่กรุงไซ่ง่อน เมืองหลวงของประเทศดังกล่าว

ก่อนที่ในปีถัดมา พระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศอังกฤษ โดยพระองค์ ทรงพบกับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และเจ้าชายฟิลิป ณ พระราชวังบักกิงแฮม กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

ในปีเดียวกันนั้น ก่อนหน้าที่พระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินเยือนอังกฤษนั้น ก็ได้เสด็จฯ เยือนประเทศสหรัฐอเมริกา โดยพระองค์ทรงพบกับประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมืองหลวงของสหรัฐฯ

ในปีพุทธศักราช 2503 นั้น พระองค์ยังได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนราชอาณาจักรสวีเดน โดยพระองค์ทรงพบกับสมเด็จพระราชาธิบดีกุสตาฟ ที่ 6 อดอล์ฟ และสมเด็จพระราชินีหลุยส์ ณ กรุงสตอกโฮล์ม เมืองหลวงของราชอาณาจักรสวีเดน

จากนั้นอีก 3 ปีถัดมา ในปีพุทธศักราช 2506 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศญี่ปุ่น โดยพระองค์ทรงพบกับสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโต และสมเด็จพระจักรพรรดินีทาคามัตสึ ณ พระราชวังในกรุงโตเกียว เมืองหลวงของญี่ปุ่น นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงมีพระราชปฏิสันถารกับสมเด็จพระจักรพรรดิของญี่ปุ่นในรัชกาลองค์ต่อมา อย่างสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ อันสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างสองราชวงศ์อย่างแนบแน่น

ขณะที่ ในการประชุมระดับระหว่างประเทศ เวทีโลก อย่างที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นจีเอ ครั้งที่ 70 ประจำปี 2016 (พ.ศ. 2559) ถวายความอาลัยต่อการสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรีของไทย พร้อมถวายการสดุดียกย่องให้พระองค์เป็น “กษัตริย์นักพัฒนา” ด้วยพระปรีชาสามารถและพระราชกรณียกิจอันเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติเป็นประการต่างๆ