สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์

เรื่องราวความอาถรรพ์และที่มาของเครื่องรางของขลัง นั้น คนส่วนใหญ่ที่เชื่อเรื่องของโชคลางต่างรู้จักกันเป็นอย่างดี และต่างก็แสวงหา ค้นหา อยากได้มาไว้ติดตัว เพื่อความโชคดี ความแคล้วคลาดปลอดภัย หนังเหนียว หรืออะไรก็ตามแต่ ซึ่งเราเรียกของขลังเหล่านี้ว่า ธาตุกายสิทธิ์ ซึ่งมีทั้งที่มีต้นกำเนิดจากตัวคน จากพืช จากสัตว์ หรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อีกมากมาย

“เสือ” จัดเป็นสัตว์นักล่าที่มีความสง่างามในตัวเอง และดูน่าเกรงขาม โดยเฉพาะเสือขนาดใหญ่ จึงได้รับการยกย่องให้เป็น “ราชาแห่งสัตว์ป่า” และเป็น “เจ้าแห่งนักล่า” ตั้งแต่โบราณมา จึงมีความเชื่อกันว่า “เสือ” เป็นสัญลักษณ์แห่งพลังอำนาจและความน่าเกรงขาม โดยเฉพาะ “เสือโคร่ง” ซึ่งเป็นเสือที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ยิ่งวัฒนธรรมทางแถบเอเชียด้วยแล้ว

ยันต์เสือคาบดาบ

ในโหราศาสตร์จีน ถือว่า “เสือ” เป็นหนึ่งใน 12 นักษัตร คือ "ปีขาล" เรียกในภาษาจีนว่า "โฮ่ว" นอกจากนี้ยังมี “ยันต์รูปเสือคาบดาบ” ที่นิยมติดตามหน้าบ้านหรือเหนือบานประตูหรือตามทางแยกต่างๆ โดยเชื่อว่าจะสามารถขับไล่ภูตผีปีศาจหรือสิ่งอัปมงคลต่างๆ ให้ออกไปได้

คนจีนแถบ ฮกเกี้ยน และ กวางตุ้ง นับถือ “เสือ” ว่าเป็นเทพเจ้าแห่งขุนเขาและเจ้าป่า เป็นสัญลักษณ์แห่งความกล้าหาญ เป็นเครื่องหมายของเพศชาย เป็นผู้มีร่างกายสง่างามด้วย อำนาจอันน่าเกรงขาม กล่าวกันว่าชาวจีนที่เกิดใน ‘ปีเสือ’ มักเป็นผู้นำ ในสมัยราชวงศ์ฮั่น เชื่อกันว่า “เสือโคร่ง” เป็นราชาแห่งสัตว์ทั้งหลาย กล่าวกันว่า เมื่อเสืออายุได้ 500 ปี ขนจะกลายเป็นสีขาว ซึ่งกลายเป็นเทพนิยายที่ว่า ‘เสือขาวจะปรากฏ เมื่อฮ่องเต้ทรงตั้งอยู่ในความยุติธรรม ทรงบริหารประเทศด้วยทศพิธราชธรรมมี ความสันติสุขไปทั่วทั้งปฐพี

ยันต์เสือคู่มหาลาภ

 ในสมัยโบราณ ประเทศจีนทางตอนใต้ นิยมแขวนหรือประดับภาพเขียน “เสือโคร่ง” ตามกำแพงพระราชวังหรือตามบ้านเรือน โดยเชื่อว่า เป็นสัญลักษณ์หรือเครื่องรางของขลังที่สามารถป้องกันไฟ โจรผู้ร้าย  และ ภูตผีปีศาจได้ ทั้งยังนับถือ “เสือโคร่ง” เป็น 1 ใน 4 เทพสัตว์ของจีน คือ มังกร หงส์ เต่า และ เสือโคร่ง ซึ่งเป็นเทพสัตว์ที่ประจำทั้งสี่ทิศ เทพเสือโคร่ง” หรือ “ฮ้อเอี๋ย” จะอยู่ประจำทิศตะวันตก

เมื่ออพยพไปที่ใดก็จะนำเอารูปแกะสลักไม้หรือหิน “ฮ้อเอี๋ย” ติดตัว เพื่อความปลอดภัยในการเดินทางข้ามทะเล และก็ปรากฏว่าทุกคนปลอดภัย และเมื่อไปก่อร่างสร้างตัวที่ใด ก็จะสร้างศาลเจ้า เพื่อประดิษฐานเทพเจ้าต่างๆ รวมทั้ง ‘ฮ้อเอี๋ย’      เมื่อชาวจีนอพยพมาทำมาหากินแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงได้นำเทพเจ้า และ ฮ้อเอี๋ย มาด้วย เดิมกล่าวกันว่า ฮ้อเอี๋ย มีหน้าที่พิทักษ์หรือเป็นองครักษ์ให้กับเทพเจ้าองค์สำคัญในศาลเจ้าเท่านั้น แต่ ฮ้อเอี๋ยสามารถขับไล่ภูตผีปีศาจและเฝ้าศาลเจ้า ต่อมาจึงนับถือว่าเป็นเทพเจ้าองค์หนึ่งที่อยู่ในร่างเสือโคร่ง ชาวบ้านจะกราบไหว้เพื่อให้ท่านช่วยขับไล่สิ่งชั่วร้ายและคุ้มครองป้องกันภยันตรายต่างๆ ซึ่งเป็นที่มาของ “ศาลเจ้าพ่อเสือ” ในความเชื่อของจีน

เสือหลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย

สำหรับประเทศไทย “เสือ” มีความหมายโดยปริยายถึง บุคคลที่มีความเก่งกล้า กล้าหาญ หรือดุร้าย จะเห็นได้จากการให้คำขนานนาม เช่น ทหารเสือ, เสือป่า, เสือพราน หรือแม้กระทั่งคำนำหน้าของโจรร้ายในอดีต เช่น เสือดำ, เสือใบ, เสือมเหศวร เป็นต้น

เขี้ยวเสือแกะหลวงพ่อนก วัดสังกะสี

คนโบราณเชื่อกันว่า เสือเป็นสัตว์ที่มีพลังกำลังมาก ตบะเก่งกล้า มีฤทธิ์เดชมาก สามารถปราบผีหรือสิ่งเลวร้ายของชีวิตได้ และยังมีความสง่างาม ความจริงแล้วการใช้ประโยชน์จาก “เสือ” นั้น มีมาเนิ่นนาน อย่างเช่น พระฤาษีที่บวชตามป่าตามเขา ก็จะใช้หนังเสือมาเป็นเครื่องนุ่งห่ม หรือความเชื่อเกี่ยวกับ “การสักยันต์รูปเสือ” ที่มีมาแต่โบร่ำโบราณ เชื่อว่าจะทำให้ผู้สักมีอำนาจบารมี น่าเกรงขาม รวมทั้งด้านเสน่ห์เมตตามหานิยม หรือกลับร้ายกลายเป็นดี เช่น การสักยันต์เสือเผ่น ยันต์เสือเหลียวหลัง หรือ ยันต์เสือคู่ เป็นต้น       

เสือหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพธิ์      

พระเกจิอาจารย์หลายท่านก็มีการนำส่วนต่างๆ ของ “เสือ” มาสร้างเป็นวัตถุมงคลและเครื่องรางของขลัง ไม่ว่าจะเป็น “หนังเสือ” อันหมายถึง ความเหนียว อยู่ยงคงกระพัน  “หน้าผากเสือ” หมายถึง ศูนย์รวมอำนาจทั้งหมด “เขี้ยวเสือ” หมายถึง พลังอำนาจของเสือที่อยู่เหนือทุกสิ่ง “เล็บเสือ” มีไว้จะสมหวัง สามารถจิกอะไรก็ได้ รวมไปถึง ขนและหนวด ก็มีอำนาจสำแดงเดชได้เช่นกัน

 เมื่อนำมาปลุกเสกจากวิทยาอาคมแก่กล้าที่ร่ำเรียนมา ก็ยิ่งเพิ่มพูนอานุภาพเป็นทวีคูณ แต่จะเป็นการได้มาจากเสือที่ตายแล้วเท่านั้น เป็นของสะสมมาจากช่วงที่ออกธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ เป็นเวลานานๆ หรือออกแสวงหาเป็นแรมเดือนแรมปี

ตะกรุดหนังหน้าผากเสือ รุ่นแรก หลวงปู่เจือ วัดกลางบางแก้ว

 มาดูเครื่องรางของขลังจากพระเกจิชื่อดัง ที่ปัจจุบันค่อนข้างจะหาของแท้ๆ ยากมาก

“เขี้ยวเสือ” หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย, หลวงพ่อนก วัดสังกะสี, หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพธิ์, หลวงพ่อเฮงวัดเขาดิน จ.นครสวรรค์, หลวงพ่อมุม วัดนาสัก จ.ชุมพร, หลวงพ่อพัว เกสโร แห่งวัดบางเดือน จ.สุราษฎร์ธานี

“ตะกรุดหนังหน้าผากเสือ” หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก, หลวงปู่เจือ วัดกลางบางแก้ว, หลวงปู่นาค วัดอรุณฯ, หลวงพ่อเที่ยง วัดพระพุทธบาทเขากระโดง, หลวงพ่อเปิ่น วัดบางพระ, ตะกรุดหนังเสือ แกนไม้ หลวงพ่อเต๋ วัดสามง่าม      

“หนังหน้าผากเสือโคร่ง” หลวงพ่อเปิ่น วัดบางพระ,  วัดโฆษิตาราม จ.ชัยนาท, วัดหนองนา จ.สุพรรณบุรี

ตะกรุดหนังเสือหลวงพ่อเปิ่น วัดบางพระ

เครื่องรางหน้ากากเสือ หลวงพ่อล้าน อุดผงฝังตะกรุดและหนังเสือ, ลูกอมเทียนชัยฝังตะกรุดคลุกขนเสือ หลวงพ่อตัด วัดชายนา ปี 2551, ลูกอมขนเสือผสมผงพุทธคุณหลวงพ่อมุม ฯลฯ

ตะกรุดหนังหน้าผากเสือ หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก

“เสือ” นั้น เรียกได้ว่ามีประโยชน์ไปทั้งตัวทั้งในด้านรูปธรรมและนามธรรมทีเดียว ด้าน “นามธรรม” ก็คือพลังอำนาจตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ส่วนในด้าน “รูปธรรม” นั้น ว่ากันว่าทุกส่วนของเสือมีประโยชน์ทั้งสิ้น กล่าวคือ อวัยวะของเสือสามารถกินได้หมด และการกินเสือมีมานานแล้ว มีการบันทึกในจีน 3,000 กว่าปีมาแล้ว กรณีนำชิ้นส่วนของเสือมาทำเป็นยาก็มีบันทึกระบุว่าอยู่ในสมัยราชวงศ์ฮั่น ประมาณ 2,000 ปี มาแล้ว ซึ่งปัจจุบันตำรับยาดังกล่าวได้ถูกประกาศยกเลิกมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2536 แต่ปัจจุบันก็ยังมีการลักลอบซื้อขายในตลาดมืดกันอยู่ด้วยความเชื่อดั้งเดิมที่มีมานั่นเองครับผม

ศาลเจ้าพ่อเสือ ทุ่งสว่าง นครราชสีมา หลวงพ่อมุม วัดนาสัก จ.ชุมพร