ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
โบราณเชื่อว่าชีวิตเรามีพรหมลิขิต แต่สมัยใหม่หลายคนมองว่าชีวิตนี้เราต้องลิขิตเอง
อมรเป็นเพื่อนสนิทคนหนึ่งของผม เราเรียนในคณะและมหาวิทยาลัยเดียวกัน ตั้งแต่ชั้นปี 1 จนกระทั่งจบการศึกษา จากนั้นหลายปีต่อมาก็ทราบว่า อมรจบดอกเตอร์จากสหรัฐอเมริกา แล้วได้ทำงานในหน่วยราชการแห่งหนึ่งอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนที่จะออกมาทำธุรกิจของครอบครัว ซึ่งเป็นกิจการค้าขายสินค้าด้านพลังงานกับต่างประเทศ เขาแต่งงานตั้งแต่ที่กลับจากสหรัฐอเมริกามาใหม่ ๆ กับเจ้าสาวที่มีการหมั้นหมายกันมาตั้งแต่ตอนจบปริญญาตรี และดูเหมือนว่าชีวิตครอบครัวจะดำเนินไปด้วยดี เพียงแต่พวกเขาไม่มีทายาท แต่พวกเขาก็พยายามสร้างสังคมทางด้านอื่น แม้จะไม่ใช่การสร้างครอบครัวของพวกเขาเอง แต่ก็ถือว่าเป็นความภาคภูมิใจที่พวกเขาได้กระทำไปเช่นนั้น
เอมอรคือภรรยาของอมร ครอบครัวของเอมอรเป็นตระกูลคนจีนที่มีชื่อเสียงมาตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ส่วนครอบครัวของอมรอาจจะเรียกได้ว่าเป็น “เศรษฐีใหม่” ที่เติบโตมาในทางธุรกิจหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยครอบครัวของคนทั้งสองได้มีความสนิทสนมกันมาตั้งแต่รุ่นคุณปู่คุณย่า ด้วยการร่วมทุนทำการค้าขายกับญี่ปุ่น ที่แม้จะพ่ายแพ้สงครามทางทหาร แต่กลับมีชัยชนะในสงครามทางการค้าขาย โดยสามารถยึดตลาดอุตสาหกรรมใหญ่ ๆ ในประเทศไทย ตั้งแต่สบู่และยาสีฟัน ไปจนถึงรถยนต์และเครื่องจักรต่าง ๆ แต่การทำธุรกิจของพ่อค้าคนไทยกับญี่ปุ่นนี้ก็ไม่ใช่ว่าใคร ๆ จะทำได้ได้ง่าย ๆ เพราะต้องอาศัยเส้นสายในทางราชการ ที่ในยุคนั้นทหารและข้าราชการมีอำนาจในทุกวงการ แม้แต่ในทางธุรกิจ ที่ทหารและข้าราชการก็ลงมาร่วม “ทำมาหากิน” กับนักธุรกิจทั้งหลายด้วย ถึงขนาดที่เข้าไปลงทุนและแอบแฝงเข้าไปบริหารบริษัทต่าง ๆ นั้นด้วย จนมีการเรียกสังคมในยุคนั้นว่า “ยุคนายทุนขุนศึก”
ช่วงนั้นประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีชื่อ จอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยทหารได้เข้าควบคุมกลไกการบริหารราชการแผ่นดินในทุกส่วน พร้อมกันนั้นทหารเองก็เข้าไปทำธุรกิจแข่งกับเอกชน นั่นก็คือการตั้งรัฐวิสาหกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น น้ำมัน แบตเตอรี่ อาหารกระป๋อง เสื้อผ้า และร้องเท้า โดยให้เหตุผลว่าเพื่อเป็นการเริ่มต้นหรือเป็นต้นแบบให้อุตสาหกรรมและการค้าต่าง ๆ ของคนไทย รวมถึงหากมีสงครามเกิดขึ้นอีก ประเทศไทยจะได้ไม่ขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคเหล่านั้น (แต่ต่อมาก็แข่งขันกับเอกชนไม่ได้ต้องเลิกหรือขายกิจการไป ปัจจุบันนี้น่าจะเหลือแต่กิจการน้ำมัน ที่ตอนแรกตั้งเป็นบริษัทน้ำมันสามทหาร ที่ต่อมาก็ถูกแปรรูปเป็นบริษัท ปตท. อย่างในทุกวันนี้) แต่ความจริงนั้นยังมีเหตุผลแอบแฝงคือ เพื่อให้นายทหารใหญ่ ๆ ได้มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยการเข้าไปเป็นผู้บริหารหรือกรรมการในรัฐวิสาหกิจและกิจการค้าเหล่านั้น ยิ่งไปกว่านั้นยังเข้าไปแทรกแซงในกิจการของเอกชนจำนวนมาก เช่น เข้าไปถือหุ้นในธนาคารและบริษัทต่าง ๆ อย่างที่เรียกว่า “หุ้นลม” จนถึงเข้าไปประกอบธุรกิจร่วมกับเอกชน เช่น นายทหารสายซอยราชครู ที่ลูกหลานในรุ่นต่อ ๆ มาได้เติบโตเป็นนักธุรกิจ จนถึงเป็นนักการเมืองและเทคโนแครตในรุ่นใหม่ ๆ
กิจการของครอบครัวทั้งของอมรและเอมอรก็เติบโตมาภายใต้บรรยากาศทางสังคมแบบนั้น และดูเหมือนจะเติบโตมาได้ด้วยดี เพราะในครอบครัวของเอมอรเองก็มีหลายคนที่เข้าไปมีชื่อเสียงอยู่ในแวดงวงทางการเมืองและทางราชการนั้นด้วย ส่วนครอบครัวของอมรนั้นมุ่งเน้นแต่ในทางธุรกิจเป็นหลัก ลูกหลานในรุ่นต่อ ๆ มาจึงไม่ได้เข้าไปรับราชการหรือทำงานการเมือง แต่กระนั้นก็มีความใกล้ชิดอยู่ในแวดวงทั้งสองผ่านครอบครัวของเอมอร ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นญาติสนิทกันมากขึ้นแล้ว ด้วยการแต่งงานกันระหว่างตระกูลทั้งสอง อย่างที่อมรได้แต่งงานกับเอมอรนั้น
อมรเล่าให้ผมฟังว่า เขากับเอมอรเติบโตมาด้วยกัน และรู้จักกันมาอย่างสนิทสนมตั้งแต่ที่ยังจำความได้ ชื่อของเขาทั้งสองคนก็ยังคล้ายคลึงกัน นัยว่าพ่อแม่ทั้งของเขาและของเอมอรน่าจะตั้งใจตั้งชื่อลูกของทั้งสองครอบครัวที่เกิดมาในเวลาที่ไล่เลี่ยกันให้คล้าย ๆ กัน อีกทั้งบ้านของทั้งสองครอบครัวก็อยู่ในย่านที่ใกล้เคียงกัน ทั้งบ้านที่กรุงเทพฯซึ่งอยู่ละแวกซอยบนถนนสีลม กับบ้านที่หัวหินที่อยู่ติดกันบนชายหาด เด็ก ๆ ในบ้านของทั้งสองครอบครัวจึงเป็นเพื่อนเล่นกันมาตั้งแต่เล็ก ๆ แม้กระทั่งเมื่อเติบโตมาหลายคนก็เรียนในมหาวิทยาลัยเดียวกัน อีกทั้งไปเรียนต่อยังต่างประเทศในมหาวิทยาลัยเดียวกันนั้นด้วย ซึ่งก็แน่นอนว่าจะต้องเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงและมีค่าเล่าเรียนแพง ๆ นั้นด้วย
อมรกับเอมอรเริ่มเรียนหนังสือในโรงเรียนอนุบาลเดียวกันและอยู่ห้องเดียวกัน พอขึ้นชั้นประถมก็เข้าเรียนในโรงเรียนสาธิตแห่งเดียวกันและเรียนห้องเดียวกันเช่นเคย แต่พอขึ้นชั้นมัธยมต้นก็แยกกันไปคนละโรงเรียน โดยเอมอรไปเข้าเรียนที่โรงเรียนเฉพาะสตรีที่มีชื่อเสียงเก่าแก่ ส่วนอมรก็เข้าเรียนที่โรงเรียนชายล้วนของโบสถ์ฝรั่งเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งเช่นกัน จนกระทั่งจบมัธยมปลายก็สอบเข้าได้ที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน แต่เป็นคนละคณะ โดยเอมอรได้คณะบัญชี ส่วนอมรได้คณะรัฐศาสตร์ กระนั้นจะไปเรียนต่อมปริญญาโทที่สหรัฐอเมริกา เอมอรก็ไปเรียนไม่ได้ เพราะเกิดป่วยกระเสาะกระแสะ แต่ก็ได้เรียนในมหาวิทยาลัยเดิมจนจบปริญญาโท ในขณะที่อมรใช้เวลาเรียนที่สหรัฐอเมริกากว่า 5 ปี จนจบปริญญาเอก
ตอนที่ทั้งคู่รับปริญญาแล้ว ครอบครัวของทั้งสองคนได้ทำพิธีหมั้นหมายกันไว้ก่อนแล้ว ดังนั้นเมื่ออมรกลับมาจากสหรัฐอเมริกาก็ได้เข้าสู่พิธีแต่งงานกับเอมอรในทันที ซึ่งได้จัดขึ้นอย่างหรูหราสมฐานะของทั้งสองครอบครัว โดยญาติผู้ใหญ่ของทั้งคู่ต่างก็ให้พรให้ทั้งคู่ครองความรักกันให้หวานชื่นยืนนาน มีครอบครัวที่สุขสมบูรณ์ “มีลูกเต็มบ้าน มีหลานเต็มเมือง” ถือไม้เท้ายอดทอง กระบองยอดเพชร ฯลฯ ซึ่งทุกอย่างก็เป็นไปดั่งพรที่ให้ มีเพียงแต่ลูกและหลานเท่านั้นที่ไม่เต็มบ้านเต็มเมือง เพราะทั้งคู่ไม่สามารถจะมีบุตรได้
เพื่อน ๆ มีการวิเคราะห์หาสาเหตุของการไม่มีบุตรของคู่นี้ว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้จากการบกพร่องทางร่างกาย เพราะตัวอมรเองก็เป็นนักกีฬา เล่นรักบี้และกรีฑาหลายอย่าง รูปร่างก็สูงใหญ่เป็นแมนมาก ในขณะที่เอมอรแม้จะเป็นสาวตัวเล็ก เอวบางร่างน้อย แต่ก็ไม่มีความบกพร่องเรื่องการเจริญพันธุ์หรือความเป็นแม่ แม้ว่าจะเคยป่วยกระเสาะกระแสะ ก็เป็นเรื่องของไข้เจ็บที่ระบาดตามฤดูกาล ไม่ใช่โรคที่จะทำให้เกิดความบกพร่องในอวัยวะใด ๆ บ้างก็อ้างไสยศาสตร์เป็นตุเป็นตะว่า สังคมไทยกำลังโดนคำสาป คนรวยมีลูกยาก คนจนมีลูกมาก “อย่างที่เขาว่า คนรวยก็รวยเอา ๆ คนจนก็จนเอา ๆ”
เอมอรเริ่มอาชีพของครอบครัวด้วยการเป็นสาวออฟฟิศในห้างสรรพสินค้าที่ครอบครัวของเธอถือหุ้นใหญ่ ดูแลด้านการจัดซื้อจัดจ้างและบัญชีการเงินต่าง ๆ และบ่อยครั้งก็ต้องบินไปต่างประเทศเพื่อเจรจาธุรกิจจัดหาสินค้าต่าง ๆ ของต่างประเทศนั้นมาขายที่ห้าง ซึ่งโดยรสนิยมของครอบครัวก็เป็นการยืนยันถึงคุณภาพของสินค้าเหล่านั้น ที่ส่วนใหญ่ก็เป็นสินค้าแบรนด์เนมและมีราคาสูง อันเป็นเอกลักษณ์หรือหน้าตาของห้างประจำตระกูลเธอนั่นเอง
มีคนอิจฉาชีวิตคู่ของคนทั้งสองนี้มาก ซึ่งตลอด 30 กว่าปีนี้ทั้งคู่ต้องช่วยกันประคับประคองอย่างหนัก และความจริงน่าจะเป็นชีวิตคู่ที่ควรเห็นใจและเอาใจช่วยนั้นมากกว่า