คปภ. ลงพื้นที่ทันทีให้ความช่วยเหลือด้านประกันภัย กรณีเกิดเหตุสลด! อุบัติเหตุ “รถกระบะชนกัน” เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 8 ราย บาดเจ็บ 3 คน ที่จังหวัดนราธิวาส

จากกรณีได้เกิดอุบัติเหตุเหตุสลดรถกระบะกำลังเดินทางกลับมาจากในตัวเมืองนราธิวาส ขับมาถึงถนนบ้านบาโงระนะ ต.มารือโบตก อ.ระแงะ รถได้เสียหลักชนกัน​ และไปชนต้นไม้​ จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายราย

 

วันที่​ 12​ ต.ค.66​ มีความคืบหน้าล่าสุดต่อเรื่องนี้​ โดยดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) ได้เปิดเผยว่า จากกรณีรถยนต์กระบะหมายทะเบียน บฉ 2400 นราธิวาส เกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนกับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บต 4091 นราธิวาส และเสียหลักไปกระแทกกับต้นไม้ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต จำนวน 8 ราย และบาดเจ็บ 3 คน เหตุเกิดบริเวณบ้านกูแบบาเดาะ หมู่ที่ 7 ตำบลมะรือโบตก อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2566 นั้น เบื้องต้นได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ บูรณาการร่วมกับสายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค สำนักงาน คปภ. ภาค 9 (สงขลา) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดนราธิวาส ในฐานะเจ้าของพื้นที่เกิดเหตุ ตรวจสอบการทำประกันภัยพร้อมเร่งอำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับผู้ประสบภัย ตลอดจนติดตามรายงานความเสียหายอย่างเร่งด่วนผ่าน Platform การรายงานข้อมูลกรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งให้ลงพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับผู้ประสบภัยและครอบครัวอย่างเต็มที่ เพื่อให้ระบบประกันภัยช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม


ทั้งนี้ ได้รับรายงานจากสำนักงาน คปภ. จังหวัดนราธิวาส ว่ารถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บฉ 2400 นราธิวาส ได้ทำประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ไว้กับบริษัท ไทยไพบูลย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มต้นคุ้มครองวันที่ 29 มีนาคม 2566 สิ้นสุดวันที่ 20 มิถุนายน 2567 โดยคุ้มครองกรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง 500,000 บาทต่อคน กรณีบาดเจ็บสูงสุดไม่เกิน 80,000 บาทต่อคน กรณีสูญเสียอวัยวะ 200,000 - 500,000 บาทต่อคน กรณีทุพพลภาพอย่างถาวร 300,000 บาทต่อคน และกรณีเข้ารักษาในสถานพยาบาลในฐานะคนไข้ใน จะได้รับค่าชดเชยรายวัน 200 บาทต่อวัน รวมกันไม่เกิน 20 วัน โดยไม่พบข้อมูลการทำประกันภัยรถภาคสมัครใจ


ส่วนรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บต 4091 นราธิวาส ได้ทำประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ไว้กับบริษัท อินทรประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มต้นคุ้มครองวันที่ 26 ตุลาคม 2565 สิ้นสุดวันที่ 26 ตุลาคม 2566 โดยคุ้มครองกรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง 500,000 บาทต่อคน กรณีบาดเจ็บสูงสุดไม่เกิน 80,000 บาทต่อคน กรณีสูญเสียอวัยวะ 200,000 - 500,000 บาทต่อคน กรณีทุพพลภาพอย่างถาวร 300,000 บาทต่อคน และกรณีเข้ารักษาในสถานพยาบาลในฐานะคนไข้ใน จะได้รับค่าชดเชยรายวัน 200 บาทต่อวัน รวมกันไม่เกิน 20 วัน โดยไม่พบข้อมูลการทำประกันภัยรถภาคสมัครใจ


สำหรับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนของผู้เสียชีวิต ซึ่งเป็นผู้โดยสารรถยนต์กระบะหมายทะเบียน บฉ 2400 นราธิวาส ทั้ง 7 ราย ในเบื้องต้นครอบครัวผู้เสียชีวิตจะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากการประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) รายละ 500,000 บาท และกรณีของผู้ขับขี่ที่เสียชีวิตเบื้องต้นครอบครัวผู้เสียชีวิตจะได้รับค่าปลงศพจากการประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) จำนวน 35,000 บาท ทั้งนี้ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดนราธิวาส สำนักงาน คปภ. จังหวัดนราธิวาส ได้ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกประสานงานบริษัทประกันภัยเพื่อให้การจ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นไปอย่างรวดเร็วแล้ว


ในส่วนของผู้บาดเจ็บ 3 ราย ที่ถูกนำส่งเข้ารักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. จังหวัดนราธิวาส ได้ประสานกับบริษัทประกันภัยเข้าไปอำนวยความสะดวกและรับรองสิทธิค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้นกับโรงพยาบาลโดยตรง โดยผู้บาดเจ็บไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาแต่อย่างใด 


นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. จะบูรณาการการทำงานร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อตรวจสอบเพิ่มเติมว่า ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บในอุบัติเหตุครั้งนี้มีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ ไว้ด้วยหรือไม่ หากตรวจสอบพบภายหลังว่าผู้ประสบภัยมีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพิ่มเติมอีก ก็จะช่วยประสานงานให้ได้รับค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมตามสัญญาประกันภัยที่ระบุไว้


“สำนักงาน คปภ. ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและมีความห่วงใยต่อผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุครั้งนี้ พร้อมจะดูแลในด้านประกันภัยอย่างเต็มที่ ทั้งนี้อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลาและกับทุกคน โดยเฉพาะการเดินทางในช่วงฝนตก จึงขอให้ผู้ใช้รถตรวจสอบสภาพความพร้อมของรถ รวมทั้งเมาแล้วต้องไม่ขับรถ ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด และเพื่อความอุ่นใจ ควรให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยเพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงภัย โดยเฉพาะการประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) การประกันภัยรถภาคสมัครใจ และการประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพื่อให้ระบบประกันภัยช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมด้านประกันภัย ติดต่อสายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย