นครพนม  โอเล่ หนุ่มวัย 30 ปี แรงงานไทย ชาว อ.ปลาปาก ทำงานในอิสราเอล แชทวีดีโอคอลยืนยันรอดชีวิต จากสงคราม สุดระทึกยิ่งกว่าในภาพยนต์สงคราม หนีกระสุนปืน หนีระเบิด โชคดีแชทแจ้งพิกัดกับ อาจารย์เคยสอน ประสานสถานทูต ก่อนทางการรัฐบาลอิสราเอลระดมทหารช่วยเหลืออพยพ ไปอยู่พื้นที่ปลอดภัย ได้คิวกลับไทย 15 ตุลาคม นี้ ฝากประณามกลุ่มก่อการร้าย ทำร้ายคนไทยสุดโหด ทั้งที่ไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง ยืนยันยอมทิ้งค่าจ้าง กลับไทยเอาชีวิตรอด

เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ จ.นครพนม ยังมีแรงงานไทยในอิสราเอลจำนวนมาก ที่พยายามติดต่อผ่านแชทเฟสบุ๊ค วีดีโอคอลมาแจ้งข่าวทางญาติพี่น้อง และครับครัว ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์สงครามระหว่าง รัฐบาลอิสราเอล กับ กลุ่มทหารฮามาส จนเกิดภัยสงคราม โดยจากข้อมูลของ สำนักงานแรงงานจังหวัดนครพนม พบมียอดแรงงานชาวนครพนม ในอิสราเอล รวมกว่า 2,100 คน ล่าสุดมียอดแรงงานที่อยู่ในพื้นที่ชายแดน และเป็นพื้นที่สีแดง รวมกว่า 330 คน ส่วนคนที่ถูกจับเป็นตัวประกันขาดการติดต่อ มีจำนวน 5 คน

ขณะเดียวกันมีมีกลุ่มแรงงานไทยในอิสราเอล ที่ประสบภัยสงคราม อยู่ในพื้นที่เสี่ยง พยายามติดต่อความความช่วยเหลือมายังญาติพี่น้อง รวมถึงคนรู้จัก เพื่อช่วยติดต่อ เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง สถานทูต ทั้งรัฐบาลไทย รวมถึงรัฐบาลอิสราเอล เข้าไปช่วยเหลือกรณีติดอยู่ในพื้นที่สีแดง เป็นชายแดนที่มีการรบของทหาร ติดอาวุธหนัก เช่นเดียวกันกับ นายชลวิทย์ สุธา อายุ 30 ปี โอเล่ แรงงานไทยชาว บ้านกอก อ.ปลาปาก จ.นครพนม ได้แชทวีดีโอคอลมายืนยัน ความปลอดภัย และสะท้อนความเป็นอยู่ ของกลุ่มเพื่อนแรงงาน รวม 32 คน มี ชาวนครพนม รวม 5 คน ปัจจุบันได้รับการช่วยเหลือจากทหารอิสราเอล นำไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย เพื่อรอคิวเดินทางกลับไทย ในวันที่ 15 ตุลาคม 2566

ทั้งนี้ นายชลวิทย์ สุธา อายุ 30 ปี โอเล่ แรงงานไทยชาว บ้านกอก อ.ปลาปาก จ.นครพนม เปิดเผย ผ่านแชทวีดีโอคอลเฟสบุ๊ค พร้อมส่งคลิป สภาพความเป็นอยู่ นาทีชีวิตหลบภัยสงคราม และเปิดใจ สะท้อนผ่านสื่อ ว่า ตนไปทำงานที่ฟาร์มเกษตร รวม 4 ปี จากกำหนดสัญญารวม 5 ปี เหลืออีก 1 ปี หวังกอบโกยเงินเพื่อไปสร้างฐานะครอบครัวที่ไทย แต่เกิดภัยสงครามก่อน ต้องยอมทิ้งเงิน ทิ้งอนาคตเพื่อเอาชีวิตรอดไปดูแลครอบครัว เท่าที่ทราบมาเหตุการณ์ครั้งนี้รุนแรงที่สุดที่เกิดความขัดแย้งในประเทศอิสราเอล กับ กลุ่มฮามาส เพราะช่วงที่ผ่านมาเคยเกิดเหตุปะทะ แต่ไม่รุนแรง ตั้งแต่วันเกิดเหตุ มีการโจมตี ทั้งทางอากาศ รวมถึงทางบก ที่สำคัญกลุ่มทหารฮามาส จู่โจมเข้าทำร้ายกราดยิงแรงงานไทย ใครโชคดีรอดชีวิต โชคร้ายถูกฆ่าตาย ไม่ทันตั้งตัว และเป็นการก่อเหตุที่โหดเหี้ยม โชคดียังสามารถติดต่อญาติพี่น้อง รวมถึงได้ติดต่ออาจารย์ที่เคยสอนในมหาวิทยาลัยนครพนม ผ่านแชทเฟสบุ๊ค ประสานงานทางสถานทูต ให้ทางการทหารอิสราเอล เข้าไปช่วยเหลืออพยพย้ายออกมาจากจุดชายแดน พื้นที่สีแดง โดยต้องหลบภัย ถูกตัดน้ำตัดไฟ ขาดอาหาร มา 3-4 วัน ต้องวิ่งหลบลูกปืน หลบระเบิด ในกลุ่มเพื่อนแรงงานไทยอยู่ด้วยกัน รวม 32 คน ล่าสุดปลอดภัยทั้งหมด ได้คิวกลับไทย ในวันที่ 15 ตุลาคม 2566 ถึงเหลือสัญญา หรือสงครามสงบ ไม่ขอทำงานต่อ เงินมากขนาดไหนแต่ขอเลือกเอาชีวิตรอดกลับไปดูแลครอบครัว และไม่ขอมาทำงานอีก ไม่คิดว่าจะเลวร้ายขนาดนี้ อยากกลับไทยให้เร็วที่สุด เพราะสงครามครั้งนี้ไม่เพียงเป็นการรบระหว่างทหาร แต่เป็นการเข่นฆ่าแรงงานไทยแบบโหดเหี้ยม ทั้งที่ไม่เกี่ยวข้อง ต้องขอประณามการก่อเหตุครั้งนี้

 

ด้าน นายสนธยา คำจันทร์ อายุ 40 ปี อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยนครพนม ปัจจุบันเป็นพนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นครพนม เปิดเผยว่า ช่วงเกิดเหตุตนได้ติดตามข่าวสาร เหตุสงครามในประเทศอิสราเอล ตลอด และมีความเป็นห่วงหลังทราบข่าวลูกศิษย์ ที่รู้จักกัน คือ นายโอเล่ ชาว อ.ปลาปาก จ.นครพนม ที่ไปทำงานฟาร์มเกษตร ได้โพสต์เฟสบุ๊คขอความช่วยเหลือ ก่อนที่จะทักแชทไปสอบถามความเป็นอยู่ และขอให้ช่วยประสาน ทางรัฐบาลไทย รวมถึงหน่วยงานเกี่ยวข้อง สถานทูต และฝ่ายรัฐบาลอิสราเอล นำทหารเข้าไปช่วยเหลือ พร้อมแจ้งพิกัดที่อยู่หลบภัย จึงได้แจ้งข้อมูลไปยังสถานทูต ประสานการช่วยเหลือ ต่อมาไม่กี่ชั่วโมงทราบข่าว ลูกศิษย์ได้รับการช่วยเหลือจากทหารอิสราเอล ดีใจมาก และขอให้ได้รับกรช่วยเหลือกลับไทยโดยเร็ว ตนคิดว่าสำคัญที่สุดจะต้องเร่งช่วยเหลือคนไทยที่ติดอยู่ในพื้นที่เสี่ยง เพราะเชื่อว่าน่าจะมีอีกจำนวนมาก หากปล่อยไว้นานกลัวไม่ปลอดภัย