15 คนไทย ผู้บาดเจ็บและที่ได้รับผลกระทบสงครามตะวันออกกลางใน "อิสราเอล" กลับถึงไทยอย่างปลอดภัยพ่อ-แม่ร่ำไห้โผกอดลูกแน่น ก่อนนำตัวเข้าคัดกรอง ตรวจร่างกาย-จิตใจ ที่สถาบันบำราศนราดูร จากนั้นอนุญาตให้กลับบ้าน พิพัฒน์ขอแรงงานไทยคำนึงความปลอดภัยเป็นอันดันแรก พร้อมสั่งทูตแรงงานในอิสราเอลประสานนายจ้าง จ่ายเงินค้างจ่าย-รับกลับเข้าทำงานหลังเหตุการณ์สงบ สุทิน แย้มแผนสองอพยพคนไทยในจุดเสี่ยงไปที่ประเทศดูไบก่อน สรุปยอดคนไทยเสียชีวิตแล้ว  21 ราย 

     ที่สนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 12 ต.ค.66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน  ได้พาครอบครัวของแรงงานไทย ที่ทำงานในอิสราเอลมารอรับแรงงานไทยทั้ง 15 คน ที่เดินทางกลับจากประเทศอิสราเอลด้วยสายการบิน El Al Israel Airlines เที่ยวบิน LY 083 โดยมาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อเวลา 11.20 น.โดยทันที่ที่มาถึงทางแรงงานไทย ได้โผเข้ากอดพ่อ แม่ และญาติ ที่มารอรับอย่างอบอุ่น ร่วมทั้งร้องไห้อยู่ตลอดเวลา
    
 อย่างไร ก็ตาม เบื้องต้น มีรายงานมีผู้บาดเจ็บ 2 ราย ที่มีอาการบาดเจ็บเล็กน้อย แต่อาจต้องใช้วีลแชร์อำนวยความสะดวก โดยหลังจากแรงงานไทย 2 ราย เข้าตรวจคัดกรอง แพทย์จะประเมินอาการอีกครั้งว่าจะต้องเข้ารับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลหรือไม่ ถ้าจำเป็นต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาล ก็จะมีการส่งตัวไปที่สถาบันบำราศนราดูร เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการรักษา ขณะที่การประเมินเรื่องสุขภาพจิต จะมีการแพทย์คอยประเมินเป็นระยะ ติดต่อกันอย่างน้อย 3 เดือน โดยแรงงานผ่านขั้นตอนการตรวจคัดกรอง ตรวจประเมินสภาพจิตใจ และพร้อมจะเดินทางกลับบ้าน ก็สามารถเดินทางกลับไปกับญาติได้เลย
    
 ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จำนวนแรงงานที่เดินทางกลับมาจากประเทศอิสราเอลในวันนี้ แบ่งเป็น ผู้ที่ได้ติดต่อแสดงความประสงค์กลับประเทศไทยกับทางกระทรวงต่างประเทศจำนวน 15 คน และอีก 26 คน ได้ซื้อตั๋วโดยสารกลับมาเอง รวมแรงงานทั้งหมดที่เดินทางมาถึงประเทศไทยในวันนี้มีจำนวน  41 คน
    
 ต่อมา นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ, นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ,นายพิพัฒน์ และนายสันติ พร้อมพัฒน์  รมช.สาธารณสุข ได้ร่วมกันแถลงข่าว
    
 นายปานปรีย์ กล่าวว่า ทั้งนี้การเดินทางภายในอิสราเอลลำบากมาก เจ้าหน้าที่ของไทยทำงานตลอด 24 ชั่วโมง และได้ประสานงานกับหลายประเทศ เพื่อช่วยคนไทยได้รับความปลอดภัย และกลับบ้านเร็วที่สุด ขณะนี้ได้รับการแจ้งว่ามีคนไทยต้องการกลับ เกือบ 6 พันคน ทางการจะช่วยพี่น้องคนไทยกลับบ้านให้เร็วที่สุด
     
  ได้รับทราบจากแรงงานท่านหนึ่ง เวลานี้ สถานการณ์ภายในเมืองหลวง เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมสถานการณ์ไว้แล้ว แม้จะควบคุมสถานการณ์ได้ แต่ยังไม่สงบ ซึ่งหมายความว่า พี่น้องคนไทยจะมีความปลอดภัยขึ้น ขณะเดียวกันได้ประสานงาน กับการบินพาณิชย์หลายสาย ทุกสายในประเทศให้ความร่วมมืออย่างดี ถ้าเราติดต่อประเทศข้างเคียงได้ พร้อมจะพาคนไทยกลับมาทันที ทั้งนี้อาจจะมีความคิดว่านำคนไทยมาประเทศข้างเคียง เพื่อให้ได้รับความปลอดภัย ก่อนจะกลับประเทศไทยด้วย สำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ทางกระทรวงสาธารณสุขจะรับมาดูแลให้ดีที่สุด
    
 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้ประชุมร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กองบัญชาการกองทัพไทย และสายการบิน เพื่อสรุปแผนอพยพคนไทยกว่า 5 พันคน ในประเทศอิสราเองที่แจ้งความประสงค์กลับประเทศไทย ตามข้อสั่งการของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ที่มีความห่วงใยต่อคนไทยที่ยังติดอยู่ในสถานการณ์การสู้รบให้กลับสู่ประเทศไทยโดยเร็วที่สุด ซึ่งเบื้องต้นขณะนี้มีสายการบินของไทย 3 สายการบิน ได้แก่ สายการบินไทยแอร์เอเชีย, การบินไทย และนกแอร์ ที่แสดงความถึงพร้อมสำหรับปฏิบัติการรับคนไทยกลับประเทศ โดยจะสามารถเดินทางไปรับได้ภายใน 3 วันเมื่อได้มีการกำหนดแผน และสนามบินที่จะใช้เป็นจุดรับคนไทยเป็นที่ชัดเจนแล้ว
    
 นายสุริยะ กล่าวต่อว่า กระทรวงการต่างประเทศได้เปิดศูนย์ฉุกเฉินทำงานตลอด 24 ชั่วโมง โดยจะเร่งดำเนินการรวบรวมคนไทย และสรุปจำนวน รวมถึงสถานที่นัดหมายรับคนไทย เพื่อแจ้งให้กระทรวงคมนาคมทราบ จากนั้นจะกำหนดแผนเที่ยวบิน ให้กับสายการบินทราบต่อไป เบื้องต้นกำหนดแผนการขนส่งคนไทยกลับประเทศไว้ 2 แนวทางร่วมกัน ทั้งการบินตรงจากสนามบินต้นทางสู่ประเทศไทย และการอพยพคนไทยออกจากอิสราเอลไปยังประเทศที่ปลอดภัย เช่น ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรืออินเดีย ซึ่งเป็นการบินระยะสั้นสามารถดำเนินการขนคนไทยได้จำนวนมาก และในเวลาที่รวดเร็วกว่า จากนั้นจึงจัดเครื่องบินพาณิชย์ขนคนไทยเดินทางกลับสู่ประเทศไทยต่อไป ทั้งนี้สนามบินที่จะใช้เป็นจุดรับคนไทย อาจเป็นได้ทั้งที่สนามบินเทลอาวีฟ หรือสนามบินอื่นๆ ภายนอกประเทศอิสราเอลที่มีความปลอดภัย
    
 นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้มอบให้กระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้ดำเนินการประสานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล เพื่อยื่นขออนุญาตทำการบิน เพื่อการส่งกลับประเทศ (Repatriation Flight) ซึ่งจะต้องขออนุญาตทั้งประเทศปลายทาง และประเทศที่บินผ่านเป็นกรณีพิเศษ เช่น ประเทศจอร์แดน ในกรณีที่มีแผนจะให้เครื่องบินไปรับนอกเขตแดนของอิสราเอลที่มีพรมแดนติดกัน ตลอดจนประสานประเทศระหว่างทางที่เที่ยวบินพิเศษนี้จะต้องทำการบินผ่าน เพื่ออำนวยความสะดวกตลอดเส้นทาง อันเป็นแนวปฏิบัติสากลระหว่างรัฐต่อรัฐในกรณีดังกล่าว ทั้งนี้เบื้องต้นสานักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้มีหนังสือแจ้งไปยังสานักงานการบินแห่งอิสราเอล (CAAI) ทราบล่วงหน้าแล้ว
     
  ขณะนี้ถือได้ว่ารัฐบาลได้มีการเตรียมความพร้อมไว้แล้วทุกด้าน ทั้งเครื่องบิน และการประสาน เพื่อขออนุญาตทำการบินกับประเทศต่างๆ เหลือเพียงความสำเร็จของการรวบรวมคนไทยไปยังจุดต่างๆ เพื่อกำหนดจุดรับต่อไปทันที ซึ่งผมขอให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการ และแจ้งความคืบหน้าทันทีที่สามารถเริ่มปฏิบัติการบินตามแผนได้
    
 ส่วน นายสุทิน กล่าวว่า ตอนนี้กังวลว่า จำนวนผู้อยากกลับประเทศ มีเพิ่มมากขึ้น ส่วนเครื่องบิน แม้กองทัพจะทำการบินเต็มที่ อาจจะไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงมีแผนที่สอง คือ จะใช้เครื่องบินกองทัพอากาศ รับคนไทยออกจากอิสราเอลที่อยู่ในจุดที่เสี่ยง มาไว้ที่ประเทศดูไบก่อน หลังจากนั้น เมื่อแรงงานไทย พ้นอันตรายแล้วค่อยเดินทางกลับบ้านต่อไป
   
  นายพิพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้แรงงานไทย คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นอันดับแรก และไม่ต้องกังวล เรื่องที่จะไม่สามารถเดินทางกลับไปทำงานได้ เพราะได้สั่งการไปยังอัครราชทูตที่ปรึกษา(ฝ่ายแรงงาน)ประจำประเทศอิสราเอลให้ประสานกับนายจ้าง เพื่อดำเนินการจ่ายค่าจ้าง ในส่วนที่ยังค้างจ่ายและเจรจา เพื่อรักษาสิทธิแรงงานหากยังทำงานไม่ครบสัญญาจ้าง เพื่อให้แรงงานไทยสามารถกลับไปทำงานได้
 
    ด้าน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า แรงงานไทยเมื่อกลับมาถึงกระทรวงแรงงานมีการดูแลเรื่องสิทธิประโยชน์รายละ 15,000 บาท ซึ่งเป็นเงินสงเคราะห์ กรณีประสบปัญหา ต้องเดินทางกลับประเทศไทยก่อนครบสัญญาจ้างจากเหตุสงคราม จะได้รับการสงเคราะห์คนละ 30,000 บาท กรณีเสียชีวิตจะได้จำนวน 40,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการจัดการศพในต่างประเทศไม่เกิน 40,000 บาท นอกจากนี้ยังได้รับเงินสวัสดิการตามกฎหมายของประเทศอิสราเอล (ประกันการทำงาน + นายจ้างจ่าย) กรณีบาดเจ็บ/พิการตามการรับรองของแพทย์ แบ่งเป็น บาดเจ็บ 10-19% ได้รับเงินก้อนเดียวประมาณ 1,440,000 บาท บาดเจ็บเกิน 20% ได้รับเงินเดือนทุกเดือน จนกว่าจะเสียชีวิต โดยประเมินจากความสูญเสีย กรณีเสียชีวิตภรรยาและบุตร ได้รับเงินเดือนทุกเดือน จนกว่าภรรยา จะแต่งงานใหม่ และบุตรอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ (ภรรยา เป็นเงิน 34,560 บาทต่อเดือน/บุตร เป็นเงิน 5,760-11,520 บาทต่อเดือน)
    
 ขณะเดียวกัน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ก่อนออกเดินทางจากมาเลเซียไปยังสาธารณ รัฐสิงคโปร์ถึงเหตุการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลาง ว่า ล่าสุดได้รับรายงานมีคนไทยเสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย รวมเป็น 21 ราย โดยพยายามหาช่องทางอื่นในการช่วยอพยพคนไทยออกจากพื้นที่ แต่เส้นทางทางเรือต้องผ่านฉนวนกาซา ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่อันตราย จึงไม่สามารถใช้เส้นทางนี้ได้ ส่วนอีกเส้นทางอาจเป็นทางรถยนต์และผ่านทางจอร์แดนแทน ยืนยันว่ารัฐบาลพยายามดูแลคนไทยเต็มที่