“สธ.-รง.-พม.”แท็คทีมดูแล “แรงงานไทย” เดินทางกลับจากอิสราเอล เผยส่วนใหญ่จิตใจเข้มแข็ง
เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 12 ต.ค. 2566 ที่สถาบันบําราศนราดูร นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะ พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ตัวแทนกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตัวแทนประกันสังคม ให้การต้อนรับแรงงานไทยในอิสราเอลที่เดินทางมาถึงประเทศไทย
โดยนพ.ชลน่าน กล่าวว่า แรงงานไทยชุดแรก 15 คนที่เดินทางมาถึงประเทศไทย โดยเราใช้สถาบันฯ เป็นจุดตรวจทั้งสภาพร่างกาย และสภาพจิตใจ รวมถึงประเมินสิทธิต่างๆ จากจำนวนผู้บาดเจ็บทั้ง 4 คน มี 2 คนที่เราอาจจะต้องส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลราชวิถี เนื่องจากบาดเจ็บที่เข่า และบาดเจ็บจากอาวุธปืน ส่วนอีก 2 คนที่บาดเจ็บนั้น ไม่ถึงขั้นที่จะต้องส่งตัวต่อ ทั้งนี้ จากการประเมินทั้ง 15 คน ในด้านร่างกาย จิตใจ ความเครียด รวมถึงผลกระทบทางด้านจิตใจต่างๆ โดยจะมีการแยกประเภทของแต่ละคน หากมีความจำเป็นที่จะต้องเข้าสู่การรักษาเยียวยาทางด้านจิตใจ ก็จะดำเนินการ ซึ่งที่นี่เรามีที่พักให้ หากแรงงานมีความประสงค์เราจะจัดที่พักให้พร้อมกับญาติ หลังจากการตรวจประเมินแล้ว แม้จะไม่มีอาการอะไร สำหรับผู้ที่มีอาการเราจะต้องนำเข้าสู่กระบวนการการเยียว ให้คำปรึกษา แนะนำ โดยจะให้พักที่สถาบันฯ ส่วนสุดท้ายคือการส่งกลับบ้าน หากมีความและต้องการกลับ เราจะส่งกลับ โดยกระทรวงพม. จะเป็นผู้ดูแลต่อในส่วนนี้
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขดูแลในด้านมิติสุขภาพ ประเมินสภาพด้านจิตใจ พร้อมมอบถึงยังชีพให้ กระทรวงแรงงานได้มอบเงินเยียวยาในเบื้องต้นรายละ 15,000 บาท พร้อมมอบถึงยังชีพให้เช่นกัน กระทรวงพม. จะเตรียมการดูแลในเรื่องการกลับบ้านของแรงงาน นี่เป็นสิ่งที่เราได้เตรียมการรองรับไว้
เมื่อถามว่า จากการประเมินสภาพจิตใจทั้ง 15 คน เป็นอย่างไรบ้าง มีความเครียดหรือกังวลอะไรหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ต้องการดำเนินการในกระบวนการ เรามีทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวกิฤต (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team: MCATT) หากประเมินออกมาแล้วมีความเครียด ก็จะนำเข้าสู่กระบวนการ
เมื่อถามว่า มีการเตรียมการเพื่อดูแลผู้บาดเจ็บที่จะกลับมาเพิ่มเติมอย่างไรบ้าง นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ชุดที่จะกลับมาถัดจากนี้ อาจมีมาตรการการคัดกรองไม่เหมือนกับ 15 คนนี้ เนื่องจากแรงงานชุดนี้เป็นกรณีพิเศษ ที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บทางร่างกายที่เห็นชัด เราจำเป็นต้องนำมาตรวจที่สถาบันฯ ทั้งหมดก่อน ส่วนการดูแลของแรงงานชุดถัดไปเราจะมีด่านกักกัน ตรวจค้น ดูแล ตั้งแต่ที่สนามบิน เพื่อคัดกรอง และแยกประเภทได้ทันที
โดยในขณะนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขยังไม่ได้รายงานเกี่ยวกับผู้บาดเจ็บที่จะเดินทางมาเพิ่มเติม แต่แรงงานชุดที่จะเดินทางมาถึงประเทศไทยในวันที่ 16 ต.ค.นี้ ส่วนใหญ่เป็นบุคคลทั่วไป ยังไม่มีรายงานภาวะบาดเจ็บ สำหรับผู้บาดเจ็บทั้ง 2 คนที่ต้องส่งตัวไปรักษาต่อ คงต้องรอให้แพทย์ผู้ดูแล ลงไปดูในรายละเอียดว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร แต่เท่าที่ตนได้พูดคุยส่วนใหญ่มีสภาพจิตใจที่เข้มแข็ง แต่อย่างไรก็ยังคงต้องประเมินในเรื่องสภาพจิตใจอย่างละเอียด โดยเฉพาะความเครียด ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังไม่มีใครมีอาการที่น่าเป็นห่วง อยู่ในเกณฑ์ที่เราสามารถดูแลได้
นพ.ชลน่าน กล่าวย้ำว่า สำหรับญาติของแรงงานที่เราสามารถระบุตัวตนได้ ทีมสหวิชาชีพ และทีมเยียวยาจิตใจของเราสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ ภายใต้ข้อวิตกกังวล หรือผลกระทบที่เกิดขึ้น ในมุมสาธารณสุขจะต้องเข้าไปก่อน เพื่อประเมินสภาพจิตใจ และบาดแผลที่เกิดขึ้น เราไม่ได้รอ