วันที่ 12 ตุลาคม 2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำผู้บริหารกรุงเทพมหานครเข้าหารือข้อราชการกับนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่ห้องประชุม สป.1 ชั้น 8 อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ 

 

นายวราวุธ กล่าวว่า จากการหารือได้ข้อสรุปจัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน 7 คณะ ประกอบด้วย 1.ด้านที่อยู่อาศัย ภายใต้การประสานงานกับหน่วยงานในสังกัด พม. คือ การเคหะแห่งชาติ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) 2.ด้านคนพิการ ภายใต้การประสานงานกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ 3.ด้านคนไร้บ้าน ภายใต้การประสานงานกับกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ 4.ด้านเด็กและเยาวชน ภายใต้การประสานงานกับกรมกิจการเด็กและเยาวชน5.ด้านผู้สูงอายุ ภายใต้การประสานงานกับกรมกิจการผู้สูงอายุ 6.ด้านสตรีและสถาบันครอบครัว ภายใต้การประสานงานกับกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว 7.คณะทำงานด้านการบูรณาการฐานข้อมูลกลุ่มเปราะบาง

 

โดยจะมีการทำงานอย่างใกล้ชิด คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะจัดตั้งคณะทำงานแต่ละด้านแล้วเสร็จ และกำหนดให้รายงานความก้าวหน้าให้ผู้บริหารรับทราบต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเชื่อมฐานข้อมูลระหว่างกทม.กับพม. เช่น เรื่องคนไร้บ้าน คนพิการ เรื่องที่อยู่อาศัย ซึ่งกทม.และพม.มีการทำงานในเรื่องดังกล่าวคล้ายกัน

 

นายชัชชาติ กล่าวว่า พม.และกทม.มีภารกิจที่สอดคล้องกัน หัวใจคือการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในเมือง โดยเฉพาะในเด็ก วัยรุ่น คนทำงาน ผู้สูงอายุ ผู้พิการและกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ โดยมีเรื่องเร่งด่วนที่ร่วมกันทำงาน ได้แก่ 1.ตั้งคณะทำงาน 7 คณะ กำหนดเป้าหมายภายใน 1 ปีให้ชัดเจน เพื่อให้คนทำงานดำเนินการ คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะมีความชัดเจนเรื่องเป้าหมายของแต่ละคณะทำงาน 2.การทำฐานข้อมูล โดยรวมข้อมูลของกทม.กับพม.ผ่านระบบดิจิทัล เพื่อให้ทราบข้อมูลกลุ่มต่าง ๆ อย่างถูกต้อง เช่น คนพิการ หรือขอทานในแต่ละจุด 3.เรื่องคนไร้บ้าน ในภาพรวมมีน้อยลง แต่มีหนาแน่นเฉพาะบริเวณราชดำเนิน ซึ่งพม.และกทม. ต้องดูแลโดยการหาที่อยู่ให้เหมาะสม เช่นบริเวณแยกแม้นศรี รวมถึงจัดหาอาชีพ นำเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ของรัฐ เพื่อให้มีชีวิตที่มั่นคงต่อไป

 

4.เรื่องชุมชนบุกรุกเพื่อสร้างที่อยู่อาศัย เน้นจัดการที่คลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากร โดยกทม.ร่วมกับพอช.มาตลอด โครงการนี้ต้องเร่งรัดให้เห็นผลรูปธรรมต่อเนื่อง กำหนดให้ชัดเจนว่าจะมีผู้ย้ายออกจากพื้นที่รุกล้ำไปอยู่บ้านมั่นคงปีละกี่หลังคาเรือน 5.เรื่องที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย กทม.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำโครงการช่วยออกค่าเช่าบ้านแก่ผู้ยากไร้ รวมถึงมีแผนเรื่องที่พักราคาถูกใกล้แหล่งงาน สำหรับผู้เรียนจบใหม่สามารถอยู่ได้ 5 ปี เพื่อเริ่มต้นตั้งตัว ก่อนย้ายออกไปเพื่อให้ผู้เรียนจบใหม่รายอื่นเข้ามาทดแทน 6.โครงการธนาคารอาหารเพื่อนำสิ่งที่เกินมาแบ่งคนที่ขาด อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ามีอีกหลายโครงการที่จะสำเร็จลุล่วงภายใต้ความร่วมมือระหว่างกทม.และพม. รวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ ที่เข้ามาร่วมกันทำงานทั้งภาครัฐและเอกชน