รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงความรู้สึกเมื่อครั้งเข้าเฝ้าในหลวงรัชกาลที่ 9 เนื่องในโอกาสรับทุนพระราชทานมูลนิธิอานันทมหิดล ว่า ทันทีที่รู้ว่าตนเองได้รับทุนอานันทมหิดล ก็รู้สึกตื่นเต้นมาก ในครั้งนั้นตนเข้าเฝ้าในหลวงรัชกาลที่ 9 พร้อมกับ ดร.ผณิศวร ชำนาญเวช ซึ่งได้เรียนจบกลับมา จึงได้เข้าไปกราบพร้อมกัน โดยตนได้รับทุนพระราชทานมูลนิธิอานันทมหิดลเพื่อไปเรียนต่อระดับปริญญาโทและปริญญาเอกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นสิ่งที่เปลี่ยนชีวิต ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณ ตนจดจำมาตลอด สิ่งที่ประทับใจคือ ช่วงเวลานั้นผู้ที่ได้ทุนต้องไปถวายบังคมลา บังเอิญตนโชคดีได้ไปถวายบังคมลากับในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านทรงมีพระเมตตามาก มีพระราชดำรัสนานประมาณครึ่งชั่วโมง สิ่งที่จำได้ตลอด พระองค์ท่านทรงรับสั่งว่า ทุนอานันทมหิดลไม่ได้กำหนดให้กลับมารับราชการ ให้กลับมาทำอะไรก็ได้ เพราะเชื่อว่าอยู่ที่ไหนก็สามารถทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้ และยังรับสั่งอีกว่าว่า ไปเรียนอย่าเคร่งเครียดมาก ให้ดูหนังดูละครได้ นี่คือสิ่งที่ตนจำมาตลอด พระองค์ท่านทรงมีพระเมตตามาก
และในฐานะที่ตนอยู่ในตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สิ่งที่ตระหนักคือทำงานโดยใช้ความรู้ความสามารถที่มีเพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนา มุ่งทำให้ความเป็นอยู่ของคนกรุงเทพฯดีขึ้น สามารถบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเต็มที่และจะทำเต็มความสามารถ โดยยึดประโยชน์ประเทศชาติและส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ไม่ว่าอยู่ในบทบาทใด เช่น อาจารย์ ผู้บริหารองค์กร รัฐมนตรี หรือผู้ว่าฯกทม.โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร เรื่องการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ ที่ผ่านมามีการพูดถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ความยั่งยืน เรื่องสภาวะโลกร้อน และเรื่องต่าง ๆ แต่ถ้าไม่เริ่มที่การศึกษา สิ่งที่จะทำไม่มีทางยั่งยืนได้
“ตนเชื่อว่าหัวใจคือการศึกษา จะเห็นว่าเรื่องการศึกษาและสาธารณสุขสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้ดีที่สุด จากการสอบถามพี่น้องคนกวาดถนนที่อาจจะมีการศึกษาไม่สูงมาก แต่สามารถส่งลูกจบปริญญาตรีได้ ทำให้หนึ่งชีวิตของลูกพัฒนาขึ้นตลอดชั่วชีวิต ดังนั้น การศึกษาคือสิ่งที่เปลี่ยนชีวิตคนได้จริง ตนเองก็เปลี่ยนชีวิตได้เพราะการศึกษาเช่นกัน กทม.จึงมีนโยบายให้ความสำคัญกับการศึกษามาก เพื่อเป็นรากฐานสำคัญ ในการพัฒนาคน อันจะนำไปสู่การพัฒนาชาติให้เจริญรุ่งเรือง” นายชัชชาติ กล่าว
ทั้งนี้นายชัชชาติ สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ระดับปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมโยธา (เกียรตินิยมอันดับ 1) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับทุนอานันทมหิดล ประจำปี พ.ศ.2530 เพื่อศึกษาในระดับปริญญาโท สาขาวิศวกรรมโครงสร้าง จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ และระดับปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เออร์แบนา-แชมเปญจน์