กระทรวงแรงงานย้ำการเปลี่ยนนายจ้างต้องเกิดจากความสมัครใจของแรงงานเท่านั้น สั่งทูตแรงงานประสานนายจ้างรับช่วงต่อต้องให้พักเจ็ดวันเยียวยา
นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผย เกี่ยวกับข้อกังวลประเด็นการเปลี่ยนนายจ้างในประเทศอิสราเอล ระหว่างนายจ้างรายหนึ่งไปยังนายจ้างอีกรายหนึ่งว่า เกี่ยวกับเรื่องนี้ ขอเรียนว่าใม่ใช่การค้ามนุษย์ หรือการขายแรงงาน แต่เป็นการอพยพ เคลื่อนย้าย ส่งต่อแรงงานไทยไปยังจุดที่ปลอดภัยเท่านั้น ซึ่งหากอยู่กับนายจ้างรายเดิมก็จะไม่มีรายได้ เนื่องจากนายจ้างรายเดิมได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สู้รบ ดังนั้น นายจ้างจึงส่งต่อไปยังนายจ้างรายใหม่ที่ไม่ได้รับผลกระทบ ซึ่งเท่ากับเป็นการเปลี่ยนนายจ้างรายใหม่ อย่างไรก็ดี ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้ความยินยอมจากตัวลูกจ้างเองด้วย และเป็นสิทธิของแรงงานที่จะไม่ทำก็ได้ ให้ทูตแรงงานแจ้งนายจ้างให้ลูกจ้างพักฟื้นสภาพจิตใจ 7 วัน
“ข้อกำหนดบทบาทหน้าที่ของนายจ้างภายใต้โครงการความร่วมมือไทย-อิสราเอลเพื่อการจัดหางาน (TIC) ระบุหน้าที่นายจ้างอย่างชัดเจนว่า กรณีที่เกิดเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงในอิสราเอล ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพของลูกจ้าง นายจ้างจะต้องอพยพลูกจ้างไปอยู่ในสถานที่ที่ปลอดภัย และพยายามจัดหางานให้แก่ลูกจ้าง โดยมีข้อกำหนดและเงื่อนไขเช่นเดียวกับสัญญาฉบับที่ทำ นอกจากนี้ยังระบุว่า นายจ้างต้องจัดหาพาหนะรับส่งลูกจ้างในการเดินทางที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน โดยจุดที่นายจ้างส่งต่อลูกจ้างไปทำงานต้องเป็นจุดปลอดภัยที่สุด ดังนั้นจึงอาจทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน อย่างไรก็ตามกระทรวงแรงงานยืนยันว่า การเปลี่ยนนายจ้างต้องอยู่ภายใต้ความยินยอมจากลูกจ้าง และแรงงานไทยสามารถเปลี่ยนนายจ้างได้ ซึ่งเป็นสิทธิของแรงงานที่จะทำหรือไม่ทำก็ได้"นายไพโรจน์กล่าว
ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงแรงงาน พิจารณาถึงความปลอดภัยในการออกจากที่พักของแรงงานไทยเป็นสำคัญ และขอยืนยันว่า เราคำนึงถึงประโยชน์ของแรงงานไทยสูงสุด และจะคุ้มครองแรงงานไทยให้มีความเป็นอยู่ และการจ้างงาน ที่เหมาะสม