"ศปปส." บุกยื่นหนังสือถึง "วันนอร์" คัดค้านร่าง "นิรโทษกรรม" ฉบับก้าวไกล อ้างคลุมเครือตัวผู้กระทำผิด เสนอผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ ส่วนกลุ่มหนุนดิจิทัลวอลเล็ตจวกนักวิชาการต้านแจกเงินดิจิทัล1หมื่น เปรียบเหมือนสากกะเบือ  ด้านรัฐบาลพร้อมรับฟังความเห็นทุกฝ่าย

    
 ที่รัฐสภา ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) นำโดย นายอานนท์ กลิ่นแก้ว ประธานศปปส. และนักรบเลือดสีน้ำเงินปกป้องราชบัลลังก์ เข้ายื่นหนังสือคัดค้านการเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับก้าวไกลต่อตัวแทนของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร 
    
 โดย นายอานนท์ กล่าวว่า เราเห็นว่าคนที่ยื่นแก้ไขกฎหมายนิรโทษกรรมดังกล่าวต่างเป็นผู้ที่กระทำการผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 ทั้งนั้นไม่ใช่แค่ความคิดต่างทางการเมือง แต่เป็นกฎหมายความมั่นคง เราจึงออกมาคัดค้าน เพื่อไม่ให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านไปได้ ซึ่งไม่ว่าจะต้องทำด้วยวิธีใด เราก็จะทำ เพราะจากการฟังแถลงการณ์จาก นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล แล้ว รู้สึกคลางแคลงใจ สงสัยในรายละเอียดบางประการ อาทิการนิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทําความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งหมายรวมถึงบุคคลซึ่งได้กระทําความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง หรือกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วยหรือไม่ เพราะในแถลงการณ์ดังกล่าวระบุแต่เพียงว่าไม่นิรโทษกรรมการกระทําผิดตามประมวลกฎหมาย อาญามาตรา 112 นั้น ย่อมทำให้เข้าใจได้ว่าบุคคลซึ่งได้กระทําความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงใน มาตราอื่นๆด้วยใช่หรือไม่ 
    
 นิยายของคําว่า ผู้กระทําความผิดอันเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง ของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้คืออะไร เพราะยังมีความคลุมเครือระหว่างผู้กระทําความผิดอันเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง และ ผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง หรือกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งต้องแยกออกจากกันให้ชัดเจน
     
นายอานนท์ กล่าวว่า ความคลุมเครือไม่ชัดเจนในเรื่องของ ผู้กระทําความผิดอันเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง ที่พรรคก้าวไกลบรรจุอยู่ในร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับดังกล่าว อาจเหมารวมถึง ผู้กระทําผิด เกี่ยวกับความมั่นคง หรือกฎหมายอาญามาตรา 112 เข้าไปด้วย ซึ่งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อยู่ในลักษณะ 1 ของความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หมวด 1 
     
นายอานนท์ กล่าวอีกว่า ทางศปปส.และกลุ่มนักรบเลือดสีน้ำเงิน ขอให้พิจารณาเรื่องเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อผลประโยชน์ของชาติอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง และ หรือกลุ่มบุคคลใดกลุ่มบุคคลหนึ่ง และเพื่อดํารงคงอยู่ไว้ซึ่ง 3 สถาบันหลักของชาติ อันประกอบไปด้วย ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
     
ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล เมื่อวันที่ 11 ต.ค.66 ประชาชนในนามกลุ่มผู้สนับสนุนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เดินทางยื่นหนังสือเจตนารมณ์และสนับสนุนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ของรัฐบาล ภายหลังจากมีนักวิชาการและสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) บางส่วนออกมาคัดค้าน โดยมี นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง เป็นตัวแทนรับหนังสือ 
     
ทั้งนี้ นายจุติพงษ์ พุ่มมูล แกนนำกลุ่มผู้สนับสนุนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต อ่านแถลงการณ์ว่า การคัดค้านของฝ่ายนักวิชาการที่ออกมานั้น มีอคติต่อรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตย โดยไม่เห็นหัวประชาชนคนยากจน จึงพยายามชี้ให้เห็นว่านโยบายดังกล่าวขัดต่อนโยบายการเงินการคลังหรือจะทำให้ประเทศไทยเป็นหนี้ โดยไม่มีความเข้าใจถึงเรื่องพายุหมุนทางเศรษฐกิจหรือดิจิตอลอีโคโนมิคส์ พร้อมมองว่าการคัดค้านกล่าวทำให้เห็นว่าคนรวยบางกลุ่มมองไม่เห็นหัวคนจนรากหญ้าซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ
    
 นายจุติพงษ์ กล่าวอีกว่า ประเทศเสียโอกาสและเวลามามากพอแล้วกับความเห็นต่างที่ล้าหลัง ขอให้รัฐบาลดำเนินการทางกฎหมายกับผู้เห็นต่างที่มีพฤติกรรมยุยงปลุกปั่นที่ให้ไปถอนเงินจากธนาคาร ซึ่งเป็นข้อมูลเท็จทั้งสิ้น ตนขอให้ประชาชนที่เห็นด้วยแสดงความจำนงผ่านมายังช่องทางสื่อของรัฐบาลเพื่อเดินหน้าโครงการดังกล่าว
   
  ด้าน นายสมคิด กล่าวว่า นโยบายดังกล่าวเมื่อมีหลายท่านแสดงความเห็นไม่ตรงกัน ทั้งสนับสนุนและคัดค้าน รัฐบาลยินดีที่จะนำความเห็นทุกกลุ่มไปศึกษาพูดคุยกัน โดยจะไม่มองว่าเป็นกลุ่มไหนรวยหรือคนจน แต่จะมองว่าเป็นความเห็นที่ตรงไปตรงมาหรือไม่ ยืนยันรัฐบาลจะเดินหน้าโครงการนี้ต่อ แต่จะหาสิ่งที่ลงตัว เนื่องจากเท่าที่ตนได้สัมผัสทั้งพรรคฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลเขาก็เห็นด้วย และก็มีบางส่วนไม่เห็นด้วยเหมือนกัน ฉะนั้นจะรับฟัง โดยช่วงเย็นวันเดียวกันนี้ ตนจะไปพูดคุยกับ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ถึงประเด็นที่มีความเห็นต่างกันด้วย
    
 ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ส.ว.ออกมาวิจารณ์นโยบายดังกล่าว นายสมคิด กล่าวว่า ส.ว.แต่ละกลุ่มก็มีความคิดของตัวเอง ซึ่งตนมองว่าไม่ได้ผิดอะไร แต่เราจะรวบรวมความคิดเห็นไปพิจารณาด้วย รวมถึงชี้แจงกับส.ว. โดยส.ว.สามารถตั้งกระทู้สดถามรมว.คลังได้ ซึ่งตนพร้อมประสานงานให้ได้ เมื่อถามว่า ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จับตานโยบายดังกล่าวนั้น นายสมคิด กล่าวว่า ตนเห็นแต่ข่าว ยังไม่ได้ติดตามรายละเอียด จึงไม่แน่ใจว่าจะจับตาเรื่องอะไร เพราะนโยบายดังกล่าวเราได้ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ตอนเลือกตั้งไปแล้ว จึงคิดว่าไม่น่าจะผิดอะไรและคิดว่าป.ป.ช.ไม่ได้ติดตามแต่ประเด็นดังกล่าว
     
  ผมไม่อยากพูดว่ารัฐบาลที่แล้วก็ทำเหมือนกัน เพียงแต่ว่ามันยังไม่ฟื้น และมันกระปริบกระปรอยเพียงแค่ 300-500 ต่อเดือน แต่รัฐบาลนี้โยนไปทีเดียว 6 เดือน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษาว่าจะคัดกลุ่มคนจนและคนรวยอย่างไร แต่โดยส่วนตัวคิดว่า ควรมอบให้ทุกคน เพราะถ้าคนรวยไม่ใช้ก็ไม่เป็นไร เพราะถือเป็นสิทธิ์ เพราะถ้าไม่ใช้ก็จะต้องคืนภายใน6 เดือนโดยอัตโนมัติอยู่แล้วนายสมคิด กล่าว
    
 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นทางกลุ่มฯได้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์โดยการถือสากกระเบือ พร้อมเปรียบเทียบนักวิชาการที่ค้านโครงการ ว่า เป็นนักวิชาการสากกะเบือ