ผู้ว่าฯอยุธยา ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำบริเวณประตูระบายน้ำกุฏี อ.ผักไห่ พบระดับน้ำทรงตัว ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ มีล้นตลิ่งเข้าท่วมใต้ถุนบ้าน 0.20-1 เมตร แต่ยังไม่กระทบกับการดำเนินชีวิตของประชาชน กรมชลประทาน แจ้งสถานการณ์การระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ที่สถานี C 13 จ.ชัยนาท ระบายน้ำอยู่ที่ 1,600 ลบ.ม./วินาที เท่ากับเมื่อวานนี้ ส่วนการระบายน้ำท้ายเขื่อนพระรามหก ระบายอยู่ที่ 203 ลบ.ม./วินาที และไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านสถานีวัดน้ำ อ.บางไทร ปริมาณเฉลี่ย 1,731 ลบ.ม./วินาที มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
วันที่ 11 ตุลาคม 2566 เวลา 14.00 น. นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมผู้เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำ บริเวณประตูระบายน้ำกุฏี โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาผักไห่ อำเภอผักไห่ พบว่าระดับน้ำทรงตัว โดยกรมชลประทาน แจ้งสถานการณ์การระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ที่สถานี C 13 จ.ชัยนาท ระบายน้ำอยู่ที่ 1,600 ลบ.ม./วินาที เท่ากับเมื่อวานนี้ ส่วนการระบายน้ำท้ายเขื่อนพระรามหก ระบายอยู่ที่ 203 ลบ.ม./วินาที และไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านสถานีวัดน้ำ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ปริมาณเฉลี่ย 1,731 ลบ.ม./วินาที มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ได้รับรายงานตามจุดวัดน้ำต่างๆ อาทิ บริเวณวัดไชยวัฒนาราม และพระตำหนักสิริยาลัย ระดับน้ำทรงตัว
สำหรับภาพรวมสถานการณ์น้ำภายในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีพื้นที่ทั้งหมด จำนวน 16 อำเภอ ซึ่งได้รับรายงานมีบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำ ได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมใต้ถุนบ้าน ระดับน้ำสูงประมาณ 0.20-1 เมตร ซึ่งยังไม่กระทบกับการดำเนินชีวิตของประชาชนแต่อย่างใด จำนวน 7 อำเภอ 64 ตำบล 339 หมู่บ้าน 9,970 ครัวเรือน ประกอบด้วย อำเภอเสนา บางบาล ผักไห่ พระนครศรีอยุธยา บางไทร บางซ้าย และอำเภอบางปะหัน
ส่วนการสำรวจพื้นที่นาปี พบว่ามีความเสี่ยงกับการเสียหายอยู่ 6 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอมหาราช บางบาล ผักไห่ บางซ้าย และอำเภอพระนครศรีอยุธยา ประมาณ 677.75 ไร่ เท่านั้น ที่คาดการว่าจะเสียหาย ซึ่งทางเกษตรจังหวัดฯ ได้ประกาศเตือนเกษตรกร ให้ไปขึ้นทะเบียนที่สำนักงานเกษตรใกล้บ้าน เพื่อประโยชน์ของพี่น้องเกษตรกรเอง
ดังนั้นจึงขอแจ้งเตือนหน่วยงาน ผู้ประกอบการ ประชาชน ที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ บริเวณริมสองฝั่งริมแม่น้ำน้อย คลองบางบาล หัวเวียง ลาดชิด ท่าดินแดง ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการขนของขึ้นสู่บริเวณที่สูง หรืออพยพได้ทันท่วงที หากเกิดสถานการณ์ทั้งในช่องทางปกติ และผ่านทางช่องทาง Social Media ต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง