เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 11 ต.ค. 2566 ที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ทำเนียบรัฐบาล นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน(กบฉ.) เป็นประธานการประชุม กบฉ. ครั้งที่ 4/2566 โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมเพื่อพิจารณา
จากนั้นเวลา 15.30 น. นายสมศักดิ์ แถลงผลการประชุม กบฉ. ว่า หลังจากระยะเวลา 1 เดือนที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้ดูแลเรื่องการพิจารณาเรื่องประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงได้มีการพิจารณาถี่ถ้วน และได้ให้ส่วนราชการได้แก่ กระทรวงมหาดไทยไปรับฟังความเห็นประชาชน รวมถึงนำข้อมูลและความเห็นจาก สมช. และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) มาประกอบการพิจารณา ทั้งนี้ สถิติตั้งแต่ปี 50 จนถึงปัจจุบัน พบว่าความรุนแรงของสถานการณ์ลดลง
โดยในอดีตบางปีมีเหตุการณ์สูงกว่า 100 ครั้ง แต่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 สถิติลดลงเหลือประมาณ 70 กว่าครั้ง ส่วนปี 66 นี้มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำคือ ประมาณ 100 กว่าครั้ง จึงนำข้อมูลเหล่านี้มาประกอบการพิจารณา ที่ประชุม กบฉ.จึงมีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินในจังหวัดชายแดนภาคใต้ออกไปอีก 3 เดือน ระหว่างวันที่ 20 ต.ค.66 – 19 ม.ค.67 แต่มีมติให้ปรับลด 3 อำเภอ ที่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงแทน ได้แก่ อ.กรงปินังจ.ยะลา อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี และอ.ยี่งอ จ.นราธิวาส รวมถึงมีมติปรับให้ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส กลับมาใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีกครั้ง เนื่องจากสถิติความรุนแรงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่วง 5 ปีหลังมานี้ โดยจะมีการนำมติ กบฉ.เข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 16 ต.ค.นี้
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนความคืบหน้าในการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช.แทนผู้ที่เกษียณไปนั้น ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ เพราะนายกฯยังไม่ได้มีการมอบหมายว่าจะให้รองนายกฯคนใดดูแลกำกับของ สมช. และการแต่งตั้งเลขาธิการ สมช. ต้องรอนายกฯ ในฐานะประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติเรียกประชุมก่อน