เกษตรกรเครือข่ายขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเขาชะงุ้ม จ.ราชบุรี เปลี่ยนเศษไม้เป็นถ่านชีวภาพใช้เป็นส่วนผสมของวัสดุปลูก ได้น้ำส้มควันไม้ไว้ไล่แมลงช่วยให้ผักผลไม้ปลอดภัยไร้สารเคมี
วันนี้( 11 ต.ค. 66 ) พื้นที่บริเวณบ้านส่วนหนึ่งของนาย ชวัลวิท คล้ายอยู่ อายุ 40 ปี ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ต.เขาชะงุ้ม อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เกษตรกรในกลุ่มเครือข่ายขยายผลโครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งได้กลายเป็นฐานเรียนรู้การผลิตถ่านชีวภาพ และน้ำส้มควันไม้คุณภาพสูง หลังจากที่ได้ล้มลุกคลุกคลานจากการเคยเป็นลูกจ้างหลายองค์กรมาก่อน ต่อมาได้ผันตัวมาทำอาชีพเกษตรกรในที่ดินมรดกของตนเอง ปลูกพืช ผัก ผลไม้ ไว้กิน ไว้ขายเลี้ยงครอบครัว พยายามศึกษาหาความรู้ในการลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน จนกระทั่งพบการผลิตถ่านชีวภาพ หรือถ่านไบโอชาร์
ซึ่งได้รับความรู้มาจากคณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงมาให้ความรู้การผลิตถ่านชีวภาพ ซึ่งเป็นวัสดุที่ช่วยปรับปรุงดิน เพราะมีความเป็นรูพรุนสูง ช่วยกักเก็บน้ำและอาหารในดิน ช่วยในกระบวนการจัดการของเสีย ถ่านสามารถดูดซับสารเคมีโลหะหนักในน้ำและดินได้ดี ทั้งยังมีประโยชน์สารพัดในการนำไปปรับปรุงดิน นอกจากจะได้ถ่านที่มีคุณภาพสูงแล้ว ยังมีน้ำส้มควันไม้ที่สามารถนำไปผสมน้ำฉีดพ่นไล่แมลงศัตรูพืชปลอดภัยจากการใช้สารเคมีในพืชผลการเกษตรอีกด้วย
นายชวัลวิท คล้ายอยู่ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เคยเป็นพนักงานบริษัท เคยทำงานในองค์กรควบคู่ไปกับการทำเกษตร ทำเคมีแบบร้อยเปอร์เซ็นต์มาตลอด เพื่อให้ผลผลิตดี ได้ลาออกจากการเป็นลูกจ้างมาทำเกษตรแบบเต็มตัว พอทำได้ระยะหนึ่งเกิดผิดพลาดจากราคาผลผลิตตกต่ำ ค่าครองชีพสูงขึ้น จึงหวนกลับไปเป็นลูกจ้างอีกครั้งและพยายามศึกษาด้านเกษตรควบคู่กัน จนเริ่มรู้สึกว่าร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง ตรวจสุขภาพในโรงงานพบว่า มีสารพิษในเลือดปริมาณสูง จึงหยุดเรื่องเคมี หันมาศึกษาอินทรีย์ จากที่เคยมีพื้นฐานอยู่แล้ว จึงตัดสินใจลาออกจากการเป็นลูกจ้างอีกครั้ง กลับมาบริหารพื้นที่ดินบ้านของตัวเอง เริ่มจากการเพาะทำเห็ดนางฟ้า พัฒนามาเพาะเห็ดฟาง จากทลายปาล์มทดแทนในโรงเรือนขนาดเล็ก ได้เห็ดฟางมีคุณภาพดี แต่มาเจอปัญหาโควิด 19 ร้านค้า ผลผลิตตกต่ำอีก ร้านอาหารถูกสั่งปิด ทำให้การค้าขายได้รับผลกระทบตามไปด้วย ช่วงนั้นได้รู้จักเกษตรกรเครือข่ายโครงการพระราชดำริฯ ชักชวนให้เข้าร่วมโครงการไปอบรมจนมีความรู้ได้ระดับหนึ่ง จึงได้นำสินค้าไปจำหน่ายที่ศูนย์มีรายได้เลี้ยงครอบครัว
เรื่องถ่านไบโอชาร์นั้น เกิดขึ้นในช่วงการระบาดช่วงโควิด 19 ซึ่งก๊าซหุงต้มมีราคาแพง น้ำมันแพง ทางโครงการพระราชดำริฯได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง เสนอเรื่องโครงการถ่านชีวภาพมาให้ จึงสนใจเพราะเป็นพลังงานที่ดีซึ่งได้มาจากเศษไม้ เลยตัดสินใจเข้าอบรม การผลิตเตาไบโอชาร์ที่ไม่ต้องไปหาซื้อวัสดุที่มีราคาสูง ผลิตเองและขยายองค์ความรู้สู่ชุมชน
สิ่งที่ได้จากการผลิตจะได้ถ่านไบโอชาร์ที่มีคุณภาพดี ได้น้ำส้มควันไม้ไว้ช่วยดับกลิ่น ไล่แมลง ยับยั้งเชื้อรา ยังมีน้ำมันเตานำมาใช้ทากันมอด ทากันสนิม เป็นเชื้อเพลิงนำกลับมาใช้ใหม่ได้
อนาคตมองว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่จะขยายโครงการนี้ต่อไป เพราะในพื้นที่ตามหลักทำการเกษตรเพื่อสร้างอาหาร ไม่ได้ทำเกษตรเพื่อค้าขายให้ร่ำรวย แต่ต้องเริ่มมาจากอาหารก่อน เพราะประสบการณ์จากการเจอภัยพิบัติ เราไม่มีอาหารเกิดการลำบาก ที่บ้านมีไข่ไก่ ผัก ผลไม้ จึงไม่เดือดร้อน มีความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภค
สำหรับการผลิตถ่านชีวภาพ ใช้เศษไม้ที่หาได้ในบริเวณบ้านเรือน นำมาตัดเป็นท่อน ใส่ลงไปในเตาจากด้านล่างขึ้นมาถึงด้านบนแล้วจึงปิดฝา จากนั้นนำทรายมาโรยไว้ด้านบน จุดไฟด้านล่าง การเผาใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ระหว่างนั้นจะใช้น้ำปล่อยเข้าไปในสายหล่อเลี้ยงท่อข้างถังไว้ตลอดเวลา เพื่อจะได้น้ำส้มควันไม้ที่ค่อย ๆ หยดออกมาประมาณ 3 ลิตรต่อการเผาแต่ละครั้ง ทิ้งไว้ประมาณ 5 - 7 ชั่วโมงเพื่อให้ถ่านด้านในเย็นลง การเผาแต่ละครั้งจะได้ถ่านประมาณเกือบ 20 กิโลกรัม ถ่านเราจะบดและนำไปผสมเป็นวัสดุปลูก ส่วนน้ำส้มควันไม้นำไปผสมน้ำเพื่อช่วยไล่แมลงในแปลงเกษตร ปลอดภัยจากการใช้สารเคมี มีสุขภาพดีทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค
ผู้สนใจสามารถติดต่อได้ที่ นาย ชวัลวิท คล้ายอยู่