วันที่ 11 ตุลาคม 2566 นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 4 ครั้งที่ 2 ประจำปีพุทธศักราช 2566 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานครนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง

 

นายเนติภูมิ มิ่งรุจิราลัย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบึงกุ่ม กล่าวในวาระที่ 1 เรื่องที่ประธานสภาแจ้งต่อที่ประชุมเรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานด้านการระงับเหตุอัคคีภัย ว่า ที่ผ่านมา การตอบคำถามของฝ่ายบริหารกทม.ต่อสมาชิกสภากรุงเทพมหานครยังให้ข้อมูลไม่ครบถ้วนตามที่ถามไป โดยเฉพาะเรื่องการป้องกันอัคคีภัยทั้ง 50 เขต ตามหนังสือที่ฝ่ายบริหารกทม.ตอบมายังเป็นข้อมูลเดิม ไม่ใช่แผนล่วงหน้าปีงบประมาณต่อไปเช่น จะสร้างสถานีดับเพลิงจุดใดเพิ่มเติมบ้าง ซึ่งปัจจุบันมี 41 สถานี ไม่เพียงพอต่อการดูแลประชาชน รวมถึง เรื่องฐานข้อมูลดิจิทัล มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง สามารถตรวจสอบหรือเข้าดูได้ช่องทางใด และเรื่อง BKK Risk Map สามารถเพิ่มจุดเสี่ยงภัยจุดใดได้บ้าง หรือจะมีแผนติดตั้งปุ่มสัญญาณแจ้งภัยในชุมชนหรือไม่ เพื่อส่งสัญญาณไปถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือสถานีดับเพลิงภายในปุ่มเดียว

 

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการหาถังดับเพลิงเพิ่มประมาณ 9,979 ถัง เพื่อแจกในชุมชนแออัด ตนอยากทราบว่ามีแผนแจกไปที่ใดบ้าง ชุมชนละกี่ถัง และครบทั้ง 50 เขตหรือไม่ หากไม่ครบเพราะเหตุใด รวมถึงขอให้ผู้บริหารกทม.คำนึงถึงบ้านเรือนทั่วไปด้วยว่า มีความต้องการถังดับเพลิงด้วยหรือไม่ เพราะเป็นผู้เสียภาษีเหมือนกัน ส่วนเรื่องความคุ้มค่าคงไม่มีเพราะ กทม.ต้องดูแลประชาชนเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่หน่วยงานหาผลกำไร

 

ส่วนเรื่องการเพิ่มประปาหัวแดง ขอบคุณฝ่ายบริหารกทม.ที่ร่วมมือการประปานครหลวง เพื่อติดตั้งประปาหัวแดง 258 จุด ใช้เวลาประมาณ 200 วันแล้วเสร็จ หลังจากลงนามเมื่อวันที่ 14 ก.ค.66 จึงฝากถึงผู้บริหารกทม.ว่า การติดตั้งดังกล่าวมีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง

 

นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตลาดกระบัง กล่าวว่า ขอให้ฝ่ายบริหารกทม.ระบุคำตอบแต่ละเรื่องที่สมาชิกสภากรุงเทพมหานครแต่ละท่านอภิปรายโดยละเอียด จากเอกสารที่ตอบมาพบว่า มีประเด็นที่ยังไม่ได้ตอบเรื่องผลการดำเนินงานของกทม. และยังมีประเด็นที่คำตอบยังไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะเรื่องสถานีดับเพลิงและการดูแลความปลอดภัย

 

นายพีรพล กนกวลัย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตพญาไท กล่าวว่า ไม่ใช่เฉพาะผู้อภิปรายที่สงสัยในคำตอบ อาจมีผู้อื่นหรือประชาชนทั่วไปสงสัยเหมือนกัน โดยเฉพาะเรื่องการฝึกอบรมนักดับเพลิงมีความเสี่ยงสูง หากไม่มีประสิทธิภาพจะเกิดอันตรายมาก จึงอยากทราบว่าผู้ปฏิบัติหน้าที่มีความพร้อมเพียงใด รวมถึง มีความเข้าใจผิดว่าบ้านพักเจ้าหน้าที่ดับเพลิงมีลักษณะเดียวกับบ้านพักข้าราชการ สามารถนำครอบครัวมาอยู่อาศัยได้ ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ บ้านพักเจ้าหน้าที่ดับเพลิงมีไว้เพื่อประจำการชั่วคราวเพื่อเตรียมพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่แต่ละช่วงเวลา การนำครอบครัวมาอาศัยเต็มจำนวนห้องพักที่มีอยู่ ก่อให้เกิดวิถีชีวิตที่ขาดการเตรียมพร้อม มีระเบียบวินัยหย่อนยาน จากการสำรวจพบมีการดื่มสุราเมา ที่สำคัญ เนื่องจากบ้านพักเต็มทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานจริงในแต่ละวันไม่มีบ้านพักขณะปฏิบัติหน้าที่ จึงอยากทราบว่าผู้บริหารกทม.เคยลงไปดูสภาพความเป็นจริงหรือไม่ ซึ่งคุณภาพของเจ้าหน้าที่ส่งผลต่อความปลอดภัยของประชาชนและตัวเจ้าหน้าที่เอง

 

นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ฝ่ายบริหารกทม.ยินดีปรับปรุงตามข้อแนะนำ หากมีข้อบกพร่องก็พร้อมแก้ไข ทั้งนี้จะให้ฝ่ายเลขาฯจดประเด็นและหาข้อมูลเพื่อตอบคำถามให้ครบถ้วนต่อไป