เมื่อวันที่ 11 ต.ค.66 นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala - - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ระบุว่า...

โครงการเงินดิจิทัลไม่ได้พัฒนาสู่เศรษฐกิจดิจิทัล (2)

ผมมีความเห็นว่า เงินดิจิทัล ตามที่พรรคเพื่อไทยออกแบบวิธีการใช้ไว้ นั้น น่าจะผิดกฏหมายเงินตรา และพระราชกำหนดดิจิทัลฯ

ถามว่า แนวการออกเงินดิจิทัลของพรรคเพื่อไทย จะตรงกับกฎหมายข้อใด

ตอบว่า พระราชกำหนดเกี่ยวกับคริปโท ได้กำหนดลักษณะของเหรียญ (coin) ไว้เพียง 2 ประเภท คือ "คริปโทเคอร์เรนซี" และ "โทเคนดิจิทัล"

ต้องเป็นประเภทใดประเภทหนึ่ง

"คริปโทเคอร์เรนซี" คือ เหรียญเพื่อเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน คือเป็น medium of exchange (คือมีเจตนาให้ใช้อย่างกว้างขวาง)

"โทเคนดิจิทัล" มีเจตนาให้ใช้ในวงแคบ

มี 2 ชนิด คือ (ชนิด ก.) เหรียญที่เป็นสิทธิในการเข้าร่วมลงทุน (คล้ายกับหุ้น)

และ (ชนิด ข.) หรียญที่เป็นสิทธิในสินค้าหรือบริการ (คล้ายกับคูปองศูนย์อาหาร)

กรณีเหรียญที่พรรคเพื่อไทยออกแบบไว้ นั้น ระบุว่า จะเป็น "โทเคนดิจิทัล" ชนิด ข. ไม่ใช่ "คริปโทเคอร์เรนซี"

ถามว่า กระทรวงการคลังจะเป็นผู้ออก "โทเคนดิจิทัล" หรือไม่

ตอบว่า จะให้บริษัทเอกชนเป็นผู้ออก

ถามว่า ขณะนี้มีเอกชนในไทยที่ออก "โทเคนดิจิทัล" อยู่แล้วหรือไม่

ตอบว่า มีอยู่แล้วจำนวนมาก ที่รู้จักคุ้นหูมากที่สุด อาจจะเป็นเหรียญบิตคับ

ถามว่า การที่จะมีเอกชนอีกรายหนึ่ง ออกเหรียญ "โทเคนดิจิทัล" ตัวใหม่ขึ้นในตลาดไทย

เหรียญ "โทเคนดิจิทัล" ใหม่นี้ จะสามารถพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลได้แตกต่างจากเหรียญเอกชนอื่น อย่างไร

ตอบว่า ในแง่มุมของการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล เหรียญ "โทเคนดิจิทัล" ที่ออกโดยเอกชน ทุกเหรียญมีฐานะไม่แตกต่างกัน

ดังนั้น เหรียญที่ออกแบบโดยพรรคเพื่อไทย ถ้าใช้ในวงแคบ ย่อมจะไม่พัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ได้แตกต่างจากเหรียญเอกชนอื่น

ถามว่า ถ้าจะทำให้เหรียญที่ออกแบบโดยพรรคเพื่อไทย มีบทบาทพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลได้จริง จะต้องทำอย่างไร

ตอบว่า จะต้องออกให้เป็นเหรียญประเภท "คริปโทเคอร์เรนซี" ที่มูลค่าโยงกับเงินบาทคงที่ (stable coin) และใช้ในวงกว้าง

ในต่างประเทศ เครื่องมือหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ก็คือเหรียญแบบ stable coin นี้เอง เช่น USDT, USDC

ต่อเมื่อมีเหรียญ stable coin แล้ว จึงจะนำไปสู่การโอนสินทรัพย์ดิจิทัล ที่สามารถเพิ่มให้มีเงื่อนใขได้ เรียกว่า smart contract

และต่อเมื่อมี smart contract แล้ว เศรษฐกิจดิจิทัลจึงจะสามารถพัฒนาธุรกรรมที่ไม่ผ่านตัวกลางได้ ที่เรียกว่า decentralized finance หรือ de-fi

สรุปแล้ว ถ้าเหรียญตามที่พรรคเพื่อไทยออกแบบ ไม่ใช่ประเภท "คริปโทเคอร์เรนซี" แบบ stable coin ที่ใช้ในวงกว้าง

ก็จะไม่มีผลพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยได้จริง

ผมจึงเห็นว่า คำว่าพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นโฆษณาที่เกินจริง

ถามว่า ทำไมพรรคเพื่อไทยไม่ออกแบบเหรียญให้เป็นประเภท "คริปโทเคอร์เรนซี"

ตอบว่า น่าจะเพราะเข้าข่ายเป็นเงินตราอย่างหนึ่งในกฎหมายเงินตรา ซึ่งรัฐมนตรีคลังต้องอนุญาต

แต่ถ้ารัฐมนตรีคลังอนุญาตเอกชนรายหนึ่ง ให้ออก Baht stable coin ก็จะไม่สามารถปิดกั้นเอกชนรายอื่น

ทั้งนี้ สภาพและขนาดเศรษฐกิจของไทย น่าจะยังไม่เอื้ออำนวย ที่จะให้เอกชนออก Baht stable coin โดยเสรี

และจะเกิดคำถามว่า

เหตุใดกระทรวงการคลังจึงไม่ขอให้ ธปท. เป็นผู้ออก Baht stable coin เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล

เหตุใดจึงต้องไปให้บริษัทเอกชนเป็นผู้ออก

ถามว่า ถ้าบริษัทเอกชนจะยื่นขออนุญาตออกเหรียญเป็นประเภท "คริปโทเคอร์เรนซี" Baht stable coin

รัฐมนตรีคลังจะอนุญาตตาม พรบ.เงินตราฯ ได้หรือไม่

ตาม พรบ.เงินตราฯ มาตรา 9 รัฐมนตรีคลังมีอำนาจอนุญาตให้บริษัทเอกชนออกเหรียญเป็นประเภท "คริปโทเคอร์เรนซี" Baht stable coin ซึ่งมีลักษณะเป็นเงินตราอย่างหนึ่งได้

แต่ ธปท. จะต้องเป็นผู้พิจารณาเสนอ

ถ้าหาก ธปท. เห็นว่าไม่สมควร รัฐมนตรีคลังก็ไม่สามารถอนุญาตได้

ดังนั้น กรณีออกเหรียญเป็นประเภท "คริปโทเคอร์เรนซี" Baht stable coin อำนาจที่แท้จริงจึงอยู่ในมือ ธปท.

ถามว่า วิธีการใช้ "โทเคนดิจิทัล" ตามแนวทางของพรรคเพื่อไทย ถูกต้องตามนิยาม "โทเคนดิจิทัล" หรือไม่

พรก. บัญญัติว่า

"โทเคนดิจิทัล" หมายความว่า หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อกำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการหรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในข้อตกลงระหว่างผู้ออกและผู้ถือ

ขอย้ำคำว่า'เฉพาะเจาะจง'

"โทเคนดิจิทัล" จึงจะต้องทำตัวให้เหมือนคูปองอย่างแท้จริง คือ ศูนย์อาหารออกคูปอง ลูกค้าเอาคูปองไปซื้ออาหารภายในศูนย์ แม่ค้าภายในศูนย์เอาคูปองมาแลกเป็นเงินบาท

แต่ "โทเคนดิจิทัล" จะมีสภาพเป็น "คริปโทเคอร์เรนซี" :-

ถ้าลูกค้าเอาคูปองไปชำระหนี้ส่วนตัวระหว่างกันไม่ว่าภายในศูนย์ หรือชำระหนี้ภายนอกศูนย์ แล้วผู้รับขำระหนี้นำคูปองกลับเข้ามาใช้ในศูนย์

ถ้าแม่ค้าเอาคูปองไปชำระหนี้แก่ซัพพลายเออร์ซึ่งอยู่ภายนอกศูนย์ หรือแม่แต่ชำระหนี้ระหว่างแม่ค้าภายในศูนย์ด้วยกัน

ทั้งนี้ "โทเคนดิจิทัล" ของเอกชนรายอื่น จะไม่มีทางกลายพันธุ์ไปเป็น "คริปโทเคอร์เรนซี"

เพราะลูกค้าจะใช้ "โทเคนดิจิทัล" ได้แต่เฉพาะสินค้าหรือบริการที่เป็นของผู้ออกเหรียญ หรือเป็นของกิจการภายในเครือข่ายของผู้ออกเหรียญ

คือมีลักษณะเป็นวงจรปิด ปลายปิด

แต่ "โทเคนดิจิทัล" ที่ออกโดยเอกชนตามแนวทางของพรรคเพื่อไทย นั้น

ไม่มีเงื่อนไขใช้ได้แต่เฉพาะกับสินค้าหรือบริการที่เป็นของผู้ออกเหรียญ หรือเป็นของกิจการภายในเครือข่ายของผู้ออกเหรียญ

พูดง่ายๆ สิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการหรือสิทธิอื่นใด สำหรับเหรียญ "โทเคนดิจิทัล" ที่ออกโดยเอกชนตามแนวทางของพรรคเพื่อไทย นั้น

อาจไม่ได้มีเจตนา ให้เป็นเรื่องเฉพาะเจาะจง ตามที่กำหนดในข้อตกลงระหว่างผู้ออกและผู้ถือ

แต่อาจจะมีเจตนา ไม่เฉพาะเจาะจง เพื่อให้สามารถใช้กับร้านค้าใดก็ได้ ที่จะทยอยมาลงทะเบียนกับผู้ออกเหรียญ

คือมีลักษณะเป็นวงจรเปิด ปลายเปิด

ดังนั้น "โทเคนดิจิทัล" นี้ จึงน่าจะมีสภาพ และเจตนารมย์ เป็น means of payment คือเป็น "คริปโทเคอร์เรนซี"

ในแวดวงของคนที่เข้าใจธุรกิจคริปโท น่าจะเห็นว่าเหรียญ "โทเคนดิจิทัล" ตามแนวทางของพรรคเพื่อไทย นั้น

ก็คือเพื่อให้ทำหน้าที่เป็น Baht stable coin ที่ออกโดยเอกชน เช่นเดียวกับ USDT, USDC ฯลฯ นั่นเอง

ผมเห็นว่า มีความเสี่ยงผิดกฎหมาย

อาจถูกตีความไปว่า มีเจตนาที่จะสำแดง ในรูปแบบทางกฎหมาย ให้เป็น "โทเคนดิจิทัล" เพื่อให้มีการอนุญาตได้โดยง่าย หรือไม่

อาจเพื่อหลีกเลี่ยง ไม่ต้องไปขออนุญาตที่ ธปท. หรือไม่

แต่โดยเนื้อหาทางเศรษฐกิจ กลับมีสภาพในการใช้งานที่แท้จริง เป็น "คริปโทเคอร์เรนซี" ที่ไม่ได้ขออนุญาตไว้ หรือไม่

พูดแบบชาวบ้าน อ้างว่าออกคูปองเพื่อใช้ในศูนย์อาหารก็จริง แต่เป็นศูนย์อาหารที่มีขนาดใหญ่เว่อร์ ขยายไปจนเท่ากับประเทศไทยทั้งประเทศ ใช่หรือไม่

ผมมีความเห็นว่า มีความเสี่ยง อาจถูกตีความว่า เข้าข่ายเป็นการเลี่ยงเจตนารมย์ของพระราชกำหนดฯ

ผมจึงขอแนะนำให้คณะกรรมการเกี่ยวกับเงินดิจิทัล ศึกษาให้ชัดเจนว่า

กรณีที่เหรียญ "โทเคนดิจิทัล" ที่โดยสภาพข้อเท็จจริง เป็น "คริปโทเคอร์เรนซี" นั้น

ผู้ใดจะมีความผิดตามกฏหมายหรือไม่

และถ้าคณะรัฐมนตรีอนุมัติ คณะรัฐมนตรีจะมีความผิดด้วยหรือไม่

วันที่ 11 ตุลาคม 2566

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ในฐานะประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ