เปิดประวัติ-ความเป็นมาเทศกาลกินเจ
เทศกาลกินเจ 2566 ตรงกับวันที่ 15-23 ตุลาคม รวมเป็นเวลา 9 วัน บางท่านอาจล้างท้องในมื้อเย็นวันที่ 14 ตุลาคม รวมเป็น 10 วัน
เทศกาลเจ เริ่มขึ้นเมื่อประมาณ 400 ปีมาแล้ว ตามตำนานเล่าว่า เกิดมาในสมัยที่ชาวจีนถูกรุกรานโดยชนชาติแมนจู ซึ่งเข้าปกครองประเทศจีน และบังคับให้ชนชาติจีนยอมรับวัฒนธรรมของตน อาทิ การไว้ทรงผมเยี่ยงแมนจูคือ โกนศีรษะโล้นทางด้านหน้าและไว้ผมยาวทางด้านหลัง ซึ่งหลายคนคงจะชินตาในภาพยนตร์จีนที่นำมาฉายทางทีวี
ในสมัยนั้น มีคนจีนกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันต่อต้านชาวแมนจู โดยใช้หลักทางธรรมเข้ามาร่วมด้วย ชาวจีนกลุ่มนี้ นุ่งขาว ห่มขาวและไม่รับประทานเนื้อสัตว์ ซึ่งมีความเชื่อว่า การประพฤติปฏิบัติตามแนวทางนี้จะช่วยสร้างความเข้มแข็ง ให้กับกลุ่มของตนจนสามารถต้านทานชาวแมนจูได้ คนกลุ่มนี้เรียกตัวเองว่า "หงี่หั่วท้วง" ซึ่งแม้จะได้ต่อสู้อย่างอาจหาญ แต่ท้ายที่สุดก็ไม่สามารถต้านทานการรุกรานของชาวแมนจูได้ เมื่อถึงวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 ชาวจีนที่ยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของชาวแมนจู จึงพากันถือศีลกินเจ เพื่อรำลึกถึงเหล่านักสู้ "หงี่หั่วท้วง" ที่ได้ต่อสู้พลีชีพในครั้งนั้น
ความเชื่อถืออีกกระแสหนึ่งของตำนานการกินเจนั้น เชื่อกันว่าเป็นการสักการะพระพุทธเจ้าในอดีต 7 พระองค์ และพระมหาโพธิสัตว์อีก 2 พระองค์ รวมเป็น 9 พระองค์ หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า ดาวนพเคราะห์ทั้ง 9 ในพิธีกรรมนี้ สาธุชนจึงงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ตัดชีวิต หันมาบำเพ็ญศีล โดยการตั้งปณิธานในการกินเจ งดเว้นอาหารคาว เพื่อเป็นการสมาทานศีล
สำหรับเมืองไทยความเชื่อเรื่องการกินเจ เป็นไปในแนวทางของการละเว้นการเอาชีวิตของสัตว์ เพื่อเป็นสักการะบูชาแก่ พระพุทธเจ้า และมหาโพธิสัตว์กวนอิม อาจเนื่องจากการแพร่หลายของกการละเว้นการกินเนื้อวัว ในกลุ่มคนที่นับถือเจ้าแม่กวนอิม การกินเจ จึงเป็นอีกหนึ่งพิธีกรรมเพื่อสักการะ
คำว่า เจ หรือแจ เป็นภาษาจีนแต้จิ๋ว ภาษาจีนกลางออกเสียง ไจ หมายถึงการรักษาอุโบสถศีล หรือศีล 8 และการละเว้นจากการกินเนื้อสัตว์ จุดประสงค์ของการกินเจเพื่อเป็นการถวายสักการะพระราชาธิราชทั้ง 9 พระองค์ คือการให้สาธุชนตั้งปนิธานในการละเว้นของคาว และอาหารที่มีกลิ่นฉุนทำให้ธาตุต่าง ๆ ในร่างกายแปรปรวน รวมไปถึงอาหารเค็มจัด เผ็ดจัด เปรี้ยวจัดทั้งหลาย รักษาศีล 8 ทั้งกาย วาจาใจ เว้นจากการเอาชีวิตสัตว์มาบำรุงชีวิตตน เว้นจากการเอาชีวิตสัตว์มาเพิ่มเลือดของตน และเว้นจากการเอาชีวิตสัตว์มาเพิ่มเนื้อของตน ละเว้นจาการเบียดเบียนชีวิตสัตว์ต่างๆ ซึ่งชาวไทยพุทธก็รับวิธีการสักการะบูชาพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์นี้สืบต่อ ถือเป็นการทำบุญและรักษาศีลไปพร้อมกัน
แม้จะเป็นการกินที่เน้นไปในเรื่องการกินผัก ละเว้นเนื้อสัตว์ แต่ส่วนที่ทำให้การกินเจแตกต่างจากการกินมังสวิรัติคือ มังสวิรัชกินไข่ น้ำผึ้ง นม ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ทำจากนมและกินผักได้ทุกชนิด แต่การกินเจนั้นกินสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นอันขาดเพราะถือว่า ไข่ นม น้ำผึ้ง เป็นส่วนหนึ่งของสัตว์ การกินอาหารเหล่านี้แม้จะไม่มีเลือด ไม่ได้ฆ่าสัตว์เพื่อให้ได้มาซึ่งอาหาร แต่ก็เป็นเบียดเบียนสัตว์เหล่านั้นเช่นกัน จึงต้องงดเว้น
หลักยึดในการถือศีลกินเจ
การกินเจจะกินเจแบบพุทธมหายานหรือแบบลัทธิเต๋า หรือจะตามตำนานความเชื่อไหนๆ ก็มีหลักร่วมปฏิบัติที่ชาวจีนรวมทั้งชาวไทยเชื้อสายจีนถือเป็นธรรมเนียมสืบทอดกันมา ดังนี้
-ล้างท้องก่อนกินเจ ผู้ที่เคร่งครัดมากจะเตรียมล้างท้องก่อนกินเจ 1-2 วัน คืองดเว้นเนื้อสัตว์ ผักกลิ่นฉุน เพื่อชำระล้างภายในร่างกาย ให้ปราศจากของคาว
-ล้างทำความสะอาดภาชนะ เครื่องครัว บางบ้านมีเครื่องครัว จานชามสำหรับกินเจแยกต่างหากโดยเฉพาะ หรืออาจนำเครื่องครัวที่มีอยู่แล้วออกมาล้างให้สะอาดหมดคราบมัน
-ไม่กินเนื้อสัตว์ เพื่อละเว้นชีวิต ไม่เบียดเบียนสัตว์ และน้ำนมสัตว์ทุกชนิด
-ไม่กิน 5 ผักกลิ่นฉุนต้องห้าม
พุทธมหายาน: กุยช่าย หลักเกียว กระเทียม ต้นหอมและหัวหอม
ลัทธิเต๋า: กุยช่าย หลักเกียว กระเทียม ผักชี และอั้งไช้เท้าหรือหัวไช้เท้าแดง
สิ่งทั้งหมดล้วนเป็นผักกลิ่นแรง เชื่อว่ามีฤทธิ์กระตุ้นจิตใจและอารมณ์ให้ร้อนรุ่ม จึงไม่เหมาะกับผู้อยู่ในช่วงถือศีล และตามตำราแพทย์แผนจีนที่ยึดหลักหยินหยาง เช่น หัวหอม มีผลต่อธาตุน้ำในร่างกาย กินมากหลงลืม นัยน์ตาพร่ามัว กระเทียมมีผลต่อธาตุไฟ ระคายเคืองกระเพาะ
-รักษาศีล 5 หรือศีล 8
-รักษาจิตใจให้บริสุทธิ์ คิดดี พูดดี ทำดี
-ละเว้นการมีเพศสัมพันธ์
-ละเว้นจากใบยาสูบ บุหรี่
-นุ่งขาวห่มขาว แสดงถึงความบริสุทธิ์ ละซึ่งกิเลส หมายเหตุตัวโตๆ ว่าแล้วแต่ความเคร่งครัด บางคนใส่เฉพาะช่วงประกอบพิธีกรรมสำคัญที่วัดพุทธจีน หรือศาลเจ้าต่างๆ สวดมนต์ ขอพรไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะวันที่ 3, 6 และ 9 ของการกินเจ เสมือนวันพระของผู้ถือศีลกินเจ เรียกว่าวันชิวลัค ชิวอิค และชิวยี่
-ขอขอบคุณ www.trueplookpanya.com/
-ขอขอบคุณข้อมูลจาก KRUA.CO