คนไทยเสียชีวิตเพิ่มเป็น 18 เจ็บ9 คน ขอเดินทางกลับประเทศกว่า 3 พัน บัวแก้วเผยเตรียมอพยพคนไทยชุดสองในอิสราเอล 18 ต.ค. อีก 80 คน "ปานปรีย์" ลุยต่อสายตรงรมว.ต่างประเทศอิสราเอล กำชับให้ดูแลคนไทยพร้อมเร่งช่วยตัวประกัน พิพัฒน์จ่อคุยนายกฯ เบิกงบกลางเยียวยา ภูมิธรรม"ห่วงแรงงานไทยถูกขายให้นายจ้างอื่นในอิสราเอล 

     เมื่อวันที่ 10 ต.ค.66 นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงถึงความคืบหน้าสถานการณ์ความรุนแรงในตะวันออกกลาง ว่า ขณะนี้พบว่ามีคนไทยเสียชีวิตเพิ่มอีก 6 ราย รวมเป็น 18 ราย และมีผู้บาดเจ็บ 9 คน โดยไม่มีผู้ที่ถูกจับเป็นตัวประกันเพิ่มเติม ส่วนการอพยพคนไทยในอิสราเอลชุดที่ 2 จะมีขึ้นในวันที่ 18 ต.ค.นี้ จำนวน 80 ที่นั่ง ซึ่งจะเดินทางถึงประเทศไทยในวันที่ 19 ต.ค. โดยจำนวนผู้ที่ขอเดินทางกลับประเทศไทยขณะนี้ มีทั้งสิ้น 3,226 คน โดยคนไทยชุดแรกที่จะเดินทางออกจากอิสราเอล ในวันที่ 11 ต.ค. จะเดินทางถึงประเทศไทย ในวันที่ 12 ต.ค. ด้วยสายการบินอิสราเอลแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ LY083 และจะเดินทางออกจากเทลอาวีฟ เวลา 21.45 น. และถึงประเทศไทย ในวันที่ 12 ต.ค. เวลา 10.45 น. ที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ

       ขณะนี้ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ ได้ติดต่อรมว.ต่างประเทศของอิสราเอล ผ่านทางโทรศัพท์ โดยทางการอิสราเอลยืนยันจะช่วยดูแลคนไทยเหมือนกับชาติอื่นๆ ซึ่งนายปานปรีย์ได้ขอให้อิสราเอลทำทุกวิถีทาง เพื่อช่วยปกป้องคนไทยให้ปลอดภัย และเร่งการช่วยเหลือคนไทยที่ถูกจับตัวเป็นประกัน ออกมาให้เร็วที่สุด

     ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน กล่าวว่า เรื่องการเยียวยาคงต้องของบฯจากนายกฯ เพราะเรื่องนี้คงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น  ส่วนค่าใช้จ่ายในเบื้องต้นทางกระทรวงแรงงานจะเป็นผู้รับผิดชอบในเบื้องต้นไปก่อน ส่วนงบฯอพยพทางรัฐบาลจัดการให้อยู่แล้ว แต่การส่งกลับเป็นปัญหาที่กระทรวงแรงงานจะต้องดูแล โดยยังอยู่ในระหว่างการหารือ

     ด้าน นายวราวุธ  ศิลปอาชา รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้ นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ประสานงานกับพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ของทุกจังหวัด ที่มีผู้ได้รับความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นเสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บ หรือ แม้แต่ผู้ที่ยังได้รับการยืนยันรายชื่อ โดยจะมีสหวิชาชีพ พร้อมกับทีมงานนักจิตวิทยา เข้าไปพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง และได้กำชับ และขอให้ดูมาตรการเพิ่มเติมว่า ทางกระทรวงฯจะสามารถสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานใดได้บ้าง 
      
 ขณะนี้ ทางกระทรวงฯ เตรียมเปิดศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพของประชาชน(ศรส.)ในวันที่ 1 พ.ย. โดยจะมี ผู้เชี่ยวชาญเด็กและเยาวชน ครอบครัว สตรีและทุกมติที่ทางกระทรวงฯดูแลอยู่ ทำงานร่วมกับศูนย์ ฮอตไลน์ 1300 และจะมีหน่วยเคลื่อนที่เร็ว รองรับข้อร้องเรียนของประชาชน ทั้งทางออนไลน์ ออฟไลน์ หรือวอร์กอินเข้ามาแจ้ง ศรส.จะเป็นส่วนสำคัญที่เข้าไปช่วยเยียวยาจิตใจ ครอบครัว ของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงในตะวันออกกลาง
    
 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ กล่าวว่า สถานการณ์ในอิสราเอล ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก เมื่อถามถึงการซื้อขายตัวแรงงาน หลังจากช่วยเหลือออก และประสงค์จะกลับประเทศไทย ส่งต่อให้กับนาย จ้างคนใหม่ปัญหาและอุปสรรคในเรื่องนี้จะประสานงานกันอย่างไรบ้าง นายภูมิธรรม กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ทุกส่วนในกรุงเทล อาวีฟ ทำงานกันอย่างเต็มที่วางจุดประสานงานแต่ละจุดไว้ แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ในพื้นที่กว้างและจุดที่เกิดเหตุก็ยาก ลำบากในการติดต่อ ก็ทำกันเต็มที่ และได้ทราบข่าวบางส่วน จากที่มีคนได้ลงในโซเชียล ถือว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่เราห่วงใย
      
 ขณะนี้เจ้าหน้าที่ทุกส่วนทำงานอย่างหนัก ทำงานอย่างเต็มที่ เรื่องไหนสามารถประสานงานและติดต่อได้ก็จะรีบจัดการ ส่วนสิ่งที่เป็นข่าวออกมาก็ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่หากเป็นเช่นนั้นจริงก็เป็นเรื่องของนายจ้างที่ไปดำเนินการ ซึ่งเราก็ไม่สบายใจ เราก็พยายามประสานงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางแก้ไขอยู่
    
 วันเดียวกัน สำนักจุฬาราชมนตรี ออกแถลงการณ์ เรื่องเหตุการณ์ความรุนแรงในตะวันออกกลาง ว่า สำนักจุฬา ราชมนตรี ขอแสดงความเสียใจต่อกรณีการเสียชีวิตของชาวไทยที่เกิดขึ้นจากการปะทะกันระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ และขอให้รัฐบาลไทยดำเนินมาตรการในการปกป้องให้ความช่วยเหลือต่อประชาชนชาวไทยที่ถูกจับกุมตัวและบางส่วนที่ยังอยู่ในพื้นที่การปะทะอย่างเร่งด่วน
    
 สำนักจุฬาราชมนตรีขอเป็นกำลังใจและหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลไทยจะสามารถช่วยเหลือประชาชนชาวไทยให้พ้นจากภัยอันตรายจากสถานการณ์เฉพาะหน้าที่กำลังเกิดขึ้น สำนักจุฬาราชมนตรี ขอแสดงความเสียใจ ต่อความสูญเสียของประชาชนผู้บริสุทธิ์ทั้งสองฝ่ายจากความรุนแรงและขอเรียกร้องให้คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายยุติความรุนแรงและการสู้รบกัน และมีความจำเป็นที่จะต้องหันหน้าเข้ามาเจรจากันเพื่อคืนความสงบให้กับประชาชนผู้บริสุทธิ์
     
สำนักจุฬาราชมนตรี ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยรักษาความเป็นกลางทางการเมือง ร่วมกับประชาคมระหว่างประเทศต่อกรณีความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ เพราะความขัดแย้งนี้มีความซับซ้อน มีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน และกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนชาวยิว คริสต์และมุสลิมทั่วภูมิภาค ทั้งนี้สำนักจุฬาราชมนตรีสนับสนุนการแสดงจุดยืนที่ชัดเจนต่อความจำเป็นในการช่วยเหลือประชาชนชาวไทยที่ได้รับผลกระทบ ให้มีความปลอดภัยและให้ได้รับการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ในสถานการณ์เฉพาะหน้าในครั้งนี้อย่างเร่งด่วนที่สุด
    
 สำนักจุฬาราชมนตรี ขอประทานพรจากอัลลอฮ์ พระผู้เป็นเจ้า ได้โปรดให้ความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นได้ยุติลงโดยเร็วและนำสันติภาพและความสงบสุขมาสู่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ในเร็ววันต่อไป