อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ติดตามการกำจัดกากของเสียน้ำในบ่อดินและพื้นที่ปนเปื้อนและขยะทั่วไปตามคำสั่งศาลของบริษัท แห่งหนึ่งใน อ.บ้านค่าย จ.ระยอง เตรียมแจ้งข้อหาเพิ่มหลังพบน้ำเสียในบ่อบำบัดมีสภาพเป็นกรดสูงกว่าเดิม เชื่อว่ามีการลักลอบทิ้งกากของเสียลงบ่อเพิ่ม

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 10 ต.ค.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมคณะลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้ากรณีการกำจัดกากของเสียน้ำในบ่อดินและพื้นที่ปนเปื้อนและขยะทั่วไปตามคำสั่งศาลจังหวัดระยองของบริษัท วินโพรเสส จก.บ้านหนองพวา ม.4 ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง หลังมีบ่อบำบัดน้ำเสียแตกไหลทะลักกระทบชาวบ้านและสิ่งแวดล้อมซ้ำ ทั้งที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการกำจัดกากของเสียในโรงงานฯ 

นายจุลพงษ์ กล่าวว่า การลงพื้นที่ดังกล่าว เป็นการมาติดตามการดำเนินการกำจัดบำบัดกากของเสียที่คงเหลืออยู่ภายในโรงงานฯ ตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 25 มี.ค.64 โดยมีของเสียตามคำพิพากษาที่ต้องกำจัดบำบัด ได้แก่ เศษฝุ่นเหล็กและตะกรัน ของเหลวและกากตะกอนในบ่อคอนกรีต ของเสียเคมีวัตถุประเภทของเหลวไม่ทราบชนิดบรรจุภายในภาชนะถัง น้ำในบ่อดินและพื้นที่ปนเปื้อน 6 บ่อ รวมทั้งขยะทั่วไป ซึ่งโรงงานต้องบำบัดกำจัดให้แล้วเสร็จภายในเดือน มี.ค.66 ซึ่งทางโรงงานฯ ขอขยายเวลาการดำเนินการไปเป็นวันที่ 31 ธ.ค.66 นี้ ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ต.ค.66 ที่ผ่านมา เกิดบ่อบำบัดน้ำเสียมีสีคล้ายสนิมเหล็กเกิดแตกไหลทะลักส่งผลกระทบสวนยางพารา บ่อเลี้ยงกบของชาวบ้านได้รับความเสียหาย และไหลลงคลองสาธารณะกระทบสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ โดยการลงพื้นที่วันนี้เป็นการมาติดตาม คือ การดำเนินการกำจัดกากของเสียของโรงงานฯ ตามคำสั่งของศาล ซึ่งได้ว่าจ้างบริษัทรับจ้างกำจัดกากของเสียมาดำเนินการ 2 ส่วนคือ กากของเสียในตัวอาคาร และบ่อดิน ประเด็นที่ลงมาวันนี้คือ บ่อบำบัดที่อยู่ในระหว่างดำเนินการภายในโรงงานฯ 1 ใน 5 บ่อ แตกไหลลงลำรางสาธารณะกระทบพื้นที่การเกษตรชาวบ้าน ซึ่งอุตสาหกรรมระยอง จึงได้ออกคำสั่งให้ดำเนินการเสริมคันดิน 2 รอบ ทั้งก่อนที่บ่อเริ่มเต็มและไหลซึมออกและหลังบ่อแตก และเหลือ 4 บ่อที่บำบัดไม่แล้วเสร็จ ก็มีประเด็นใหม่ขึ้นมา คือเดิมทีบ่อเป็นกรดที่ไม่ถึงขึ้นเป็นวัตถุอันตราย แต่ปรากฏว่ายิ่งมีการบำบัดไปพบความเป็นกรดในบ่อสูงมากเข้าขั้นเป็นวัตถุอันตราย ซึ่งทำให้ทีมตรวจสอบเกิดความสงสัย จึงไปรวบรวมพยานหลักฐานการตรวจวิเคราะห์ และหลักฐานภาพถ่าย ทำให้เชื่อได้ว่ามีการนำกรดในตัวอาคารมาเทลงบ่อบำบัด ซึ่งหลักฐานพบว่ามีการนำถังเปล่าพลาสติกบรรจุสารมาตัดแยกไปขายประมาณ 8-10 คันรถบรรทุก 10 ล้อแล้ว ซึ่งไม่สามารถทำอย่างนั้นได้ เนื่องจากสิ่งของทุกอย่างภายในอาคารโรงงานถูกอายัติไว้แล้ว ซึ่งในเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่จะต้องมีการดำเนินคดีกับโรงงานฯ เพิ่มขึ้นมาใน พ.ร.บ.วัตถุอันตราย และอีกส่วนคือการนำเอาถังบรรจุสารตัดแยกไปขาย ซึ่งจะกระทำได้ กรมโรงงานฯ อนุญาตเท่านั้น และเงินทุกบาททุกสตางค์ที่ได้ต้องไว้ที่ศาล ซึ่งที่ผ่านมาทางโรงงานฯ ไม่ได้มีการไปวางเงินไว้ที่ศาลเลย โดยข้อเท็จเหล่านี้ทางกรมโรงงานฯ จะส่งเรื่องให้ทางอัยการจังหวัด เพื่อให้นำเสนอต่อศาล ซึ่งคดีคงจะไม่หยุดแค่การบำบัดน้ำเสียในบ่อ และในอาคารเท่านั้น โดยทรัพย์สินทั้งที่ดิน และอาคารของโรงงานฯ ตกเป็นของธนาคารอิสลาม การกระทำดังกล่าวเป็นการลักทรัพย์ เบื้องต้นตนได้แนะนำให้ผู้แทนธนาคารไปแจ้งความดำเนินคดีกับโรงงานฯ ต่อไป 


อย่างไรก็ตามประเด็นมี 2 ประเด็นสำคัญที่มาวันนี้คือ ชาวบ้านตั้งคำถามต่อกรมโรงงานฯ และอุตสาหกรรมจังหวัดว่า เมื่อไหร่จะบำบัดแล้วเสร็จตามคำสั่งศาล ซึ่งจะต้องแล้วเสร็จตั้งแต่เดือน ก.ค.ที่ผ่านมา แต่เนื่องจากโรงงานฯ และบริษัทรับบำบัดไปยื่นต่อศาลขยายเวลาการดำเนินการบำบัดเป็น 30 ธ.ค.66 และศาลให้ด้วยอันนี้ก็ต้องยอมให้เวลาบำบัดต่อ และวันนี้ถ้าประเมินจากสถานการณ์ถ้ายังมีปัญหาอุปสรรคอยู่ลักษณะแบบนี้ มีการบำบัดน้ำเสียในบ่อดินที่เป็นน้ำยังไม่ผ่านคุณภาพสักทีคงไม่มีวันเสร็จแน่ เพราะฉะนั้นควรจะมีกระบวนการทางกฎหมายอื่นมาช่วยด้วย คงจะไม่เสร็จทันเวลา ซึ่งสถานการณ์ภาพรวมปัจจุบันไม่ได้อยู่ในการควบคุมของกรมโรงงานฯ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ต่อไปนี้จะไม่ยอมแล้ว ซึ่งมีกรณีเกิดขึ้น โดยทางโรงงานฯ ห้ามบริษัทบำบัด ดำเนินการในบางส่วน ซึ่งโรงงานฯ ไม่มีสิทธิ์ห้ามดังกล่าว เพราะว่าของเสียในโรงงานฯ ศาลสั่งให้กรมโรงงานฯ อายัดแล้ว ทางโรงงานฯ ไม่มีสิทธิ์มายุ่งวุ่นวายแล้ว