เลขาฯใหม่ ก.ล.ต.เร่งกู้ความเชื่อมั่น เดินหน้าตั้งกองทุนเยียวยาเหยื่อ STARK-MORE
นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวถึงกรณีการทุจริตฉ้อโกงที่เกิดขึ้นในการซื้อขายหุ้นของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของทั้งนักลงทุนและผู้ประกอบการ ดังนั้น การเข้ามารับหน้าที่เลขาธิการ ก.ล.ต.คนใหม่ จึงได้ตั้งประเด็นเร่งด่วนที่จะเรียกความเชื่อมั่นกลับมาใน 3 ประเด็น 1.การบังคับใช้กฎหมาย ลงโทษผู้กระทำผิดอย่างเหมาะสม เพื่อสร้างความมั่นใจว่ากระบวนการของบทลงโทษภายใต้อำนาจที่ ก.ล.ต.จะต้องสามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ พร้อมทั้งต้องสื่อสารออกไปถึงสิ่งที่ได้ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว และสิ่งที่กำลังดำเนินการต่อไป รวมถึงสิ่งที่เกินอำนาจ ซึ่งจะต้องประสานต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
2.การป้องกันไม่ให้เกิดกรณีซ้ำเดิม โดยเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมอื่นๆนำมาศึกษาหามาตรการป้องกันให้รอบด้าน และยกระดับการป้องกัน ยกตัวอย่างเช่น บจ.ต้องมีหน่วยงานตรวจสอบภายใน มีคณะกรรมการตรวจสอบ 3.การจับสัญญาณความผิดปกติก่อนเกิดเหตุ
โดยทั้งกรณีของ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) และ บมจ.มอร์ รีเทิร์น (MORE) ก.ล.ต. ไม่ได้นิ่งเฉย แต่ยังคงเดินหน้าตรวจสอบเชิงลึกเพิ่มเติม แม้จะมีการกล่าวโทษผู้กระทำผิดไปบ้างแล้ว โดย STARK ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษใน 3 ข้อหา ได้แก่ ยื่นหนังสือชี้ชวนข้อมูลเท็จ ตกแต่งบัญชี และกระทำทุจริต ส่วน MORE ได้มีการกล่าวโทษเรื่องการสร้างราคาหุ้น ต่อจากนี้หากมีความคืบหน้าจะมีการแถลงร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษต่อไป
"กรณีเคสใหญ่ๆไม่ว่าจะเป็นเคส STARK เคส MORE เราไม่ได้นิ่งนอนใจ กิจกรรมต่างๆที่เราทำ เราไม่ได้รอว่าสิ่งที่เราทำแล้วหยุด คนอื่นรับลูกเราต่อไปที่ดีเอสไอ แต่เราก็ยังทำงานร่วมกันแล้วเมื่อมีหลักฐาน หรือมีสิ่งใหม่ๆเข้ามา พอเรารับทราบ เรารับประเด็นก็นำไปสู่การพิจารณาเพิ่มเติมว่าจะสามารดำเนินการได้ด้วยมาตรการ หรือสิ่งใดบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการขยายฐานความผิด ขยายผู้กระทำผิดมากล่าวโทษเพิ่มเติม สิ่งเหล่านี้อยากให้ความมั่นใจว่า เราทำอยู่ ทำต่อ ให้ความมั่นใจ สิ่งที่อาจเพิ่มขึ้น คือ Proactive ในการออกมาชี้แจง ซึ่งในอนาคต จะเห็นว่าไม่ได้ดำเนินการด้วย ก.ล.ต.อย่างเดียว ก็จะเห็นการร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นตลาดหลักทรัพย์ ก.ล.ต. ดีเอสไอที่จะมาแถลงร่วมกัน ขอให้มั่นใจว่าเรายังดำเนินการอยู่"
ขณะเดียวกัน ก.ล.ต.ยังอยู่ในระหว่างการศึกษากองทุนเยียวยานักลงทุนที่ได้รับความเสียหายจากการทุจริตของ บจ. ซึ่งอยู่ในระหว่างการศึกษาถึงแนวทางและรูปแบบการดำเนินการ คาดว่าจะได้เห็นความชัดเจนภายในสิ้นปีนี้ รวมทั้งจากกรณีที่เกิดขึ้นซึ่งมีความเกี่ยวโยงกับผู้สอบบัญชีหรือสำนักสอบบัญชี ในอำนาจของก.ล.ต. ปัจจุบันผู้สอบบัญชีเป็นผู้มาขึ้นทะเบียนไม่รวมถึงสำนักงานตรวจสอบบัญชี ดังนั้นแผนการระยะยาวซึ่งเป็นหนึ่งในการแก้พ.ร.บ.หลักทรัพย์ จะกำหนดมาตรฐานให้สามารถเข้าไปกำกับดูแลสำนักงานตรวจสอบบัญชีในตลาดทุน ทั้งเรื่องของการให้ใบอนุญาตและการลงโทษเมื่อกระทำผิด