วันที่ 10 ตุลาคม 2566 นางสุภาเพ็ญ ศิริมาตย์ นายกเหล่ากาชาด จ.เชียงราย ได้เดินทางไปพบปะกับญาติของชาวเชียงราย 2 คน คือนายดัว แซ่ย่าง อายุ 35 ปี และนายสมชาย แซ่ย่าง อายุ 26 ปี ที่หมู่บ้านเวียงราชพลี หรือ เวียงคำฟ้า ซึ่งเป็นสาขาของหมู่บ้านป่าสักงาม หมู่ 9 ต.ดงมหาวัน อ.เวียงเชียงรุ้ง จ.เชียงราย เพื่อให้กำลังใจ ทั้ง 2 ครอบครัว ภายหลังทั้ง 2 คน คือ นายดัว และนายสมชาย เดินทางไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลและได้รับแจ้งข่าวว่าได้รับอันตรายจากการโจมตีโดยกองกำลังฮาบาสเมื่อวันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยบางคนเพื่อนร่วมงานได้แจ้งอย่างไม่เป็นทางการว่าทั้งคู่ได้เสียชีวิตแล้วจากเหตุการณ์โจมตีดังกล่าว
โดย นางสาวอรัชพร แซ่จ๊ะ อายุ 34 ปี ภรรยาของนายดัว กล่าวว่า สามีของตนได้เดินทางไปทำงานยังประเทศอิสราเอล กับเพื่อนในหมู่บ้านอีกหลายคน ซึ่งได้สมัครไปทำงานกับสำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงราย โดยไปทำงานประเภทเกษตรกรรม ปลูกผักผลไม้และเลี้ยงสัตว์ ประเภทวัว มีสัญญาจ้างงาน 5 ปี ซึ่งกำลังทำงานมาได้ประมาณ 2 ปีกับอีก 6 เดือน ก็มาเกิดเหตุ
ตนคิดว่าสามีปลอดภัย เพราะก่อนเกิดเหตุก็ยังพูดคุยกันผ่านทางโทรศัพท์ ซึ่งสามีแจ้งว่ามีเหตุปะทะกันแต่พวกตนปลอดภัยดี แต่หลังจากวันนั้นก็ไม่สามารถติตด่อได้ มีการแชร์รูปภาพผู้เสียชีวิตมาซึ่งเสื้อผ้าและรูปร่างคล้ายสามีมาก แต่เมื่อตรวจจริงไม่ไช่ แต่เป็นแรงงานทางภาคอีสาน จึงประสานเพื่อนร่วมงานที่หลบหนีมาได้ปลอดภัยให้ช่วยตรวจสอบ ก็ได้รับแจ้งว่าสามีได้เสียชีวิตจากเหตุยิงถล่มและเผา แต่ไม่สามารถบันทึกภาพออกมาได้ และศพยังอยู่ในที่เกิดเหตุ ไม่มีใครสามารถนำออกมาได้เพราะยังมีการปะทะกันอยู่ พอทราบข่าวเช่นนี้รู้สึกเสียใจมาก เพราะสามีเป็นเสาหลักของครอบครัวเพียงคนเดียว เมื่อขาดไปครอบครัวจะลำบากมาก เพราะมีลูกถึง 3 คน ซึ่งก็อยากให้ทางภาครัฐเร่งตรวจสอบว่าสามีเสียชีวิตจริงหรือไม่ หากจริงก็อยากใเห้เร่งนำศพของสามีกลับมายังบ้านเกิดเพื่อจะได้เห็นหน้าเป็นครั้งสุดท้ายและบำเพ็ญกุศลตามประเพณี และอยากให้เข้ามาช่วยเหลือครอบครัวด้วย
ทางด้าน นางอารีย์ อายุ 24 ปี ภรรยาของนายสมชาย กล่าวทั้งน้ำตาว่า ได้คุยโทรศัพท์กับสามีครั้งสุดท้ายในวันเกิดเหตุโดยเขาบอกว่าไม่ต้องเป็นห่วงเพราะหลบอยู่ในห้องนอน จากนั้นมีเสียงปืนและระเบิดดังสนั่นก่อนที่สายจะหลุดไป อีกวันเพื่อนคนงานแจ้งว่ามีผู้รอดชีวิต 11 คน เสียชีวิตในคอกวัว 3 คนซึ่งระบุชื่อได้และถูกไฟคลอกเหลือแต่กระดูก 5 คน อีกส่วนหนึ่งประมาณ 4 คน ถูกจับไป ตนจึงภาวนาว่า ขอให้สามีเป็นกลุ่มคนที่ยังไม่เสียชีวิต แต่ความหวังเหลือน้อยลงเพราะช่วงที่มีการยิงถล่มเป็นเวลาท้องถิ่นอิสราเอลประมาณ 10.00 น.ซึ่งเป็นช่วงที่สายโทรศัพท์ของสามีหลุดไปพอดี ทั้งนี้ตนกับสามีมีบุตรด้วยกัน 2 คน ยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันเพราะวางแผนว่าหากกลับจากทำงานแล้วจึงจะไปดำเนินการ
นายสมควร อินไชย กำนันตำบลดงมหาวัน กล่าวว่า ในภาพรวมมี ชาว ต.ดงมหาวัน เดินทางไปทำงานที่ประเทศอิสราเอล ประมาณ 25 คน และทราบว่ามีผู้เสียชีวิตจำนวน 2 คน ส่วนคนอื่นๆ ยังติดต่อกับครอบครัวได้ จึงให้ทุกหมู่บ้านได้สอบถามลูกบ้านเพื่อให้แจ้งไปยังทางตำบลและอำเภอแล้ว สำหรับตนเคยไปทำงานที่อิสราเอลเมื่อปี 15 ปีก่อน นาน 4 ปี รู้สึกเป็นห่วงคนที่เหลือโดยเฉพาะเรื่องอาหารเพราะร้านอาหารจะเปิดเวลา 09.00-20.00 น.ซึ่งผู้ผลกระทบมีทั้งคนอิสราเอลและคนไทย ซึ่งจะไปซื้ออาหารกักตุนไว้จากร้านเเดียวกันและอาจมีกระแสไฟฟ้าดับ
สำหรับสาเหตุที่คนนิยมไปทำงานอิสราเอลเพราะได้ค่าตอบแทนสูงเดือนละ 40,000-50,000 บาท และตนไปช่วงเงินบาทลอยตัวได้ 70,000-100,000 บาท ทำงานเป็นระบบวันละ 8 ชั่วโมง มีค่าล่วงเวลา นายจ้างจะดูแลคนไทยดีทั้งอาหารและที่อยู่ดีมาก
ขณะที่นางสุภาเพ็ญ ศิริมาตย์ นายกเหล่ากาชาด จ.เชียงราย กล่าวว่า จ.เชียงราย มีผู้เดินทางไปทำงานที่อิสราเอล 2,174 คน กระจายอยู่เกือบทุกอำเภอ กระนั้นยังไม่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการว่ามีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บ แต่มีการแจ้งกันในสายงานโดยเพื่อนร่วมงานที่เหตุการณ์กับด้วยตาตัวเอง ดังนั้นหน่วยงานต่างๆ เช่น ประกันสังคม พัฒาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ฯลฯ ได้เข้าอธิบายสิทธิประโยชน์หากเสียชีวิตจริง เช่น สัญญาทำงานที่อิสราเอลเป็นกองทุนหากเสียชีวิต 60% ของค่าจ้าง
ซึ่งรายในรายของนายดัวมีบุตร 3 คน ภรรยาจะได้รับเดือนละ 30,000 บาท จนกว่าภรรยาจะเสียชีวิตหรือแต่งงานใหม่ ส่วนลูกได้คนละ 10,000 บาทต่อเดือนจนกว่าจะบรรลุนิติภาวะ เฉลี่ยจะได้รับเดือนละ 60,000 บาท ฯลฯ และจะช่วยเรื่องอาชีพและรายได้เพราะหากเป็นจริงภรรยาก็จะกลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ส่วนรายอื่นๆ ได้แนะนำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดนักจิตวิทยาและสังคมสงเคราะห์ไปหาแต่ละครอบครัวเพื่อลดความเครียดและให้ขวัญกำลังใจ รวมทั้งให้ระวังมิจฉาชีพที่อาจทำทีไปติดต่อว่าจะนำศพกลับไทยได้โดยขอรับเงินจ่ายล่วงหน้าด้วย.