ทันสถานการณ์โลก / ดร.ฉิน อี้
ท่านสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้นำเสนอ “ความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ในปี ค.ศ. 2013 ซึ่งประกอบด้วย “แถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม” และ “เส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21” จวบจนปัจจุบันได้ครบรอบ 10 ปี และเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2022 ที่ผ่านมา ท่านสี จิ้นผิงได้แสดงปาฐกถาสำคัญในการประชุมผู้นำครั้งที่ 29 เวทีความร่วมมือเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (APEC) ที่กรุงเทพฯ ภายใต้หัวข้อ “ร่วมมืออย่างสมัครสมานสามัคคี รับผิดชอบอย่างกล้าหาญ สร้างสรรค์ประชาคมร่วมโชคชะตากรรมแห่งเอเชียแปซิฟิก” ซึ่งท่านได้รณรงค์ให้บรรดาประเทศต่างๆ จับมือร่วมกันสร้างสรรค์ “ประชาคมร่วมโชคชะตากรรม” แห่งเอเชียแปซิฟิก นำความเจริญเฟื่องฟูกลับมาสู่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอีกครั้ง นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2023 นี้ ท่านสี จิ้นผิงได้กล่าวสุนทรพจน์สำคัญในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ โดยกล่าวว่า เนื่องในโอกาสครบรอบหนึ่งทศวรรษแห่งความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ประเทศจีนเตรียมเป็นเจ้าภาพในการจัดเสวนาระดับสูงในด้านความร่วมมือระหว่างประเทศครั้งที่ 3 ว่าด้วย “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ขอเชิญชวนทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในกิจกรรมนี้ เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์เส้นทางแห่งความผาสุกในระดับทั่วโลกสายนี้ให้มีความกว้างใหญ่และราบรื่นยิ่งขึ้น
ภายใต้สถานการณ์ทั่วโลกที่เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในรอบศตวรรษ ท่านสี จิ้นผิงได้ใช้ความริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” สร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อปรับตัวให้เท่าทันสถานการณ์โลกในเชิงลึก นำมาซึ่งการเชื่อมโยงอย่างแน่นแฟ้น ก้าวข้ามอุปสรรคทางภูมิศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นภูเขาสูงใหญ่หรือเส้นทางที่เดิมมีความยาวไกล ล้วนถูกก้าวข้ามกลายเป็นทางสะดวก ประเทศที่เคยเป็น Land Lock ได้รับการพัฒนาขึ้นเป็น Hub แห่งการเชื่อมโยงคมนาคมทางบกและทางน้ำ นำมาซึ่งความภาคภูมิใจอย่างสูงมาสู่ประชาชนหลายๆ ประเทศ นอกจากนั้น การรณรงค์สานประโยชน์ร่วมกันเพื่อคว้าชัยชนะร่วมกัน ทำให้ประเทศต่างๆ ตามแนวเส้นทางหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางได้พบกับโอกาสใหม่ๆ แห่งการพัฒนา ทำให้ประชาชนที่ในอดีตเคยยากจนข้นแค้น สามารถหลุดพ้นจากความยากจน ก้าวสู่ความมั่งคั่งด้วยความมั่นใจ หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเปรียบเสมือนพิมพ์เขียวแห่งยุทธศาสตร์การพัฒนาชาติ ทำให้มวลมนุษยชาติมองเห็นอนาคตอันสดใส “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” จึงกลายเป็นผลิตภัณฑ์สาธารณะในระดับทั่วโลกที่ได้รับการตอบรับและต้อนรับอย่างดีจากสังคมสากล ประเทศจีนได้อุทิศภูมิปัญญาแห่งการพัฒนา สร้างคุณูปการสู่สังคมโลก นำมาซึ่งแนวคิดใหม่ในการพัฒนาชาติในเอเชียแปซิฟิก ก่อเกิดเส้นทางคมนาคมขนส่งใหม่ๆ เช่น เส้นทางรถไฟจีน-ลาว เส้นทางรถไฟจาการ์ตา-บันดุง และช่วยให้รถยนต์พลังงานใหม่ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของจีนก้าวเข้าสู่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่สำคัญ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ได้สร้างสรรค์ “ประชาคมแห่งโชคชะตากรรมร่วมกันในเอเชียแปซิฟิก” และ “ประชาคมแห่งโชคชะตากรรมร่วมกัน ไทย-จีน” และ “ประชาคมแห่งโชคชะตากรรมร่วมกัน จีน-ลาว” ฯลฯ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาประเทศต่างๆ จำนวน 150 ประเทศ คิดเป็น 3 ใน 4 ของประชากรโลก หรือถือเป็นครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจโลก ได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของความเจริญดังกล่าว ข้อริเริ่มนี้นำมาซึ่งโครงการหลายๆ โครงการในภูมิภาค เกิดโครงสร้างพื้นฐานที่มีมาตรฐาน สะดวก-รวดเร็ว เป็นช่องทางขยายและกระชับความสัมพันธ์ประเทศจีนและประเทศที่เข้าร่วมอย่างมีนัยสำคัญ พร้อมกับสนับสนุนความต้องการเชื่อมโยงของโลกบนพื้นฐานของความคิดจะต้องเป็นการสร้างประโยชน์ให้กันและกัน ให้โลกก้าวข้ามพ้นวิกฤตการณ์ต่างๆ เช่น โควิด-19 หรือ สงครามในยูเครน สร้างโอกาสในการค้าและการลงทุนที่ทุกประเทศมีบทบาทความรับผิดชอบร่วมกันให้การเชื่อมโยงนี้มีการสานต่อไป โดยจะสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน ให้ทุกประเทศนั้นบรรลุเป้าหมายการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนร่วมกัน
นายหานจื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ได้กล่าวว่า ผลสำเร็จของ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ได้หลอมรวมจิตวิญญาณแห่งหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง สรุปประสบการณ์ภาคปฏิบัติและวิเคราะห์วิสัยทัศน์แห่งอนาคต ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ได้พัฒนาจากพิมพ์เขียวมาเป็นผลงานที่จับต้องได้ และกลายเป็นผลิตภัณฑ์สาธารณะที่ได้รับการตอบรับด้วยความยินดีสูงสุดในระดับโลก รวมถึงกลายเป็นแพลตฟอร์มความร่วมมือระดับสากลที่ใหญ่ที่สุด นำมาซึ่งการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพพร้อมด้วยประโยชน์อย่างแท้จริงในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชน เป็นผลสำเร็จที่ประจักษ์ชัด นอกจากนั้น ยังส่งเสริมให้เกิดการประสานงานสร้างความเข้าใจตรงกันในภาครัฐผู้กำหนดนโยบายของชาติ ขับเคลื่อนความร่วมมือในการสร้างความเชื่อมโยงอันเป็นผลสำเร็จที่สำคัญ กระตุ้นความสัมพันธ์ทางการค้าและเชื่อมประสานแหล่งทุน สร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันในระดับประชาชนอันนำมาซึ่งความผาสุก “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” เป็นผลสำเร็จที่ประเทศต่างๆ ล้วนตอบรับเป็นอย่างดี ทั้งยังนำมาเสริมกระตุ้นการพัฒนาของประเทศชาติ ทั้งหมดนี้ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงวัตถุประสงค์ของ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ที่มุ่งรณรงค์สร้างความร่วมมือแบบ “คว้าชัยชนะร่วมกัน” เพื่อสร้างสรรค์ประชาคมแห่งโชคชะตาร่วมกันแห่งมวลมนุษยชาติ ซึ่งในอนาคต ประเทศจีนจะยังคงยึดมั่นในแนวทางการพัฒนาเช่นนี้อย่างต่อเนื่องและมีความสม่ำเสมอ เน้นการพัฒนาอย่างมีคุณภาพ ทำให้ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” กลายเป็นเส้นทางแห่งความผาสุก และหวังว่าทุกฝ่ายจะยังคงยึดถือฉันทามติ ขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนและมีคุณภาพ ขจัดอุปสรรคและคลื่นรบกวนต่างๆ จากภายนอก ช่วยกันสร้าง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ให้กลายเป็น “แถบสายแห่งความผาสุก” ต่อไป และร่วมกันอัดฉีดพลังขับเคลื่อนการพัฒนามนุษยชาติสู่ความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน เปิดเผยว่าคณะผู้แทนจากกว่า 130 ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศจำนวนมาก ได้ยืนยันการเข้าร่วมการประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ ครั้งที่ 3 ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในเดือนตุลาคมนี้