วันที่ 10 ต.ค.2566 ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีพล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง เป็นประธานในการประชุม ได้พิจารณารายงานประจำปี 2565 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 โดยมี ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. เป็นผู้ชี้แจง

 

โดย ศ.เกียรติคุณ ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ สว. กล่าวว่า ชื่นชมผลการปฏิบัติงานของ สสส. โดยเฉพาะการได้รับคะแนนจากคณะกรรมการประเมินที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี ที่ได้ถึง 95% คะแนนการทำงานตามหลักธรรมาภิบาลได้ 96% คะแนนประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ของ ปปช. 93% และมีผลงานเด่นหลายเรื่อง ที่เกิดจากการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดี ทั้งการควบคุมการบริโภคบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารไม่ดีต่อสุขภาพ และพฤติกรรมเนือยนิ่ง ทั้งที่มีงบประมาณไม่ถึง 1% ของงบประมาณด้านสาธารณสุขของทั้งประเทศ ขอให้ยึดหลักการทำงานหนุนเสริมภาคีเครือข่ายต่อไป โดยเฉพาะเรื่องยาเสพติด บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่มีเป้าหมายหลักอยู่ที่เด็ก เยาวชน และอยากให้เข้มข้นกับการป้องกันการเกิดโรค NCDs มากขึ้น เพราะเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยกว่า 70% ซึ่งจะตอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติด้วย



นพ.ทวีวงษ์ จุลกมนตรี สว. กล่าวว่า สสส. ให้ความสำคัญเรื่องความโปร่งใสตรวจสอบได้ ทำให้ได้รับคะแนนประเมินการบริหารจัดการที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล ปี 2565 ผลการดำเนินงานในด้านนี้เพิ่มมากขึ้นเป็น 96.7% จากเดิม 92.5% ซึ่งเป็นเรื่องที่หน้ายินดี เพราะองค์กรภาครัฐและทุกองค์กรควรตรวจสอบได้ เพื่อความโปร่งใสในการดำเนินงาน ทั้งนี้อยากให้สสส.สนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ต่อไป เพราะมุ่งสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนตั้งแต่ฐานราก รวมถึงการพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาแพทย์ เพื่อให้ระบบสุขภาพปฐมภูมิมีความเข้มแข็ง และบูรณาการงานความความปลอดภัยทางถนนในเชิงระบบ ระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาความปลอดภัยทางถนนตั้งแต่ระดับชาติ จนไปถึงระดับพื้นที่ ซึ่งจะช่วยป้องกันอุบัติเหตุได้อย่างแท้จริง



นายอนุศักดิ์ คงมาลัย สว. กล่าวว่า สสส. เป็นฐานของการสร้างสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน เป็นกลไกนวัตกรรมเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ โดยเฉพาะโควิด-19 ที่ผ่านมา สสส. มีส่วนสำคัญช่วยขับเคลื่อนเสริมระบบสาธารสุข โดยร่วมกับ อสม. สร้างองค์ความรู้ สร้างความเข้าใจสุขภาพให้ประชาชนผ่านพ้นวิกฤตได้อย่างดี อย่างไรก็ตาม สสส. ควรต่อยอดโครงการบริโภคผัก ผลไม้ ไปสู่อาหารเพื่อสุขภาพ และเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ในอนาคตอาจมีผลิตภัณฑ์สุราจากชุมชนเพิ่มมากขึ้น นำไปสู่ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเป็นความท้าทายของ สสส. ในการทำงานสร้างเสริมสุขภาวะสื่อสาร สร้างสรรค์ สามัคคี เพื่อให้ประชาชนสุขภาพดีอย่างยั่งยืน และสังคมไทยมีความสันติมีอารยะ