นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเร่งสร้างความมั่นใจเดินหน้าในการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต โดยในช่วงที่ผ่านมารู้สึกดีที่มีการถกเถียงกันในสังคมวงกว้าง ทั้งภาควิชาการ ภาคเอกชน และประชาชน ซึ่งเป็นบรรยากาศที่ไม่ได้เห็นมานาน ในการวิพากษ์วิจารณ์มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ห่างหายไปนาน 

ทั้งนี้สภาวะเศรษฐกิจประเทศไทยยังไม่ได้เติบโตเต็มที่ และเติบโตช้ากว่าภูมิภาค ทำให้คุณภาพชีวิตประชาชนยังเปราะบาง มาตรการดิจิทัลวอลเล็ต จึงเป็นการจุดชนวน กระตุกเศรษฐกิจให้เติบโตอีกครั้งหนึ่ง ที่สามารถกระจายทุกพื้นที่ สร้างโอกาสการจ้างงาน สร้างการลงทุน เพิ่มการผลิต และเชื่อมั่นกลไกนโยบายจะประสบผลสำเร็จ

“รัฐจะได้รับเงินคืนมาในรูปแบบภาษี และเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล และ e-Gorvernment ในอนาคต เราเดินหน้าทำตามสัญญาที่ให้กับประชาชน และ รัฐสภาที่ได้แถลงไว้ โดยมุ่งเป้าเศรษฐกิจเติบโต 5% ในระยะ 3-4 ปีหน้า”

รมช.คลัง กล่าวอีกว่า มีคำถามที่สงสัยทำไมต้องมีโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เพราะไทยมีปัญหาสะสม คนไทยยากลำบาก ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากการไปถามประชาชน ประชาชนส่วนใหญ่ในต่างจังหวัด รอมาตรการนี้อย่างมีความหวัง แต่ก็รับฟังข้อเสนอแนะให้รอบด้าน ยืนยันว่าเสียงสะท้อนจากการเลือกตั้ง ชัดเจนว่าตัองเดินหน้าโครงการนี้ให้สำเร็จให้ได้

สำหรับเงื่อนไขที่กำหนดรัศมีที่ใช้ใน 4 กิโลเมตร เป็นอำนาจคณะอนุกรรมการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวอีกครั้ง และมีความเป๋นไปได้มีความขยายกรอบให้เกิดความคล่องตัว อาจเป็นตำบล อำเภอ หรือจังหวัด ได้ข้อสรุปภายในสิ้นเดือน ต.ค.นี้

ส่วนประเด็นแหล่งที่มาของเม็ดเงิน ต้องใช้เวลาในการพิจารณา แต่รัฐบาลจะยึดมั่นในวินัยการเงินการคลัง โดยยึดมั่นมาตลอด ซึ่งจากประสบการณ์พรรคเพื่อไทย เห็นชัดเจนว่า สามารถชำระหนี้ไอเอ็มเอฟได้ก่อนเวลา ยึดมั่นสมดุลการคลัง และมาตรการนี้จะใช้แหล่งงบประมาณเป็นส่วนใหญ่ และจะได้ข้อสรุปในสิ้นเดือน 

"ถ้ายึดกรอบเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่ยึด 2% ต่อปีเหมือนที่ผ่านมา ประชาชนก็ไม่สามารถหลุดจากกับดักได้ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ในการหาจุดสมดุล ในการเติบโตที่เหมาะสม จึงมีความจำเป็นต้องเดินหน้า"

อย่างไรก็ตามยืนยันว่ากระทรวงการคลังจะฟังเสียงทุกภาคส่วน ทั้งภาควิชาการที่สนับสนุน หรือคัดค้าน ภาคเอกชนที่รอคอยด้วยความหวัง ก็จะนำความเห็นทั้งหมดไปหารือในชั้นคณะอนุกรรมการ ฟังความเห็น ประชาสัมพันธ์ทุกอย่างภายในสิ้นเดือนต.ค.

"วันที่ 12 ต.ค.ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนครั้งแรก จะหารือความจำเป็น ประโยชน์ วัตถุประสงค์ โครงการ และมอบหมายคณะอนุกรรมการ ไปหารือประเด็นต่าง ๆ จากนั้น 19 ต.ค. ประชุมคณะอนุกรรมการครั้งที่ 2 หารือ ก่อนเข้าชุดใหญ่ในวันที่ 24 ต.ค. เพื่อเสนอเข้าคณะกรรมการใหญ่ ซึ่งมีข้อเสนอหรือสั่งการอย่างไร เป็นการตัดสินใจชุดใหญ่ต่อไป"