รายการโหนกระแส ออกอากาศวันที่ 9 ต.ค. 66 “หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย” ดำเนินรายการ ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.35 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33 เกาะติดสถานการณ์ ประเทศอิสราเอล ปะทะ กลุ่มฮามาส เข้าสู่สงครามเต็มตัว โดยมีแรงงานไทยได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต โดยสัมภาษณ์ พิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.กระทรวงแรงงาน , ผศ.ดร.มาโนชญ์ อารีย์ อาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มศว., ถึงแนวทางการช่วยเหลือแรงงานให้กลับเมืองไทย รวมทั้งสัมภาษณ์ “แม่มน-ฝน” แม่และน้องสาวของคุณโนช หรือหนุ่ม แรงงานไทยที่ถูกยิงได้รับบาดเจ็บ

ตอนนี้แนวทางช่วยเหลือคนไทยกลับมาบ้านเกิดเมืองนอน มีแนวทางอย่างไร?

พิพัฒน์ : แนวทางจากท่านนายกฯ ได้สั่งเตรียมความพร้อมกับกองทัพอากาศ เตรียมเครื่องบินไว้ทั้งหมด 7 ลำ ซึ่งมีแอร์บัส 340 และซี 130 อีก 6 ลำ เราคิดว่าใน 1,099 คน เมื่อรัฐบาลประเทศอิสราเอลพร้อมให้ทางรัฐบาลไทยส่งเครื่องบินไปรับ ทางเราพร้อมทันทีที่จะไปรับผู้ใช้แรงงานหรือเพื่อนๆ ที่ทำงานในประเทศอิสราเอลทันที

รวมๆ แล้วน่าจะได้สักครึ่งนึง อีกครึ่งนึงเราทำยังไง?

พิพัฒน์ : เราต้องหาวิธี ถ้าเราสามารถไปครั้งเดียวได้ เราก็จะไปครั้งเดียว ในเมื่อประเทศไทยเราไม่พร้อม เราควรต้องเช่าเหมาลำสำหรับสายการบินอื่นเพื่อรับเพื่อนๆ คนไทยให้กลับจากอิสราเอล

อาจเป็นเครื่องบินเอกชนที่เช่าเหมาลำและนำไปช่วย?

พิพัฒน์ : ใช่ครับ

ถ้าอิสราเอลปิดน่านฟ้า การนำเครื่องบินไปรับแรงงาน จะไปช่องทางไหน?

พิพัฒน์ : มีสองแนวทาง อยู่ที่ทางรัฐบาลอิสราเอล ว่าพร้อมให้เครื่องบินเราลงในน่านฟ้าเขาหรือไม่ ถ้าไม่พร้อมอาจไปลงประเทศข้างเคียง ไม่ว่าจะจอร์แดน หรืออียิปต์ ถ้าเป็นลักษณะนั้นเราจะหาวิธีขนแรงงานของเราข้ามประเทศเพื่อมาสู่สนามบินที่เครื่องบินสามารถลงได้ใกล้ที่สุด ความพร้อมตรงนี้เป็นหน้าที่ของกระทรวงต่างประเทศที่จะประสานกับรัฐบาลอิสราเอลว่าพร้อมให้เราบินเข้าไปในอิสราเอล ในสนามบินอะไรได้บ้าง หรือถ้าไม่พร้อมไปในประเทศข้างเคียงประเทศไหนได้บ้าง การขนย้ายแรงงานตรงนี้ เราก็มีการเตรียมเรื่องรถบัส ซึ่งทางรัฐบาล หรือเอเจนซี่ ซึ่งตอนนี้ประสานอยู่แล้วว่าขอให้เตรียมความพร้อมในเรื่องรถบัส ถ้ามีความจำเป็นก็ใช้รถบัสขนเพื่อนๆ คนไทยไปสู่สถานที่ที่เครื่องบินจอดทันที

แม่และน้องสาวของหนุ่มหรือโนช ตอนนี้ยังติดต่อไม่ได้?

แม่มน : แม่ยังไม่ทราบเรื่องในตอนแรก นั่งดูโทรศัพท์เห็นลูกชายโพสต์ว่าเกือบได้เอากระดูกกลับไทย ทำไมมันพูดอย่างนั้น แม่ก็เลยวิดีโอคอล เขาส่งวิดีโอคอลให้ดู วันนั้นเป็นวันเสาร์ที่ผ่านมา พอมีเหตุเขาก็คุยกับแม่ ตอนนั้นเขาโอเค กำลังเดินทางไปเอาพาสปอร์ตที่แคมป์กับเสื้อผ้า แล้วถูกลอบยิง จู่โจมไม่รู้ตัว กระสุนไม่รู้สาดมาจากไหนเลยค่ะ ตอนแรกไม่ถูกลูกชาย ถูกแขนกับเพื่อนก่อน พอพักนึงจะเลี้ยวลงไปที่แคมป์ ใกล้จะถึงแคมป์ ลูกชายไม่รู้ถูกยิงตอนไหน ก็ทะลุคิ้ว เพื่อนเขาบอกมา มีลูกสาวติดต่อไปค่ะ แม่ไม่กล้าพูดเลย

เขานำตัวส่งรพ.หรือยัง?

ฝน :   นำตัวส่งรพ.แล้วค่ะ แต่รพ.ไหนไม่ทราบค่ะ ตอนนี้ติดต่อไม่ได้เลยค่ะ

จะมีแนวทางยังไง?

พิพัฒน์ : ตัวผมเองได้รับรายงานจากอัครทูตแรงงานไทย ได้แจ้งมาว่าอาการค่อนข้างหนัก แต่อยู่ในรพ.อิสราเอล เขาก็ไม่ได้แจ้งมาว่ารพ.อะไร แต่อยู่ในมือของหมอแน่นอน ขณะนี้ก็ยังปลอดภัยดีอยู่ แต่ถามว่าอาการหนักมั้ยก็ค่อนข้างหนัก

ถ้าอาการดีขึ้นน่าจะเอาตัวกลับมาเลย?

พิพัฒน์ : ต้องให้ทางหมออนุญาตเราถึงเอากลับมาได้ ถ้าอาการหนักแบบนี้ เชื่อว่าทางเอเจนซี่และเจ้าของบริษัทคงดูแล โดยเฉพาะรัฐบาลไทยโดยสถานทูตประจำอิสราเอล คงดูแลอย่างดี

ล่าสุดขณะที่นำเสนอรายการ มีเพื่อนหนุ่มติดต่อมา บอกหนุ่มอยู่รพ. เขาส่งเข้ามาในเพจว่ามีเข้าไป 3 คน ออกมาแล้ว 2 คน เหลือมาโนช 1 เขาส่งมาบอกสดๆ ตอนนี้ยังอยู่ในการดูแลของหมอ มุมแรงงานไทยที่อยู่ฝั่งอิสราเอล ประมาณเท่าไหร่?

พิพัฒน์ : ตีว่า 3 หมื่นคน แต่อยู่ในจุดที่มีการปะทะประมาณ 5 พันคน แต่ขณะที่มี 5 พันคนตอนนี้ ทางกองทัพอิสราเอลได้ขนย้ายแรงงานไทยกับประเทศอื่นๆ เข้าไปอยู่ในที่ปลอดภัย ขณะนี้ก็มีการขนย้ายกันอยู่ เมื่อการปะทะเบาบางก็จะรีบขนย้ายโดย 12 เอเจนซี่ที่นำรถมาช่วยในการขนย้าย

ขอถามอาจารย์ ความบาดหมางอิสราเอลกับปาเลสไตน์ มีมานานกว่า 100 ปี แล้วต้นเหตุมันเกิดจากอะไร เพราะหลายคนไม่ทราบ?

ดร.มาโนชญ์ : ขอสรุปย่อๆ ว่าเดิมทีเดียว ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในดินแดนที่เป็นปาเลสไตน์อยู่ในปัจจุบัน ตรงนั้นเป็นดินแดนชาวปาเลสไตน์อาศัยอยู่ และมีชาวยิวอยู่บ้าง เพียงแต่พอหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ด้วยกระแสที่ชาวยิวถูกฮิตเลอร์สังหารฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ทางสหประชาชาติจึงเห็นว่าควรมีรัฐๆ นึงตั้งขึ้นมาสำหรับชาวยิวโดยเฉพาะ ซึ่งสหรัฐอเมริกาก็สนับสนุน โซเวียตก็สนับสนุน ทีนี้ก็มีมติออกมาให้ตั้งรัฐอิสราเอล รัฐยิวในดินแดนปาเลสไตน์ ปัญหาก็คือว่าในการออกข้อมติตั้งรัฐอิสราเอล บนดินแดนปาเลสไตน์ มันพลาดตรงไม่ได้ถามชาวปาเลสไตน์ว่าโอเคมั้ย และไม่ได้ถามความยินยอมพร้อมใจของอาหรับที่อยู่รอบๆ นั้น ดังนั้นคนพวกนี้เขาก็ไม่ยอมรับข้อมติของสหประชาชาติ เพราะตอนนั้นหลักการที่สำคัญของสหประชาชาติ คือการกำหนดใจตนเอง การปกครองตนเอง เมื่อพ้นยุคอาณานิคม แต่ละพื้นที่ของตัวเองต้องได้รับสิทธิ์ในการปกครองตนเอง กำหนดทิศทางอนาคตของตัวเอง แต่ข้อมติของยูเอ็น ให้ตั้งรัฐอิสราเอล โดยที่ไม่ได้ถามชาวปาเลสไตน์ มันจึงเป็นบาดแผลมาถึงทุกวันนี้ แล้วในวันที่มีการตั้งรัฐอิสราเอล วันนั้นเป็นวันหายนะ ทำให้เกิดปัญหาผู้ลี้ภัย ผู้อพยพชาวปาเลสไตน์กระจัดนอกพื้นที่ 7-8 แสนคน ทุกวันนี้เพิ่มเป็น 3-4 ล้าน ยังไม่มีที่อยู่อาศัย นี่คือรากของปัญหา

ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สองถึงตอนนี้ กินเวลาหลายปีมาก เหตุนี้รุนแรงที่สุดมั้ย?

ดร.มาโนชญ์ : ในอดีต มีสงครามระหว่างอิสราเอลและอาหรับมาแล้วหลายครั้ง ตั้งแต่ปี 1948 1967 1973 แต่หลังจาก 1973 จนถึงปัจจุบัน 50 ปี ยังไม่มีสงครามอาหรับอิสราเอลเกิดขึ้นอีกเลย แต่เป็นปัญหาการสู้รบกันระหว่างอิสราเอลกับบรรดากลุ่มฮามาส กลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ในปาเลสไตน์ทุกวันนี้แบ่งออกเป็นสองส่วน ที่ไม่ได้มีดินแดนติดกัน ส่วนหนึ่งมาทางฝั่งตะวันออก ที่ติดจอร์แดน เขาเรียกเวสต์แบงก์ ส่วนหนึ่งที่ไปทางตะวันตก ลงใต้ลงไปติดกับอียิปต์ เขาเรียกว่าฉนวนกาซา ฝั่งเวสต์แบงก์ อดีตเคยเป็นกลุ่มติดอาวุธที่ต่อสู้กับอิสราเอลมาก่อน แต่ตอนหลังหันมาสู้บนโต๊ะเจรจา หันมาพูดุคุยกันและมีแนวทางออก ยอมให้อิสราเอลตั้งรัฐขึ้นมา ในขณะเดียวกันต้องตั้งรัฐปาเลสไตน์มาคู่กัน แนวทางนี้เป็นที่ตกลงและยอมรับของสหประชาชาติ อิสราเอล ปาเลสไตน์แทบจะทั้งหมด เพียงแต่ว่าข้อตกลงที่ออกมาไม่ถูกนำมาปฏิบัติ โดยปาเลสไตน์ก็ไม่เป็นรัฐซะที ขณะที่ฝั่งเวสต์แบงก์เจรจาไปก็ประท้วงกันไป มีการขยายอาณานิคมเข้าไปในเวสต์แบงก์ น้อยลงเรื่อยๆ ตรงนี้เลยกลายเป็นปัญหาส่วนหนึ่ง อีกฝั่งคือกาซาที่ไม่ยอมเจรจากับอิสราเอล นำโดยกลุ่มฮามาสที่กำลังต่อสู้กลุ่มนี้ไม่เชื่อในการเจรจากับอิสราเอล ว่ามันจะประสบความสำเร็จ เขาก็จับอาวุธและต่อสู้มาโดยตลอด แต่ว่ามีอยู่ครั้งนึงในปี 2006 เขายอมเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง ในปาเลสไตน์ ปรากฏว่ากลุ่มฮามาสได้รับชัยชนะในครั้งนั้น เตรียมที่จะจัดตั้งรัฐบาลขึ้นเป็นประธานาธิบดี แต่ว่าทางอิสราเอล และสหรัฐอเมริกา บอกว่าไม่ได้ กลุ่มฮามาสเขาไม่ยอมรับเพราะกลุ่มนี้เป็นกลุ่มก่อการร้าย จากนั้นพื้นที่กาซาตรงนี้อิสราเอลก็ปิดล้อมมาโดยตลอดทั้งทางบก ทะเล อากาศ พรมแดนที่ติดกับอียิปต์ก็ปิดด้วย ตั้งแต่วันนั้นมาจนถึงวันนี้

เมื่อกี้ถามรอบนอกว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับเรื่องสงครามทางศาสนามั้ย อาจารย์บอกว่าไม่ใช่
ดร.มาโนชญ์ : ที่มาที่ไปของมันถ้าดูให้ดีเป็นเรื่องดินแดนและสิทธิทางการเมือง แต่ตอนหลังถูกโยงเข้าไปกับเรื่องศาสนา เพราะพื้นที่ตรงนี้มันเป็นพื้นที่สำคัญ มันเป็นเมืองเก่าที่ผูกพันผูกโยงกับคนทั่วโลก คือศาสนาคริสเตียน ยูดาห์ และอิสลาม ฉะนั้นมันจึงถูกทำให้เข้าใจหรือโยงมาเรื่องศาสนา อย่างกรณีล่าสุดที่สถานการณ์รุนแรงถ้าไปดูชื่อของปฏิบัติการกลุ่มฮามาสเขาเรียกว่าปฏิบัติการพายุมัสยิดอัลอักซอ นั่นหมายความว่าปฏิบัติการครั้งนี้ มีความเกี่ยวเนื่องเกี่ยวโยงกับศาสนสถานที่เรียกว่ามัสยิดอัลอักซอ ซึ่งอยู่ในนครเยรูซาเล็ม มัสยิดตรงนี้มีความสำคัญลำดับที่สามของโลกมุสลิม ประเด็นคือที่ผ่านมาหลายครั้งถ้าสังเกตให้ดี ถ้ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นที่มัสยิดแห่งนี้มักลุกลามบานปลายไปสู่การปะทะกันระหว่างอิสราเอลกับฮามาส ทีนี้ความน่าสนใจของครั้งนี้คือในวันที่ 5 วันที่ 6 ซึ่งเป็นวันหยุดทางศาสนาของอิสราเอล ชาวอิสราเอลจำนวนหนึ่งปกติจะไปแสวงบุญรอบๆ มัสยิดมัลอักซอ ซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นวิหารโซโลมอนในอดีต ประเด็นคือในปีนี้เนื่องจากรัฐบาลอิสราเอลที่ได้ชื่อว่าเป็นรัฐบาลที่มีความเข้มข้นเรื่องชาตินิยมและขวาจัดที่สุดในประจัดศาสตร์ ก็ทำให้มีกลุ่มอิสราเอลที่ชาตินิยมสูงด้วยขึ้นไปในมัสยิดอัลอักซอ ขึ้นไปประมาณพันกว่าคน แล้วมีเจ้าหน้าที่คอยล้อมอยู่ และกันไม่ให้มุสลิมเข้า พื้นที่ตรงนี้ตามหลักกฎหมายข้อตกลงระหว่างประเทศเขาสงวนไว้สำหรับมุสลิมที่ประกอบพิธีทางศาสนาเท่านั้น ส่วนคนนอกถ้าจะเข้าไปต้องเข้าไปอย่างสงบเงียบ ไม่เข้าไปประกอบพิธีทางศาสนา แต่ครั้งนี้มีการประกอบพิธีทางศาสนาด้วย เขาก็มองว่าถูกยั่วยุ จึงนำมาสู่ปฏิบัติการในวันที่ 7

ล่าสุดต้องเปลี่ยนแผนลำเลียงคนเจ็บกลับมาก่อน?

พิพัฒน์ : ใช่ครับ จากการแจ้งข่าวเมื่อสักครู่ ทางท่านเอกอัครราชทูตประจำที่อิสราเอล ก็แจ้งมาว่าเบื้องต้นจะลำเลียงคนที่ได้รับบาดเจ็บผ่านสายการบินพาณิชย์กลับมาสู่ประเทศไทยลำดับแรก จากนั้นจึงจะนำเครื่องบินจากกองทัพอากาศไปนำเพื่อนๆ คนไทยที่ไปทำงานที่อิสราเอลกลับมา สิ่งต่างๆ เหล่านี้เรายังต้องทำเป็นขั้นตอน หลักใหญ่ต้องให้กระทรวงต่างประเทศประสานโดยตลอด ซึ่งกระทรวงแรงงานของเรา ทำยังไงก็ได้ดูแลคนงานไทยในทุกๆ ประเทศ ซึ่งจากเหตุการณ์ที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นตรงนี้ กระทรวงแรงงานเราก็เตรียมความพร้อมว่าแรงงานที่จะกลับมาหลายๆ ท่านมีความกังวลว่าเมื่อกลับมาสู่ประเทศไทยแล้วอาจไม่ได้กลับไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลอีก ซึ่งตัวผมเองก็ขอยืนยันว่ากระทรวงเอง ตัวผมเอง จะพยายามประสานกับนายจ้าง ประสานกับ 12 เอเย่นต์ที่รับคนงานไปทำงานที่อิสราเอล ตรงนี้คุณกลับมาช่วงภาวะที่เกิดความไม่สงบ แต่หลังจากทุกอย่างเรียบร้อย ทางกระทรวงแรงงานจะหารือและส่งพวกคุณกลับไปทำงานในที่เดิมของคุณให้ได้ ไม่ต้องกังวลใจ ส่วนกรณีถ้ามีค่าใช้จ่ายอะไรตรงนี้ ตัวผมเองได้หารือปลัดกระทรวง พวกเราคงหาวิธีระดมทุนเป็นเบื้องต้น ในเรื่องค่าใช้จ่ายบางส่วนให้เพื่อนๆ กลับไปทำงานเหมือนเดิม ถ้าขาดหรือขัดข้องประการใด คงไปหารือกับท่านนายกฯ ว่าทางรัฐบาลจะช่วยสนับสนุนอะไรได้บ้าง แน่นอนเบื้องต้นพวกเราจะช่วยกันและดูแลกันในเบื้องต้นครับ

ล่าสุด 1,099 คนขอกลับแล้ว ไม่สนแล้ว จะได้กลับไปทำงานมั้ยไม่รู้ขอกลับบ้านก่อน เพราะตอนนี้กลัวมาก ยังมีอีก 22 คนไทยที่ไม่กลับ กังวลใจกลัวกลับไปไม่ได้อีก?

พิพัฒน์ : ให้กลับมาก่อนดีกว่า ให้เอาตัวเราให้รอดปลอดภัยไว้ก่อนดีกว่า เพราะเชื่อว่ารัฐบาลไทยเราเป็นห่วงเพื่อนๆ ที่ไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลทุกท่าน สุดท้ายเอาตัวกลับมาสู่อ้อมกอดครอบครัวให้ได้ เมื่อกลับมาแล้วเป็นหน้าที่กระทรวงแรงงาน เป็นหน้าที่รัฐบาลที่จะส่งพวกคุณกลับไปทำงานอีกครั้ง

การเยียวยามีมั้ย?

พิพัฒน์ : มีการเยียวยาในเบื้องต้น โดยเฉพาะถ้าหากบาดเจ็บ รัฐบาลอิสราเอลเขามีการเยียวยาให้สำหรับคนบาดเจ็บหรือเสียชีวิต คนนึงประมาณ 1 ล้าน 4 แสนกว่าบาท หรือกรณีภรรยาสามีเสียชีวิต เขาดูแลเป็นรายเดือนจนกระทั่งภรรยาได้สามีใหม่ หรือจนกระทั่งลูกได้บรรลุนิติภาวะ

จำเป็นมั้ยว่าเขาต้องอยู่ที่โน่น?

พิพัฒน์ : กลับมาที่นี่เขาก็จะดูแล ถ้าเสียชีวิต แน่นอนรัฐบาลอิสราเอล ก็ดูแลในส่วนนึง กระทรวงแรงงานก็ดูแลส่วนนึง ซึ่งทั้งสองส่วนตรงนี้อยู่ที่ความชัดเจน เท่าที่ทราบจากรัฐบาลอิสราเอล ประมาณ 1 ล้าน 4 แสนนกว่าบาท

ของไทยล่ะ?

พิพัฒน์ : เรามีให้แค่ 4 หมื่นบาท สำหรับผู้เสียชีวิต แต่กระทรวงต่างประเทศของไทยก็มีอีกส่วน แต่ตรงนี้หมายความว่าการไปทำงานในต่างประเทศไม่เข้าอยู่ในระบบประกันสังคม ประกันสังคมเราดูแลเฉพาะคนงานที่ทำงานในประเทศไทย หรือคนงานเพื่อนบ้านที่มาทำงานในประเทศไทยและเข้าสู่ระบบประกันสังคม ประกันสังคมถึงเข้ามาดูแล แต่ถ้าออกไปทำงานต่างประเทศ ต้องมีบริษัทต่างประเทศเป็นผู้ดูแล หรือเจ้าของประเทศที่รับคุณเป็นแรงงานเขาจะต้องมีมาตรการในการดูแล ซึ่งแต่ละประเทศก็ไม่เหมือนกัน

ครอบครัวผู้เสียชีวิตที่ไปทำงานต่างประเทศเขาไม่สบายใจ เพราะส่วนใหญ่จะถูกฌาปนกิจและส่งกระดูกกลับมา ครั้งนี้เราจะนำร่างเขากลับมาให้ญาติพี่น้องเขาได้มั้ย?

พิพัฒน์ : ตรงนี้ไม่น่ามีปัญหา อยู่ที่วัตถุประสงค์ของครอบครัวว่าจะเอาร่างกลับมาหรือแค่กระดูกกลับมา เรามีเครื่องบินบินไปรับอยู่แล้ว ถ้ามีความพร้อมก็จะเอาร่างกลับมาให้ได้ด้วย

หนุ่มทำงานที่โน่นกี่ปีแล้ว?

แม่มน : เข้าปีที่ 5 แล้วค่ะ ทำเกษตรค่ะ รายได้ไม่แน่นอน ไม่ได้เป็นเงินเดือน ได้เป็นรายวัน วันนึงตกวันละ 160 แต่เป็นเงินเขาค่ะ ต้องอยู่กับที่ค่าเงินของเราค่ะ ถ้าค่าเงินเราแข็งก็ได้น้อยค่ะ

ไปอยู่ที่โน่น 5 ปี เขาบอกมั้ยว่ามีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นมั้ย?

แม่มน : มีค่ะ แต่ไม่รุนแรงเท่าครั้งนี้ค่ะ พ.ย. ก็เกือบโดนกระสุน ห่าง 1 เมตรค่ะ ที่คนไทยตายประมาณหนึ่งหรือสองคน ที่จำได้ ลูกชายก็เกือบโดนค่ะ

หนุ่มอยู่ใกล้ชายแดน?

แม่มน : ใช่ค่ะ รถถังก็ไปอยู่ที่ป่าแตงโมเลยค่ะ

เราเลือกไม่ไปอยู่ตรงนั้นได้มั้ย?

แม่มน : มันขึ้นอยู่กับนายจ้างเรียกตัวตอนเราเดินทางไปค่ะ

มันเปลี่ยนแปลงอะไรได้มั้ย จุดยุทธศาสตร์มันน่ากลัวมาก?

พิพัฒน์ : แรงงานเกษตรผมเชื่อว่าเรามีแรงงานไทย ทั้งภาคเหนือ กลาง ใต้ ส่วนที่เกิดเหตุอยู่ภาคใต้ของประเทศอิสราเอล ซึ่งภาคใต้ทั้งหมด ไม่ได้มีเฉพาะ 5 คนนะ แต่บริเวณที่เกิดเหตุมีประมาณ 5 พันคน ส่วนภาคใต้มีแรงงานไทยไปใช้แรงงานที่นั่นประมาณ 12,000 กว่าคน แต่ทั้งประเทศจริงๆ ประมาณ 29,000 เกือบๆ 3 หมื่น ตรงนี้ต้องอยู่ในพื้นที่เกษตรที่เขาทำการเกษตร ฉะนั้นบางครั้งเราก็ไม่สามารถเลือกได้ อย่างที่คุณแม่พูด อยู่ที่นายจ้างจะจ้างเราไปอยู่ตรงไหน เท่าที่ทราบอดีตก็ไม่มีเหตุการณ์ที่รุนแรงขนาดนี้ เมื่อมีเหตุการณ์รุนแรงก็ไม่ได้มีความสูญเสียมากมายขนาดนี้ มีแค่ว่ายิงขีปนาวุธข้ามแดนมา แต่ไม่มีเหตุการณ์บุกเข้ามาถึงขนาดนี้

ดร.มาโนชญ์ : สถานการณ์ขณะนี้อยากให้คนไทยกลับบ้าน ออกจากพื้นที่เร็วที่สุด เนื่องจากวันนี้นักวิเคราะห์มองว่าสถานการณ์มันอันตรายที่สุดในรอบ 50 ปี ถ้าเราไปฟังเสียงสัญญาณทั้งสองฝ่าย เกรงว่ามันจะยกระดับอีกพอสมควร เพราะถ้าฟังโฆษกกลุ่มฮามาส เขาบอกว่าปฏิบัติการครั้งนี้เขาเรียกว่าเป็นการตอบโต้การกระทำอิสราเอลในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมาต่อชาวปาเลสไตน์ มีเป้าหมายคือยุติการยึดครองของอิสราเอล มีเป้าหมายคือการทวงคืนดินแดนของเขา นี่คือคำพูดของโฆษกฮามาส นั่นหมายความว่าถ้าเขาจะเอาดินแดนคืน เขาต้องรุกเข้าไป แล้วจะสิ้นสุดเมื่อไหร่เราไม่รู้ ถ้าฟังสัญญาณจากอิสราเอล อิสราเอลเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางทหารสูงมาก นายกฯ อิสราเอล หลายครั้งที่มีปฏิบัติการในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็รุนแรงอยู่แล้ว แต่เขาไม่ได้ใช้คำว่าภาวะสงคราม แต่ครั้งนี้เขาใช้คำว่าภาวะสงครามและต้องการกวาดล้างกลุ่มฮามาสที่เขามองว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย ฉะนั้นเป้าหมายแต่ละฝ่ายสูงมากในการจัดการกับอีกฝ่ายให้ราบคาบ ผมถึงเห็นสัญญาณที่น่ากลัวและจะดึงตัวแสดงอื่นๆ กลุ่มอื่นๆ เข้ามาร่วมด้วย

ต่างฝ่ายต่างมีผู้หนุน สงครามครั้งนี้น่าจะยืดเยื้อและปะทุใหญ่โตได้ เพราะสหรัฐยืนอยู่ฝั่งอิสราเอล แต่มีหลายประเทศยืนอยู่ฝั่งปาเลสไตน์ ฉะนั้นแรงงานไทยควรกลับ ถ้าคนไม่ได้อยู่ตรงชายแดน อยู่ห่างออกไป?

ดร.มาโนชญ์ : ผมว่ามันเป็นความสำคัญในระดับรองลงไปที่เราน่าจะช่วยในระดับถัดไป แต่ไม่ถึงขนาดต้องกลับในขณะนี้ พวกที่อยู่ข้างบนทางเหนือ แต่ที่ติดกับกาซาเห็นควรว่าต้องรีบกลับ ผมว่าเราอาจแบ่งการช่วยเหลือเป็นสองส่วน ในส่วนที่อยู่ในอิสราเอล กับส่วนที่อยู่ภายใต้การควบคุมของฮามาส คนกลุ่มนี้จะเจรจาและปล่อยตัวออกมาทางช่องทางไหน เพราะถ้าเข้าไปในกาซาแล้วไปออกอียิปต์ ก็สุ่มเสี่ยงที่จะถูกปฏิบัติการทางอากาศของอิสราเอลเข้ามาโดนลูกหลง ผมว่าตรงนี้ควรวางแผนในการช่วยเหลือ

ตอนนี้ประกาศเป็นภาวะสงครามแล้ว นี่ถือว่าเป็นครั้งแรกได้มั้ย?

ดร.มาโนชญ์ : มีหลายอย่างที่เรากังวล เช่นกรณีที่สหรัฐอเมริกาสนับสนุนอิสราเอล พร้อมส่งอาวุธ กองเรือเข้าไป ก็เป็นการส่งสัญญาณอย่างนึงที่อาจลุกลามบานปลาย กลายเป็นสงครามระดับภูมิภาค

เห็นฝั่งอิสราเอลประกาศว่าจะบดขยี้ไม่ให้เหลือซาก?

ดร.มาโนชญ์ : ใช่ครับ วันที่อิสราเอลประกาศภาวะสงคราม เราจะเห็นว่าราคาน้ำมันพุ่งปรี๊ดเลย ดอลล่าร์ก็แข็งค่าขึ้นมาเพราะมันผูกโยงกัน ย้อนไปเมื่อปี 1973 มีสงครามอาหรับกับอิสราเอล ครั้งนั้นตะวันตกก็สนับสนุนอิสราเอล พวกอาหรับเลยรวมกันเล่นงานตะวันตก ไม่ขายน้ำมันให้ ทำให้ราคามันสูงขึ้น เกิดวิกฤตราคาน้ำมัน พอมาช่วงนี้ ผมคิดว่าตลาดน้ำมันมันตื่นตัวแล้ว ว่าจะเกิดสงครามขึ้น มันเลยดันราคาน้ำมันขึ้น

วิธีการเอาคนไทยกลับมา ต้องทำยังไง ถ้าเขาดูกันอยู่จะได้แนะนำกันได้?

พิพัฒน์ : ตอนนี้ทางสถานทูตไทยประจำอิสราเอล เขาเปิดให้ลงชื่อแล้วครับ ว่าขอกลับสู่ประเทศไทย

มีแค่ 1,099 คนที่กรอกข้อมูล?

พิพัฒน์ : กรอกผ่านตัวแทนหรือเอเย่นต์ที่ส่งคนงานไทยไปทำงานที่อิสราเอล ใน 12 เอเยนต์เป็นตัวแทน เป็นบริษัทของอิสราเอล ซึ่งเป็นตัวแทนประเทศไทยที่ทางเราฝากให้เขาดูแลคนงานไทยทั้งหมด

คนงานไทยในอิสราเอลเขารู้อยู่แล้วว่าต้องกรอกที่ไหน?

พิพัฒน์ : เขารู้อยู่แล้ว เรามีการสื่อสารผ่านเอเยนต์ทั้งหมดครับ

5 พันคนอยู่ใกล้จุดปะทะ ตอนนี้มีลงนามมา 1,099 คนที่จะกลับไทย เหลืออีก 4 พันคน ถ้าท่านมองว่ายังไม่อยากกลับเพราะถ้ากลับมาแล้วจะกลับไปไม่ได้อีก วันนี้ท่านรัฐมนตรีบอกว่าไม่ต้องกังวล ให้เอาชีวิตกลับมาก่อน ถ้ากลับไปเดี๋ยวกระทรวงแรงงานจะจัดสรรให้อีกทีนึง?

พิพัฒน์ : เป็นหน้าที่กระทรวงแรงงานและรัฐบาลไทยเราจะช่วยสนับสนุนและเจรจากับทางนายจ้างว่าให้แรงงานเหล่านี้ที่กลับมาสู่ประเทศไทยในช่วงไม่สงบ ได้กลับไปทำงานที่เดิม ในภาวะสงครามแบบนี้ สุดท้ายเขาก็ทำงานอะไรไม่ได้อยู่แล้ว แต่ถ้าสงครามยุติ สงบ ผมเชื่อว่าแรงงานหลายท่านก็ไม่อยากเดินทางไปกลับ ถ้าเป็นไปได้ก็ขอให้แรงงานไทยพยายามติดต่อเอเยนต์ทั้ง 12 เอเยนต์อย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้รู้ว่าความเคลื่อนไหวเป็นอย่างไร ถ้าติดต่อสายด่วนในประเทศไทยก็ 1694 ติดต่อได้เลยตลอด 24 ชม. เพื่อช่วยเหลือแรงงาน และติดตามการสู้รบในอิสราเอล

แม่ติดต่อหนุ่มไม่ได้อีกเลย ติดต่อเพื่อนหนุ่มก็ไม่ได้ หลังเราเสนอไป นุเพื่อนหนุ่มอยู่ในเหตุการณ์ ยังอยู่ที่อิสราเอล ติดต่อเข้ามา เป็นเพื่อนกับหนุ่ม ตอนเกิดเหตุเกิดอะไรขึ้น?

นุ : วันเกิดเหตุ เป็นวันเสาร์ที่ 7 แล้วประมาณช่วงเวลา 6 โมงกว่าๆ ได้ยินเสียงระเบิด วันนั้นเราพากันทำโอ และได้ยินเสียงระเบิด ผมโทรบอกนายจ้างว่าขอเลิกงานเพราะมันไม่ปลอดภัย นายจ้างมารับไปพักที่บ้านนายจ้าง สักกิโลกว่าๆ ช่วงเที่ยงกว่าๆ เหตุการณ์คลี่คลายแล้วไม่มีเสียงระเบิด กะว่าพามาเก็บเอกสาร พาสปอร์ตเสื้อผ้าไปพักที่เดิม แล้วระหว่างที่กลับมาจากหมู่บ้าน มาที่พัก ก็ใกล้จะถึงแล้ว ประมาณ 30 เมตร ตอนนั้นเที่ยงๆ เกือบบ่ายโมง คนที่มามีคนไทยอยู่ 9 คน

ฝั่งนุจะบอกว่าจริงๆ แล้วฝั่งปาเลสไตน์เขาใช้รถเป็นรถกระบะสีขาวเหมือนกัน คุณเองก็ใช้กระบะสีขาวเหมือนกัน?

นุ : ใช่ครับ เรามาทราบทีหลัง เพราะดูอินเตอร์เน็ตไม่ได้เลย โดนตัดตอนนั้น ใกล้ถึงที่พักก็ได้ยินเสียงเหมือนประทัด เราก็พากันดูล้อว่าล้อเหยียบอะไร แต่มองไปที่ข้างรถมันไม่ใช่แล้ว เป็นกระสุนที่ยิงมาจากฝั่งข้างซ้าย ยิงรัว

รถคันนั้นนั่งมากี่คน?

นุ : มีคนไทย 9 คนหนึ่งในนั้นหนุ่มนั่งกระบะหลังกับผม นั่งข้างกันเลย เรายัดกระบะหลัง เพราะข้างหน้าเต็มแล้ว มีคนในพื้นที่อีก 3 รวมคนขับรถด้วย นายจ้างอยู่ในนั้นด้วย รวม 12 คนครับ

มีเสียงดังขึ้นหลายนัดมั้ย?

นุ : น่าจะเป็นชุดครับ พอหันไปดูว่าล้อเหยียบอะไร เห็นดินมันพุ่งขึ้นๆ ก็คิดว่าไม่ใช่แล้ว มันเลยแคมป์ มันเป็นที่โล่งกว้าง เป็นหน้าแล้ง ยิงรัวเป็นกิโล เพราะเส้นทางที่เราจะไปเป็นเส้นทางที่มีเจ้าหน้าที่ตั้งด่าน เจ้าหน้าที่ก็มองเห็นรถเราได้

จากนั้นยังไงต่อ?

นุ : เลยแคมป์ไปมีคนไทยถูกยิงคนนึง ชื่อโจ เป็นนามสมมติ คนแรกที่ถูกยิงที่เข่า ถัดไปคือคุณมา เป็นนามสมมติ ถูกยิงที่ต้นขา และขับไปจนเกือบเข้าที่ปลอดภัยแล้ว หนุ่มก็บอกคนชื่อมาว่าใจเย็นๆ ใกล้ถึงแล้ว หนุ่มเงยหน้าขึ้นเพื่อมองทางข้างหน้าก็เลยถูกกระสุนเข้าที่แก้ม ข้างซ้ายหรือเปล่าผมไม่แน่ใจ เขานั่งหันหน้าไปข้างหน้า แต่ทางคู่ขนานที่ยิงมาเป็นข้างซ้าย ตอนนั้นหนุ่มก็ฟุบไป มีคนไทยด้วยกันจับกดหัวให้ แล้วไปหลบที่บ้านนายจ้าง นายจ้างก็แจ้งกู้ภัยให้มารับตัวไป ช่วงนั้นก็เข้ารพ. ไป ตอนแรกเป็นรพ.เมืองใกล้ๆ ตอนนี้ย้ายรพ.

โดนยิงกี่คน?

นุ : คนไทยโดนยิง 4 คน มีเพื่อนนายจ้างคนนึงโดนยิงหลัง

4 คนนี้ตอนนี้อยู่ที่ไหน?

นุ : อยู่แคมป์เดียวกัน เหลือแต่หนุ่มที่ยังไม่ได้ออกจากรพ. ตอนนี้เราก็ทราบว่าหนุ่มอยู่รพ.ไหน ตอนนี้ยังติดต่อหนุ่มไม่ได้ โทรศัพท์หนุ่มอยู่กับเพื่อนร่วมงานคนนึง

หนุ่มพ้นขีดอันตรายหรือยัง?

นุ : เมื่อวันก่อนถามนายจ้างอีกคน เขาบอกว่าไม่น่าจะเสียชีวิตนะครับ

คุณแม่กับน้องสาวสบายใจได้เนอะ?

นุ : ครับ

หนุ่มพูดได้หรือยัง?

นุ : ยังติดต่อไม่ได้ครับ

เห็นตอนแรกคุณนุบอกว่าเขาเริ่มพูดได้แล้วหรือเปล่า?

นุ : ยังครับ ตอนแรกติดต่อไปที่รพ. เขาบอกจะแจ้งมาทางญาติเอง

คุณนุต้องการกลับเมืองไทยมั้ย?

นุ : ตอนนี้เห็นมีกระทรวงเขาออกแบบฟอร์มมาคนไทยรอดูสถานการณ์ก่อน ยังไม่ได้สอบถามว่าต้องการจะกลับมั้ย

ตอนนี้คนไทยที่อยู่ที่โน่น มีคนไทยอยากกลับอีกมั้ย?

นุ : ตอนนี้ยังครับ ทางกระทรวงเพิ่งติดต่อมาเมื่อเช้าครับ

แม่อยากบอกอะไรมั้ย?

แม่มน : ดูแลตัวเองด้วยนะลูก ดูแลหนุ่มด้วย ฝากหนุ่มด้วย

นุ : ครับ เดี๋ยวผมจะติดต่อประสานกับนายจ้างให้อีกทีครับ

แม่มน : ขอบคุณค่ะ

รอดูสถานการณ์นี่รอดูอะไร?

นุ : รอดูว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงมั้ย เพราะตอนนี้แรงงานคนไทยขอทำใจก่อน

มีหลายฝ่ายแนะนำให้กลับมาก่อนเพราะสงครามน่าจะยืดเยื้อ?

นุ : ครับ เบื้องต้นเราติดต่อกับกรมแรงงานของฝ่ายต่างประเทศได้แล้วครับ

อยากขอบคุณเพจไหน?

นุ : เพจ Drama-addict ที่แจ้งหน่วยงานราชการของไทยครับ เพราะที่อิสราเอลวุ่นวายมาก และเป็นวันหยุดด้วย ติดต่อไม่ได้ครับ วันนั้นผมส่งรายชื่อให้เขาไป  

อยากบอกอะไรท่านรัฐมนตรีมั้ย?

นุ : ตอนนี้มีแรงงานไทยอยู่ติดกับกาซา เขาอยากอพยพด่วน เพราะสถานการณ์รุนแรง และสัญญาณอินเตอร์เน็ตใช้ไม่ได้ด้วยครับ

มีข่าวว่าเหตุที่ยิงเพราะมีเหตุเกิดความเข้าใจผิด คนที่ยิงไม่ใช่ฝั่งปาเลสไตน์จริงมั้ย?

นุ : น่าจะใช่ครับ ผมได้ถามผู้จัดการวันนั้นเลยว่าทำไมเขาถึงยิงเรา เขาบอกว่ารถกระบะที่เราใช้เหมือนฮามาส หน่วยคอมมานโดเลยตามยิง และมาดักข้างหน้า มีฮอล์บินตามมาวันนั้น

ที่ยิงคือฝั่งคอมมานโดอิสราเอล?

นุ : น่าจะใช่ครับ

หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมถึงถาม เพราะฝั่งซ้ายคืออิสราเอล ฝั่งขวาเป็นฮามาส ประเด็นคือกระบะสีขาวไปคล้ายรถฮามาส คือฝั่งปาเลสไตน์ อิสราเอลเข้าใจผิด เขาก็เลยยิง ที่ถามว่าเข้าซ้ายหรือขวา แล้วนั่งหันทางไหน จะได้รู้ว่าชายแดนเขาเป็นอิสราเอล ก็ยืนยันจากปากนุว่าเขาเชื่อว่าฝั่งอิสราเอลเข้าใจผิด แต่มีการช่วยเหลือกันหมดแล้ว ตอนนี้อยู่กับที่อย่าออกไปจุดไหน นั่งรถไป ขับรถไปเราไม่รู้เลยว่าเขาจะเข้าใจว่าเราเป็นใคร อยู่ฝั่งไหน เขาเห็นมันล่วงล้ำเข้าไปในจุดที่เขาไม่ให้เข้า เขาก็ต้องป้องกันไว้ก่อน ต้องยิงไว้ก่อน อันนี้อันตรายมากๆ แต่ตอนนี้หนุ่มปลอดภัย ที่มาที่ไปว่าทำไมถึงถามว่านั่งยังไง ตอนนี้หลายคนกังวลใจเรื่องแรงงานที่ยังไม่กลับ อย่างนุก็รอดูสถานการณ์ มองยังไง?

พิพัฒน์ : ผมคิดว่าเป็นความกังวลของเพื่อนๆ ที่ไปทำงานที่อิสราเอล ก็ขอให้ทุกท่านกลับสู่เมืองไทยก่อน ผมคิดว่าคนไทยทุกคนไม่ใช่เฉพาะตัวผม มีความเป็นห่วง กังวลเพื่อนๆ ที่ทำงานที่อิสราเอลทุกท่าน โดยเฉพาะนายกฯ รองนายกฯ คนไทยทุกคน พวกเราก็ขอส่งกำลังใจให้พวกท่าน แต่ยังไงก็แล้วแต่ ขอให้พวกเรา ที่อยู่ที่อิสราเอล กรุณาทำตามประกาศของอิสราเอล หนึ่งห้ามออกจากเคหะสถาน ถ้าได้ยินเสียงไซเรนก็ขอให้เข้าสู่หลุมหลบภัย ถ้าหากให้ทางราชการไทยเรานำเครื่องไปรับ ถ้าพวกท่านคิดว่าไม่ปลอดภัย ก็กลับมาประเทศไทยดีกว่า นี่คือความห่วงใย ไม่ใช่เฉพาะรัฐบาล แต่เป็นความห่วงใยของเพื่อนๆ คนไทยทุกคน อยากให้เข้าสู่อ้อมกอดของครอบครัว

แม่อยากบอกอะไร?

แม่มน : บางคนเขาก็เพิ่งไปได้ไม่ถึงปี เขาก็คงห่วงภาระทางบ้าน เขาถึงไม่อยากกลับ เขาบอกว่าจะขอสู้ต่อสักตั้ง แม่ถามว่าจะกลับมั้ยลูกมันรุนแรงแล้วนะ ไม่ใช่นุ เขาเพิ่งไปเมื่อเดือนม.ค. คงกังวลตรงนี้ เขาก็เลยยังไม่อยากกลับค่ะ

เชื่อว่ากลับได้ไปทำงานได้?

พิพัฒน์ : มั่นใจว่ากลับมาแล้วส่งกลับไปทำงานที่เดิมได้