นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงนโยบายรถไฟฟ้า20บาทของรัฐบาล ว่าคาดว่าจะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ในวันที่ 16 ตุลาคม 2566 โดยจะเป็นเสนอในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีม่วง และรถไฟฟ้าสายสีแดง อย่างไรก็ตามหากที่ประชุมครม.อนุมัติเรียบร้อยก็สามารถประกาศใช้ได้ทันที

"ผู้ต้องการใช้บริการข้ามจากม่วงไปแดงหรือแดงไปม่วงในราคา 20 บาทตลอดสายต้องรอไปก่อน คาดเดือนพย.นี้จะสามารถข้ามเส้นทางระหว่างม่วงกับแดงได้ เพราะต้องรอระยะเวลาติดตั้งระบบบริการข้ามเส้นทาง2โครงการ" 

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง(ขร.) กล่าวว่า ได้มีการหารือความคืบหน้าการพัฒนาระบบการจัดเก็บค่าโดยสารให้รองรับตามนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ของรถไฟชานเมืองสายสีแดง และรถไฟฟ้าสายสีม่วง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้กับประชาชน สนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้บริการสาธารณะ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เท่าเทียมกันในการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ

อย่างไรก็ตามซึ่งปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ได้ดำเนินงานนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายของรถไฟชานเมืองสายสีแดง โดยผู้โดยสารสามารถเดินทางในระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงด้วยค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย (ตั้งแต่สถานีตลิ่งชัน – สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – สถานีรังสิต) ต่อ 1 เที่ยวการเดินทาง สำหรับผู้โดยสารบุคคลทั่วไปที่เดินทางระยะสั้นที่มีมูลค่าเดินทางไม่ถึง 20 บาท ให้จัดเก็บตามจริงในอัตราเดิม และในส่วนของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)ได้ดำเนินงานตามนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสารของรถไฟฟ้าสายสีม่วง โดยกำหนดอัตราค่าโดยสารสายสีม่วง จากปัจจุบัน 14 – 42 บาท เป็นสูงสุดไม่เกิน 20 บาท

ส่วนกรณีที่อัตราค่าโดยสารปัจจุบันต่ำกว่า 20 บาท เช่น 14 บาท หรือ 17 บาท ให้จัดเก็บตามจริงในอัตราเดิม โดยกระทรวงคมนาคมมีแผนจะดำเนินการนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ของรถไฟชานเมือง สายสีแดง และสายสีม่วง ให้สามารถเปิดใช้บริการได้จริงในวันที่ 1 ธันวาคม 2566 และในด้านการเตรียมความพร้อมระบบการจัดเก็บค่าโดยสาร บมจ. ธนาคารกรุงไทย จะพัฒนาระบบการจัดเก็บค่าโดยสารผ่านมาตรฐาน EMV Contactless ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลเพื่อรองรับการเดินทางด้วยรถไฟชานเมืองสายสีแดง และรถไฟฟ้าสายสีม่วง ให้พร้อมสำหรับการดำเนินงานตามนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย